โดย จุฑามาศ ราชประสิทธิ์
หลวงพระบางเมืองมรดกโลกเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของภูมิภาคนี้ จากการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกขององค์การยูเนสโกเมื่อพ.ศ. 2538 ประกอบกับสภาพของเมืองที่มีศรัทธาของพระพุทธศาสนาอย่างเหนียวแน่น ทำให้ศาสนาและการท่องเที่ยวเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เสริมส่งซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะในเทศกาลที่สำคัญต่างๆประจำปีและที่งดงามที่สุดเทศกาลหนึ่งคือเทศกาลไหลเรือไฟในช่วงออกพรรษาของทุกปี
ในการไหลเรือไฟนั้น มีทั้งไหลเรือไฟน้ำและไหลเรือไฟโคก อันเป็นประเพณีที่ยึดถือปฏิบัติมาอย่างยาวนานหลายร้อยปีของชาวเมืองหลวงพระบาง โดยผู้ที่จะสร้างเรือไฟโคกและเรือไฟน้ำนั้น มักเป็นพระสงฆ์ผู้ซึ่งมีวัตรปฏิบัติงดงามในพระพุทธศาสนาและอยู่จำวัดได้ครบพรรษา ได้ถ่ายทอดการทำประทีปโคมไฟโดยทำจากไม้ไผ่และกระดาษบางใสประดับในบริเวณวัดอย่างงดงามตลอดในช่วงเทศกาลออกพรรษาซึ่งมักจะใช้เวลา 3-4 คืน และมีการจัดทำเรือประทีปโคมไฟเป็นรูปแบบต่างๆตามคติความเชื่อในศาสนาคือนกกิงกะลาบ้าง มังกรบ้าง พญานาคบ้างและนำมาตั้งขบวนแห่ในวันพิเศษคือแรมหนึ่งค่ำเดือน 11 ซึ่งถือเป็นวันออกพรรษาโดยสมบูรณ์
ในขบวนแห่นั้นมีการนำขบวนโดยพระสงฆ์และสามเณร สมาชิกในชุมชน นักเรียน ข้าราชการ มีการประกาศให้ความรู้ถึงความเป็นมา ให้ผู้ร่วมในขบวน นักท่องเที่ยว ได้ตระหนักถึงบุญกรรมและกุศลที่ได้เข้าร่วมในเทศกาลนี้
ฝนที่ตกปรอยๆ ทุกค่ำคืนทำให้ประทีปโคมไฟที่เป็นกระดาษฉีกขาดไปบ้าง แต่มิอาจทำลายศรัทธาความเชื่อในพระพุทธศาสนา การสืบทอด การดำรงอยู่ให้เสื่อมคลายลงได้ และนำมาซึ่งนักท่องเที่ยวจากหลากหลายประเทศให้มาเยี่ยมเยือนเมืองมรดกโลกแห่งนี้อย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต
พวกเขามาเพื่อชื่นชมในความศรัทธาของชาวเมืองมรดกโลกที่ตระหนักเสมอว่าตนเองก็เป็นมรดกโลก และเป็นส่วนสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เมืองมรดกโลกหมุนไปข้างหน้าเช่นเดียวกับกงล้อแห่งพระธรรมที่หมุนผ่านข้ามกาลเวลามาแล้วกว่า 2500 ปี
กระนั้นเมืองมรดกโลกหลวงพระบางก็ยังเผชิญกับสถานการณ์การขาดแคลนแรงงาน คนหนุ่มสาวในเมืองส่วนมากเดินทางเข้าไปทำงานที่สามเหลี่ยม (เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว) ลักษณะงานที่ทำคือการบริการในแหล่งคาสิโน งานในสวน งานร้านอาหาร
ทั้งนี้รัฐบาลลาวได้ถือโอกาสประกาศนโยบาย Visit Laos Year 2024 ในงานนี้เพื่อให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวอีกครั้งและหลายๆ ครั้งในปีหน้า โดยที่พักร้านอาหารร้านกาแฟในช่วงเทศกาลออกพรรษาในปีนี้เต็มทุกที่ โดยส่วนตัวมองว่าการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง คือการอยู่ท่ามกลางพหุวัฒนธรรมที่จริงแท้ ซึ่งประชากรที่มีสำมะโนอยู่ในเขตเมืองมรดกโลก ประมาณ 55,000 คน (สำมะโนประชากร พ.ศ. 2561 ข้อมูลจากวิกิพีเดีย) และใน พศ 2566 รัฐบาลประมาณว่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาที่เมืองมรดกโลกหลวงพระบาง 1.5 ล้านคน (ข้อมูลจากอาเซียน 4.0 ออนไลน์ TNN 26 มีนาคม 2566)