Search

“วิโรจน์”จี้นายกฯ-พีระพันธุ์แจงเหตุปล่อยให้ กฟผ.ลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้า 3 เขื่อนแม่น้ำโขงทั้งๆที่ไฟฟ้าสำรองมีอื้อ-นายกเล็กพื้นที่ได้รับผลกระทบมึนชาวบ้านไม่รู้ชะตากรรม-หน่วยงานรัฐไม่เคยให้ข้อมูล

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2566 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ถึงการแสดงความเห็นเกี่ยวกับการลงนามซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)และบริษัทผู้พัฒนาโครงการสร้างเขื่อนปากแบง ซึ่งกั้นแม่น้ำโขงที่เมืองปากแบง ประเทศลาว อยู่ห่างจากชายแดนไทยด้าน อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย กว่า 90 กม. ว่าทุกวันนี้ประชาชนทราบดีอยู่แล้วว่า ปัญหาค่าไฟฟ้าแพง ปัญหาสำคัญมาจากการที่เรามีโรงไฟฟ้าหรือมีสัญญาซื้อไฟฟ้าที่มากเกินความจำเป็น ประเทศไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรองมากกว่า 50% ของปริมาณไฟที่ต้องการใช้ ซึ่งในประเทศอื่นๆอาจมีกำลังสำรองเพียงร้อยละ 15% แม้จะมีข้อกล่าวอ้างว่าหลายประเทศในยุโรปก็มีการสำรองไฟมากกว่า 50% แต่ในประเทศส่วนใหญ่นั้นมักเป็นพลังงานหมุนเวียนจากแสงอาทิตย์หรือลม ไม่ได้มาจากโรงไฟฟ้าฟอสซิล แต่ของประเทศไทยปริมาณไฟสำรองมักมาจากพลังงานฟอสซิล

นายวิโรจน์กล่าวว่า ในเมื่อเรามีไฟฟ้าสำรองมากขนาดนี้ มีความจำเป็นอะไรที่ต้องซื้อไฟเพิ่มจากเขื่อนปากแบงที่ตั้งอยู่ในประเทศลาว แต่มีผู้พัฒนาโครงการที่เข้าใจว่าเป็นการร่วมทุนจากบริษัทต่างชาติและนายทุนไทยด้วย

“ผมคิดว่ารัฐบาลต้องตอบแล้วว่า ปัญหาค่าไฟแพงมาจากไฟมันเยอะใช่หรือไม่ เรามีปริมาณไฟสำรองเยอะแล้ว จะไปซื้อไฟเพิ่มทำไม อีกทั้งเราเพิ่งทำสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนหลวงพระบางเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 65 ซื้อจากเขื่อนปากลายเมื่อเดือนมีนาคม ปี 66 ซึ่งเข้าใจว่าทั้ง 2 เขื่อนได้ทำสัญญาระยะยาวมากๆด้วย คำถามคือมีความจำเป็นอะไรต้องลงนามในสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนปากแบงในวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา ตอนนี้ยังรอคำตอบจากนายกรัฐมนตรี ว่ามีความจำเป็นอะไร” นายวิโรจน์ กล่าว

นอกจากนี้นายวิโรจน์ ยังกล่าวถึง นโยบายปัจจุบันของรัฐบาลที่มีการปรับลดค่าไฟเหลือหน่วยละ 3.99 บาท เป็นเพียงนโยบายระยะสั้น ชั่วคราว โดยใช้เงินภาษีหรืองบประมาณในการอุดหนุน แต่ในระยะยาวตนคาดว่าทุกคนต้องการเห็นแผนทยอยปลดระวางโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลและอาจใช้การสำรองไฟด้วยการเปิดเสรีให้ประชาชนมีความมั่นคงที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์โดยตัวเอง ด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาล ลดการผูกขาดลดอำนาจของนายทุนพลังงานลง

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า การสร้างเขื่อนสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ การสร้างเขื่อนปากแบงมีข้อถกเถียงเยอะ อาจทำให้เกิดน้ำเท้อ หรือน้ำล้นบริเวณเหนือเขื่อน กระทบต่อสิ่งมีชีวิต รูปแบบการใช้ชีวิต การทำมาหากินของประชาชน มีความชัดเจนในเรื่องนี้หรือยัง
เรื่องผลกระทบต่อเขตแดนก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะเมื่อระดับน้ำเพิ่มขึ้นมา จะส่งผลกระทบอย่างไร เพราะเข้าใจว่าอำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย อยู่ห่างจากจุดก่อสร้างเขื่อนปากแบงเพียง 97 กิโลเมตร ฝ่ายความมั่นคงมีคำตอบหรือยัง ข้อกังวลเหล่านี้ล้วนถูกพูดถึงในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง 4 ประเทศอยู่แล้ว และยังไม่มีความชัดเจน จึงไม่เข้าใจว่ารัฐบาลจะเร่งทำสัญญาซื้อไฟจากเขื่อนปากแบงเพื่ออะไร

นายวิโรจน์ กล่าวว่า ตนคิดว่ารัฐบาลต้องตอบว่าการที่มีทุนไทยเข้าไปร่วมทุนในการพัฒนาเขื่อนปากแบง ส่งผลทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อไฟจากเขื่อนปากแบงหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อสงสัยหรือสมมุติฐานที่ประชาชนสามารถตั้งคำถามได้ ส่วนจริงเท็จประการใด ต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายด้วย หากไม่อยากให้ประชาชนจินตนาการในเชิงลบ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต้องออกมาชี้แจงให้ประชาชนทราบ เพราะเรามีไฟสำรองเยอะอยู่แล้วจะซื้อไฟมาเพิ่มอีกทำไม

