Search

นักวิชาการพลังงานชี้รัฐเอื้อประโยชน์กลุ่มทุน ปชช. รับภาระค่าไฟแพง แนะปฏิรูประบบแก้ผูกขาดไฟฟ้า-กระจายความมั่นคงไฟฟ้าสู่ครัวเรือน

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 ที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “ปฏิรูประบบผูกขาดไฟฟ้าสู่มือประชาชน เพื่ออนาคตที่สะอาดและยั่งยืน” โดยนายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ จากเครือข่ายพลังงานและนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEENet) กล่าวว่า สังคมกำลังตื่นตัวกับประเด็นไฟฟ้าในประเด็นต่างๆ ที่กำลังผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงอยู่นั้น ยังคงต้องดำเนินการต่อไป และให้สังคมมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น แต่สถานการณ์และบริบททั้งทางสากลและภายในประเทศที่กำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าหลายประการกำลังเกิดขึ้น ในอนาคตภายใต้สถานการณ์และบริบทที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะศักยภาพและโอกาสที่จะเป็นด้านบวกต่อประชาชน

นายวิฑูรย์ กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือรัฐบาลไทยไปร่วมลงนามในสนธิสัญญา COP27 โดยมีข้อผูกพันเกี่ยวกับภาวะโลกร้อน ซึ่งในปี 2050 มีการลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นให้เป็นกลาง (CARBON NEURALITY) และในปี 2065 มีเป้าหมายที่จะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ซึ่งเป็นข้อผูกพันที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการให้เกิดขึ้น และยังเป็นกระแสทั่วโลก โดยไทยเตรียมทำแผนชื่อ National Energy Reform คือการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ให้มีการบังคับในทางรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย

“แผนที่รัฐวางเอาไว้จะมีการเพิ่มพลังงานหมุนเวียนให้เป็น 50% ในปี 2040 มีเป้าหมายเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน Energy Efficiency โดยมีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ถ้าทำตามแผนที่วางไว้ สัดส่วนพลังงานหมุนเวียนจะเพิ่มขึ้นมหาศาล และพลังงานฟอสซิลจะลดลง ถ้าจะเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลไปเป็นพลังงานหมุนเวียนต่างๆ แต่การเปลี่ยนผ่านตัวมันเองกลับไม่เป็นกลาง เพราะเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาล คสช. มาสู่รัฐบาลเพื่อไทยแต่ยังมีนายทุนสนับสนุนและสามารถกำหนดบุคคลที่มาเป็นรัฐมนตรีพลังงานได้ ซึ่งได้สะท้อนถึงความไม่เป็นกลางและไม่ได้เปลี่ยนแปลง ประเด็นการผูกขาดไฟฟ้า สัญญา PDP ถ้าสังคมเอาจริงคงจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้” นายวิฑูรย์กล่าว

นางชื่นชม สง่าราศรี กรีเซน นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน กล่าวว่า ปัญหาและความท้าทายหลักของประเทศไทยในปัจจุบัน กรณีค่าพลังงานที่มีราคาแพงมากจนกลายเป็นข้อถกเถียง เมื่อเข้าสู่รัฐบาลเพื่อไทยไม่นาน มีมติครม. ออกมา 2 ครั้ง เพื่อลดค่าไฟฟ้า ต้องติดตามว่าจะมีผลต่อโครงสร้างอย่างไรในระยะยาว ความท้าทายอีกด้านคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้ไปแถลงต่อองค์การสหประชาชาติ (UN) ว่าจะดำเนินงานเรื่องพลังงานสะอาดเพื่อรองรับเรื่อง Climate Change แต่ปรากฏว่านโยบายของประเทศไทยจัดอยู่ลำดับที่แย่ที่สุด ถ้าปล่อยไว้อย่างนี้ต่อไปประเทศไทยจะไม่สามารถเข้าใกล้เป้าหมายที่วางไว้ได้ ขณะที่ทางยุโรปและอเมริกากำลังนำภาษีคาร์บอนเข้ามาใช้ ซึ่งมีผลมากถ้าไทยไม่สามารถปรับตัวได้เร็วให้มีพลังงานที่สะอาดเราจะต้องจ่ายภาษีคาร์บอนที่มีราคาแพง

“หากคลี่ปัญหาดูตอนนี้รัฐบาลแตะแค่ส่วนบนภูเขาน้ำแข็ง คือการลดค่าไฟแพง จริงๆ มีปัญหาเชิงโครงสร้างรองรับมากมายหลายชั้น 1.นโยบายของการวางแผนและกำกับดูแล (Policy, Planning & Regulation) ซึ่งผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก สัญญาซื้อขายไฟฟ้าไม่เป็นธรรม ราคาที่ปิโตรเคมีที่ทำกำไรกลับได้ราคาถูก แต่ผู้ใช้ไฟฟ้าเจ้าของตัวจริงคือประชาชนปรากฏว่าต้องจ่ายค่าไฟที่ราคาแพง ที่มาของไฟที่ราคาแพงคือเราไปเซ็นสัญญาเยอะเกินไป ซึ่งเราไม่ได้มีความต้องไฟฟ้าการรองรับ แต่ทำไมรัฐบาลถึงเซ็นสัญญาเพิ่ม โครงสร้างอำนาจ (Power Structure) ซึ่งไม่มีธรรมาภิบาลทำให้มีผลประโยชน์ทับซ้อนไม่เป็นประชาธิปไตย เราเห็นผลได้อย่างชัดเจนว่ามีการลงทุนเกินความจำเป็น นอกจากนั้นก็ยังมีคนตั้งข้อสังเกตว่าไม่ใช่อำนาจรัฐที่ผูกขาดแต่ยังมีทุนเบื้องหลังที่มีอำนาจเหนือรัฐในการกำหนดนโยบายทำให้แผน PDP ที่ควรจะรับใช้ประชาชนกลับมารับใช้กลุ่มทุนพลังงาน” นักวิชาการพลังงาน กล่าว

