Search

ร้องศาลฟิลิปปินส์ดำเนินคดี “มินอ่องหล่าย” ข้อหาอาชญากรรมสงครามต่อพลเมือง

สำนักข่าว Myanmar Now รายงานเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 ว่า สมาชิกของชุมชนผู้ลี้ภัยชาวชินในประเทศพม่าจำนวน 5 คน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์กรนักเคลื่อนไหว Myanmar Accountability Project (MAP) และตัวแทนทางกฎหมายจากทนายความของฟิลิปปินส์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลในกรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ ให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพพม่า 10 ราย ซึ่งรวมถึงพลเอกมินอ่องหล่าย ในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามต่อพลเมืองในประเทศ
ในข้อร้องเรียนต่อทางการฟิลิปปินส์นั้นตั้งข้อกล่าวหาว่า กองทัพพม่าได้สังหารประชาชน ซึ่งรวมถึงญาติพี่น้องของตัวเอง ทำลายศพ เผาทำลายโบสถ์และบ้านเรือนของชาวบ้าน และกีดกันความช่วยเหลือต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความขัดแย้งและภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยผู้ที่ออกมายื่นร้องต่อศาลฟิลิปปินส์ในครั้งนี้เป็นประชาชนชาวชิน 5 คน ที่ต้องลี้ภัยในต่างประเทศภายหลังการโจมตีของกองพม่าที่เมืองทัตลาง รัฐชิน ต้องหลบหนีในปี 2564

“ฉันจะไม่ยอมรับว่าการตายของหลานชายของฉันนั้นไร้ประโยชน์ เขาเสียชีวิตขณะพยายามช่วยเหลือพี่น้องประชาชนจากไฟที่โหมกระหน่ำ ฉันขอวิงวอนเจ้าหน้าที่ในประเทศฟิลิปปินส์ให้ความยุติธรรมในสิ่งที่เราอธิษฐานขอ” หนึ่งในผู้ร้องเรียนคนหนึ่ง ซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ เนื่องจากความปลอดภัย กล่าว

ทั้งนี้มีข้อมูลว่าชาวชินรวมทั้งสิ้น 528 คน ถูกสังหารโดยกองทัพพม่า นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ในจำนวนนี้ 217 คน เป็นพลเมือง ที่เหลือเป็นนักรบที่ออกมาต่อต้านกองทัพพม่า


ด้านซาไล ลิง รองผู้อำนวยการองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนชาวชิน (Chin Human Rights Organisation) เป็นอีก 1 ใน 5 คนชาวชินที่ร้องต่อศาลในฟิลิปปินส์ครั้งนี้กล่าวกับสื่อพม่าว่า ชีวิตของชาวชินในเมืองทัตลาง ได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจากการกระทำที่โหดร้ายของกองทัพพม่า ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้นถาวรและไม่สามารถทดแทนได้

“การทำลายล้างทั้งเมืองเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวดที่ต้องเฝ้าดู การสูญเสียคนที่เรารัก ชุมชน โบสถ์ของเรา และรากฐานทางประวัติศาสตร์และความทรงจำตลอดชีวิตของเรานั้นไม่อาจอธิบายได้ เรากำลังขอความยุติธรรม เพราะเป็นเวลานานเกินไปแล้วที่กองทัพพม่ายังคงได้รับอนุญาตให้ก่ออาชญากรรมสงครามอันโหดร้าย โดยไม่ต้องรับโทษใดๆอย่างสิ้นเชิง” เขากล่าว


ขณะที่ Chris Gunness ผู้อำนวยการจากองค์กร Myanmar Accountability Project (MAP) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่สำคัญมากหากชาติอื่นๆในอาเซียนจะเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบกองทัพพม่าด้วยการสนับสนุนขององค์กร Myanmar Accountability Project (MAP) ในประเทศฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียจะทำให้อาเซียนขึ้นมาเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาในพม่า นอกจากนี้ทาง องค์กร Myanmar Accountability Project (MAP) ยังได้เรียกร้องไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในอินโดนีเซียให้สืบสวนกรณีที่บริษัทของรัฐได้สนับสนุนอาวุธให้แก่กองทัพพม่า


ทางด้าน Romel Bagares และ Gilbert Andres ซึ่งเป็นทนายความที่เป็นตัวแทนของผู้ลี้ภัยชาวชิน โต้แย้งว่ากฎหมายของฟิลิปปินส์ที่ประกาศใช้ในปี 2552 อนุญาตให้ทางการดำเนินคดีกับชาวต่างชาติในข้อหาก่ออาชญากรรมนอกประเทศภายใต้หลักการทางกฎหมายของเขตอำนาจศาลสากล

ตามหลักการนี้ รัฐมีสิทธิที่จะดำเนินคดีกับอาชญากรรมร้ายแรงบางประเภท รวมถึงอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การทรมาน และอาชญากรรมสงคราม โดยไม่คำนึงว่าอาชญากรรมนั้นเกิดขึ้นที่ไหน หรือเชื้อชาติของผู้กระทำความผิดหรือเหยื่อก็ตาม หากการสอบสวนตามที่ร้องขอได้ดำเนินการในกรุงมะนิลา รัฐบาลฟิลิปปินส์จะเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ใช้เขตอำนาจศาลสากลในการสืบสวนและดำเนินคดีกับอาชญากรรมดังกล่าว

On Key

Related Posts

ผวจ.เชียงรายยังไม่รู้เรื่องน้ำกกขุ่นข้น-เตรียมสั่งการทสจ.ตรวจคุณภาพน้ำ คนขับเรือเผยน้ำขุ่นต่อเนื่องตั้งแต่อุทกภัยใหญ่ 6 เดือนก่อน ผู้เชี่ยวชาญชี้ดินโคลนจากเหมืองทองเสี่ยงสารปรอทปนเปื้อน ระบุการตรวจสอบต้องทำให้ถูกวิธี เก็บตัวอย่างตะกอนดิน-ปลานักล่า

เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2568 นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่Read More →

กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำกก-ตรวจสารไซยาไนด์เหมืองทอง คาดรู้ผลภายใน 1 เดือน นักวิชาการเผยทหารว้าจับมือจีนแผ่อิทธิพลถึงชายแดนไทยใช้กลยุทธ์คุมต้นน้ำ-สร้างเหมืองกระทบไทย

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายชัยวัฒน์ ปันสิน ผู้อRead More →

ผู้ตรวจการแผ่นดินหวั่นโครงการสร้างเขื่อนใหญ่กั้นโขงส่งผลกระทบเขตแดนไทย แนะสร้างกลไกหารือร่วมกับภาคประชาชน กรมสนธิสัญญาอ้างยังตรวจสอบไม่แล้วเสร็จ ภาคประชาชนจวก สนทช.งุบงิบข้อมูลจัดประชุมกรณีเขื่อนสานะคามแล้ว 4 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมRead More →

หวั่นท่องเที่ยวพินาศหลังน้ำกกกลายเป็นสีขุ่นข้นจากเหมืองทองตอนบนในพม่า นายกฯอบต.ท่าตอนเตรียมทำหนังสือจี้รัฐบาลเร่งแก้ไข-ชาวเชียงรายเริ่มไม่กล้าเล่นน้ำ เผยปลาหายไป 70% ทสจ.ส่งทีมตรวจสอบคุณภาพน้ำ

———เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 พ.Read More →