“ผมไม่ได้โทษคุณเศรษฐา ที่เพิ่งมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้เพียงสัปดาห์เดียว แต่ท่านต้องออกมาชี้แจง และการอนุมัติซื้อไฟจากทั้ง 3 เขื่อนบนแม่น้ำโขง เมื่อมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่แล้ว พบว่ามติ ครม. เดิมมีเรื่องที่ต้องทบทวน ก็สามารถสั่งชะลอและศึกษาเพิ่ม หรือมีคำสั่งยกเลิก มติ ครม. เดิมได้ ผมเห็นด้วยกับมาตรการระยะสั้นของรัฐบาล ที่ไปอุดหนุนค่าไฟฟ้าลดลงมาเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย แต่หากเรายังไม่แก้ไขปัญหาการสำรองไฟที่มากเกินความจำเป็น” นายวิโรจน์ กล่าว

ส่วนประเด็นเรื่องความมั่นคงที่หลายฝ่ายกังวลเพราะแม่น้ำโขงเป็นแนวเขตแดนระหว่างไทยและลาวด้วย การมีเขื่อนอาจทำให้สูญเสียแนวพรมแดนหรือไม่ นายวิโรจน์ ระบุว่า เรื่องนี้ต้องพูดอย่างระมัดระวัง ความขัดแย้งจะไม่เกิดขึ้น หากเรื่องนี้มีการหารือและหาข้อสรุประหว่าง 4 ประเทศหรืออย่างน้อย 2 ประเทศ ไทย-ลาว ถ้าเรามีข้อตกลงกันก่อนว่าหากมีเขื่อนแล้วร่องน้ำเปลี่ยน จะมีการยึดหลักเขตแดนอย่างไร เป็นกระบวนการของกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานความมั่นคง ที่ต้องคิดให้รอบคอบรอบด้าน แต่เรายังไม่พบรายละเอียดว่ามีการหารือก่อนการลงนามสัญญาซื้อไฟฟ้า หรือได้ตกลงกับประเทศเพื่อนบ้านแล้วหรือไม่ อนาคตจะได้ไม่มีปัญหาระหว่างกัน เพราะทุกครั้งที่มีข้อพิพาทเรื่องพรมแดน มักมีผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อย่างมากโดยเสมอ

ด้านนายสมพงษ์ เทพไหว นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลม่วงยาย อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย กล่าวว่า ตอนนี้ชาวบ้านในพื้นที่ไม่รู้เลยว่าหากสร้างเขื่อนปากแบงน้ำจะท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำโขง และแม่น้ำงาวถึงระดับใด เราไม่สามารถหาข้อมูลได้จากหน่วยงานไหนเลย

“ตอนนี้ชาวบ้านก็ทำมาหากินไป ปลูกต้นไม้ทั้งล้มลุกและยืนต้น โดยไม่รู้ชะตากรรม ถึงเวลาถ้าน้ำท่วมก็เหมือนการที่ก๊อกน้ำที่เคยเปิดดื่มกินมาตลอดชีวิต ถูกปิดไปเลยไม่มีซักหยด แล้วคนก็จะงงว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วจะทำอย่างไรต่อไป งงไปหมด” นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลหล่ายงาวกล่าว

นายสมพงษ์ กล่าวว่า ในอำเภอเวียงแก่นชาวบ้านและท้องที่ท้องถิ่นเป็นห่วงเรื่องนี้มากพยายามติดตามข้อมูล เพราะถ้าเกิดขึ้นแล้วจะดูแลกันอย่างไร เสียหายแค่ไหนจะวางแผนการเพาะปลูกอย่างไร เพราะพื้นที่ที่ลุ่มต่ำและเป็นพื้นที่เศรษฐกิจกว่าพันไร่หากน้ำท่วมหลายชีวิตหลายครอบครัวไม่รู้จะเป็นอย่างไร เพราะลงทุนกันไปไม่น้อย

On Key

Related Posts

“สารหนู”น้ำกกพ่นพิษหมู่บ้านท่องเที่ยว“กะเหรี่ยงรวมมิตร”ซบหนักยอดหาย 80% ต้องปล่อยช้างหากินในป่า-เผยชาวบ้านจำนวนมากไม่รู้ข้อมูลยังคงใช้น้ำปนเปื้อนในวิถีชีวิต-ประมงจังหวัดส่งตัวอย่างปลาตรวจ คาดสัปดาห์หน้ารู้ผล

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2568 นายดา ควานช้างปางช้างบ้Read More →

7 ชุมชมลุ่มน้ำกกจับมืออุทกวิทยา-ปภ.-เครือข่ายค.อ.ก. “คิกออฟ”ระบบเตือนภัยน้ำท่วม-พระอาจารย์มหานิคมเผยป่าต้นน้ำถูกทำลาย-ทำเหมืองทอง เป็นเหตุน้ำเชี่ยวโคลนถล่ม แนะรัฐเร่งเจรจา

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลแRead More →

สส.ปชน.เชียงรายจี้รัฐบาลสร้างระบบเตือนภัยแม่น้ำกก-แนะเร่งถอดบทเรียน 6 เดือนภัยพิบัติ คนขับเรือลำบากหลังนักท่องเที่ยวลดฮวบ ผวจ.เชียงรายเตรียมตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนแก้ปัญหาคุณภาพน้ำข้ามแดน

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 นายชิตวัน ชินอนุวัฒน์ สRead More →