เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 สำนักข่าว Chindwin และสำนักข่าว Irrawaddy รายงานว่า กองพันที่ 143 ในเมืองกุ๋นหลง ทางเหนือของรัฐฉาน ซึ่งประกอบด้วยทหารพม่า 41 นาย มีทั้งผู้บัญชาการกองพันรวมอยู่ด้วย ได้ยอมวางอาวุธและส่งมอบฐานทัพ ให้กับกลุ่มพันธมิตรรัฐฉานเหนือ (The Brotherhood Alliance ) ประกอบด้วย กองทัพโกก้าง (Myanmar National Democratic Alliance Army-MNDAA) กองทัพตะอางหรือปะหล่อง (Ta’ang National Liberation Army-TNLA) และกองทัพอาระกัน (Arakan Army-AA) โดยทหารโกก้างอ้างว่า ได้ปล่อยตัวทหารพม่าทั้งหมดกลับไปหาครอบครัว
รายงานข่าวระบุว่า การวางอาวุธของทหารทั้ง 41 นาย เป็นการขัดคำสั่งของนายทหารระดับสูงในเนปีดอว์ ขณะที่ทหารโกก้างอ้างว่าทหารพม่าที่แปรพักตร์และยอมวางอาวุธได้รับมอบเงินเพื่อเป็นค่าเดินทางกลับบ้านไปหาครอบครัว หลังจากทั้ง 3 กลุ่มชาติพันธุ์ ได้เปิดฉากปฏิบัติการต่อต้านกองทัพพม่าในชื่อ Operation 1027 ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา และกลุ่มสามารถยึดฐานทัพทหารพม่าทางเหนือได้ 67 แห่ง เช่นเดียวกับทหารปะหล่อง TNLA ระบุเช่นกันว่า สามารถยึดถนนสายสำคัญเชื่อมไปยังประเทศจีนได้แล้ว ขณะนี้สงครามต่อต้านกองทัพพม่ายังขยายวงกว้างไปในพื้นที่อื่นๆไม่เฉพาะแต่ในภาคเหนือของรัฐฉานแต่กินพื้นที่ไปถึงเขตมัณฑะเลย์ ทางเหนือของเขตสะกาย และในรัฐคะฉิ่น
นักวิเคราะห์การเมืองในพม่ามองว่า ทหารพม่ากำลังสู้รบกับกลุ่มต่อต้านทั่วประเทศ ทำให้ไม่เหลือกองกำลังไว้ในรัฐฉาน โดยทหารพม่าทางเหนือของรัฐฉานจะถูกโจมตีอย่างหนักและกองทัพตั้ตมะด่อว์ก็ยังไม่สามารถปกป้องคนของตัวเองได้
รายงานข่าวแจ้งว่า ล่าสุดมีฐานทัพพม่ามากกว่า 80 แห่ง รวมถึงในพื้นที่ทางเหนือของรัฐฉาน และเมืองสำคัญหลายแห่งได้ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของกลุ่มติดอาวุธต่อต้านกองทัพพม่าแล้ว ก่อนหน้านั้นฐานทัพพม่าทางตะวันออกเฉียงใต้ของพม่า 62 แห่งถูกยึดโดยกองกำลังกะเหรี่ยงด้วยเช่นเดียวกัน
สำนักข่าว Irrawaddy ได้วิเคราะห์ว่า ปฏิบัติการโจมตีทางเหนือของรัฐฉานได้ทำลายขีดความสามารถของรัฐบาลทหารพม่า และได้ทำลายขวัญและกำลังใจทหารพม่าเป็นอย่างมาก
ขณะที่ข้อมูลของ United States Institute of Peace ระบุว่า กองทัพพม่ามีกำลังพลประมาณ 150,000 นาย โดยข้อมูลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ทหารจำนวน 70,000 นาย เป็นทหารที่อยู่ในสนามรบ อย่างไรก็ตาม อัตราการแปรพักตร์ของกองทัพพม่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และแม้จะมีกำลังทางอากาศและปืนใหญ่สนับสนุน แต่รัฐบาลทหารพม่าสูญเสียที่ตั้งทางยุทธศาสตร์สำคัญบริเวณรอบนอกเพิ่มขึ้น
ส่วนสถานการณ์ผู้ลี้ภัยเนื่องจากการสู้รบในภาคเหนือของรัฐฉานนั้น สื่อไทใหญ่ระบุขณะนี้มีผู้ลี้ภัยเกือบ 1 หมื่นคนแล้ว โดยบางส่วนอาศัยอยู่ตามวัด และบางส่วนไปอาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง รวมไปถึงอพยพหนีเข้าไปยังประเทศจีน เหตุการณ์สู้รบในภาคเหนือของรัฐฉานยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทางการจีนได้เรียกร้องให้พม่ายุติความขัดแย้งตรงชายแดนรัฐฉาน – จีน โดยเร็ว โดยมีผู้นำระดับสูงได้พบปะหารือกันเมื่อเร็วๆนี้ด้วย