นางชื่นชม กล่าวอีกว่ามีโครงการที่ไม่ระบุชื่อโผล่ออกมาเซ็นสัญญา PPA ไปแล้วถึง 3 โครงการ คือ เขื่อนปากลาย เขื่อนปากแบง เขื่อนหลวงพระบาง ที่บริษัทพลังงาน Gulf มีส่วนด้วยทั้งสิ้น แต่ไม่ได้มีความต้องการเพิ่มเติมรองรับ สิ่งที่ควรจะทำคือพยายามที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานที่สะอาดและยั่งยืน (Decarbonize and Decentralize) โดยกระจายให้หลุดผลการผูกขาดอำนาจให้ได้มีรูปแบบการจัดการที่หลากหลายในการจัดการ และสุดท้ายโครงสร้างที่เรามีนั้นรวบรัดตัดตอนซึ่งจะต้องคืนอำนาจสู่ประชาชน (Demonopolize and Diversify) แผน PDP จะต้องมีการปรับปรุง เปิดให้มีการแข่งขันเพิ่ม คือเครือข่ายระบบพลังงาน และระบบส่ง ระบบจำหน่ายจะต้องทำงานเพื่อรับใช้ประเทศรับใช้ประชาชนจริง ๆ

“ต้นทุนการผลิตหน้าโรงไฟฟ้าอยู่ที่ 3.77 บาทต่อหน่วย ตอนนี้ราคาโซล่าเซลล์ขนาดใหญ่ 1 บาทต่อกิโลวัตต์ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราเปิดให้มีผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย ผู้ที่มีกำลังทรัพย์ก็จะรีบไปทำระบบโซล่าเซลล์ เพื่อหนีจากระบบที่มีต้นทุนราคาแพง ทั้งค่าต้นทุนบางส่วนแฝง ค่าหนี้ กฟผ. ที่เกิดจากการลดค่าไฟ และจะเกิดการถ่ายโอนภาระส่วนกลางนี้มากองที่คนไม่มีทรัพย์มากพอที่จะหนีได้ ดังนั้นอยากให้มีการแข่งขันแต่ต้องมีการดูแลภาระส่วนกลางที่เป็นส่วนรับผิดชอบของทุก คน” นางชื่นชมกล่าว

ดร.โสภิตสุดา ทองโสภิต ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านพลังงานในรัฐแคลิฟอร์เนีย สิ่งที่น่าสนใจคือการตั้งเป้าหมายในการเปลี่ยนผ่านพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดภายใต้ 20 ปี ณ วันนี้ได้บรรลุเป้าไปแล้วถึง 60 % โดย 100% ของพลังงานสะอาด และพลังงานหมุนเวียนส่วนใหญ่จะมาจากโซล่าเซลล์ พลังงานบนบกและชายฝั่ง

ดร.โสภิตสุดา กล่าวว่าหลักสำคัญในการพิจารณาความแตกต่างระหว่าง Net Metering and Net Billing คือไฟฟ้าโซลาร์ส่วนที่ผลิตเองใช้เอง ไฟฟ้าส่วนที่ใช้เองมีมูลค่าเท่ากับค่าไฟฟ้าขายปลีกตามประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า และไฟฟ้าโซลาร์ส่วนเกินก็ส่งเข้าระบบ ราคาจะอยู่ที่ภาครัฐกำหนด สิ่งที่น่าเรียนรู้จากนโยบายการส่งเสริมโซลาร์รูฟในแคลิฟอร์เนีย คือ 1.นโยบายห้ามเปิด ๆ ปิด ๆ หรือจำกัดโควตา 2.พิจารณาผลกระทบต่อทุกภาคส่วน 3.พัฒนาการของการสนับสนุนตามสถานการณ์ตลาดระบบไฟฟ้า 4.โปรแกรมเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่สามารถลงทุนนระบบโซลาร์รูฟได้ ในมุมมองของการไฟฟ้าเราจะเห็นความตื่นเต้นของฝ่ายผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

“ในต่างประเทศพยายามจะเปลี่ยนสมการให้กำไรที่เกิดขึ้นกับการไฟฟ้าไปสอดคล้องกับนโยบายการลดคาร์บอนมากขึ้น รวมถึงการกำหนดนโยบายจากภาครัฐต่อไป ใช้วิธีเพิ่มโซลาร์รูฟจากแบตเตอรี่มากขึ้นเพื่อให้คนพึ่งตัวเองได้ ให้การไฟฟ้าเข้ามามีส่วนร่วมที่จะผลักดันให้พลังงานโซล่าเซลล์เกิดขึ้นอย่างจริงจัง และเกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่องให้ปลอดภัย เราไม่ควรมองข้ามการลดการใช้พลังงานของประชาชน และการใช้โซลาร์รูฟเป็นทรัพยากรที่ถูกที่สุด” ดร.โสภิตสุดา กล่าว

On Key

Related Posts

ชาวบางกลอยกลุ่มใหญ่ยืนยันเจตนารมณ์กลับดินแดนบรรพชน“ใจแผ่นดิน” หลายภาคส่วนร่วมกันจัดงานรำลึก 11 ปี ‘บิลลี่’ ถูกบังคับสูญหาย-หวังความยุติธรรมปรากฎ “วสันต์ สิทธิเขตต์”แต่งเพลงให้กำลังใจชุมชนถูกกดขี่

ผู้สื่อข่ายรายงานว่า ระหว่างวันที่ 16-17 เมษายน 25Read More →