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับกลุ่มคนไทยนับร้อยคนที่ถูกหลอกลวงไปในทำในเขตปกครองโกก้าง ยังคงต้องหลบซ่อนอยู่ภายในเมืองเล่าก์ก่ายซึ่งเป็นเมืองหลวงของเขตปกครองแห่งนี้ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือจำนวน 133 คนที่ได้รับความช่วยเหลือจากตำรวจและทหารพม่าไปก่อนหน้านี้โดยถูกนำไปพักไว้ในค่ายทหารพม่าแห่งหนึ่ง โดยหลายฝ่ายความพยายามประสานให้คนกลุ่มนี้ได้กลับประเทศไทยโดยด่วน แต่ทางการไทยไม่สามารถดำเนินการให้ได้ และภายหลังจากที่เกิดการสู้รบครั้งใหญ่ของทหารทั้ง 2 ฝ่ายเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้ชะตากรรมของคนไทยกลุ่มนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะฐานที่มั่นของทหารพม่าตกเป็นเป้าหมายการโจมตีของกองกำลังชาติพันธุ์
รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับคนไทยและชาวต่างชาติอีกกลุ่มใหญ่นับพันคนที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือต่างต้องหลบซ่อนอยู่ในเมืองเล่าก์ก่าย โดยการควบคุมตัวของกลุ่มจีนเทาที่ทำธุรกิจคาสิโนและต้มตุ๋นออนไลน์ โดยล่ามีข่าวว่ามาเฟียจีนเทากำลังขายและส่งต่อคนกลุ่มนี้ให้กับกลุ่มจีนเทาในพื้นที่อื่นๆ มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่กลุ่มจีนเทาส่งคนเหล่านี้ให้รัฐบาลพม่าเพื่อใช้อ้างว่าได้ส่งมอบคนที่ทางการต้องการตัวกลับคืนแล้ว
คนไทยรายหนึ่งที่ติดอยู่ในเมืองเล่าก์ก่ายให้สัมภาษณ์สำนักข่าวชายขอบว่า ตอนนี้ทุกคนต่างรู้สึกเป็นกังวลในชะตากรรมของตัวเอง เพราะมีเสียงระเบิดและเสียงปืนดังเป็นระยะๆตั้งแต่เมื่อคืน(31 ตุลาคม)ต่อเนื่องมาจนถึงวันนี้ และเสียงระเบิดได้ดังใกล้เข้ามาเรื่อยๆ ขณะเดียวกันมีข่าวว่ากองกำลังพันธมิตรของ 3. ชาติพันธุ์และกองทัพพม่าต่างเสริมกำลังและอาวุธเข้ามาในพื้นที่
“พวกเราอยากวิงวอนให้ทางการไทยมาช่วยเหลือด่วน เมื่อเช้าพอมีเสียงระเบิดรุนแรง เราได้โทรไปที่สถานทูตไทยในย่างกุ้ง เพื่อขอความช่วยเหลือ แต่เขากลับบอกว่ายังไม่ถึงเวลาทำการ ทำให้พวกเรารู้สึกสิ้นหวังมาก จริงๆแล้วหากรัฐบาลไทยประสานกับทางการจีนเพื่อมาอพยพพวกเราออกไปก็สามารถทำได้ เพราะเขตโกก้างอยู่ติดกับชายแดนจีน และทั้งกองทัพพม่าและกองกำลังโกก้างต่างก็เกรงใจจีน” คนไทยที่โชคร้ายติดอยู่ในพื้นที่สงคราม กล่าว
คนไทยรายนี้กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ในเขตปกครองโกก้างเลวร้ายลงเรื่อยๆ ข้าวของต่างมีราคาแพงโดยดีดตัวพุ่งขึ้น 2-3 เท่าตัว แม้แต่ร้านอาหารตามสั่งก็ปิดเกือบหมด ที่เหลืออยู่ก็มีราคาแพงมาก บางวันพวกตนต้องอดอาหารเพราะเงินที่เคยมีติดกระเป๋าเริ่มหมด โดยทั้งเมืองมีแต่ความเงียบเนื่องจากมีการประกาศห้ามออกนอกบ้านหรือที่พักเพราะทหารกลุ่มพันธมิตรต้องการปราบปรามพวกจีนเทาและทหารพม่า