
เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี 1 ในคณะกรรมการประกันสังคม(บอร์ดประกันสังคม) และหัวหน้าทีมประกันสังคมก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 4 มีนาคม 2567 บอร์ดประกันสังคมชุดใหม่จะเข้าพบนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และวันที่ 5 มีนาคม จะมีการประชุมบอร์ดครั้งแรก โดยเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการผลักดันในบอร์ดคือเรื่องการเปิดเผยและประชาสัมพันธ์ข้อมูลต่างๆในสำนักงานประกันสังคม(สปส.)ซึ่งปัจจุบันยังไม่ได้มีการเปิดเผย และเรื่องการปรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ได้นำเสนอไปตอนหาเสียงเลือกตั้งบอร์ด รวมถึงเรื่องแนวทางการลงทุนที่ยึดโยงหลักธรรมาภิบาลมากขึ้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องการลงทุนของกองทุนประกันสังคมสามารถเปิดเผยได้แค่ไหนที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อกองทุน รศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าวว่า การลงทุนไปแล้วไม่น่าจะเป็นความลับ เพราะบริษัทต่างๆก็ต้องเปิดเผยว่าผู้ถือหุ้นเป็นใครบ้าง จึงควรเปิดเผยว่าได้เอาเงินกองทุนไปลงทุนที่ใดไว้บ้างแล้ว ส่วนที่ยังไม่ได้ไปลงทุนซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ลงทุนต่างๆ อาจเปิดเผยไม่ได้ทั้งหมด แต่สามารถชี้แจงแนวทางการลงทุนได้
เมื่อถามถึงกรณีที่ สปส.นำเงินกองทุนไปใช้ในการบริหารได้ 10 % สามารถนำมาเปิดเผยได้หรือไม่ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า เปิดเผยได้ เพราะปัจจุบันการบริหารสำนักงานประกันสังคมมีการตั้งคำถามกันมากเพราะมีการใช้จ่ายงบประมาณเพิ่มจาก 3,000 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แม้จะยังไม่แตะเพดาน 14,000 ล้านบาท แต่เป็นเรื่องที่น่าสงสัย ดังนั้นต้องเปิดเผยได้ อย่างน้อยควรให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ได้ กรณีเรื่องงบประชาสัมพันธ์ซึ่งมีอยู่กว่า 100 ล้านบาท มีหลายอย่างที่ถูกตั้งข้อสงสัย เช่น วารสารประกันสังคม 4.5 แสนฉบับ ใช้งบประมาณกว่า 10 ล้านบาทใน 1 ปี
“ผมเคยทำวารสารวิชาการมาก่อน ยังนึกไม่ออกเลยว่าในโลกนี้มีวารสารที่ไหนต้องพิมพ์ถึง 4.5 แสนฉบับ ยิ่งในยุคสมัยนี้ผมนึกภาพไม่ออกเหมือนกัน ดังนั้นควรปรับลดพวกนี้ลง ตรงนี้อยู่ในหมวดประชาสัมพันธ์ที่มีทั้งผลิตสื่อ ผลิตเสื้อ ผลิตปฏิทิน วารสารนี้ตกเล่มละราวๆ 30 บาท แต่คำถามคือยังเป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่ที่ต้องพิมพ์วารสาร 4.5 แสนฉบับในยุคสมัยนี้” บอร์ดประกันสังคมผู้นี้กล่าว
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าวว่า ขณะนี้ทีมบอร์ดประกันสังคมของประกันสังคมก้าวหน้าได้เริ่มเข้าไปพูดคุยกับส่วนต่างๆใน สปส.และกระทรวงแรงงาน เราไม่ต้องการให้ภาพที่ออกมาว่าเข้าไปจับผิด แต่เราต้องการให้เห็นถึงการเข้าไปเปลี่ยนแปลงให้สมกับที่ประกันสังคมเป็นกองทุนขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศและดูแลคนจำนวนมาก

ผู้สื่อข่าวถามว่า การหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในวันที่ 4 มีประเด็นใดที่ต้องนำเสนอเร่งด่วนเพื่อให้ระดับนโยบายช่วยกันผลักดันหรือไม่ บอร์ดประกันสังคมผู้นี้กล่าวว่า จริงๆแล้วได้คุยกับทีมยุทธศาสตร์ของนายพิพัฒน์ว่ามีนโยบายใดที่ล้อไปด้วยกันได้บ้าง ซึ่งพบว่ากว่า 80% ของนโยบายด้านสิทธิประโยชน์ไปด้วยกัน มีเพียงบางประเด็นที่มีช่องว่างอยู่ที่ต้องหารือกันต่อ รวมเรื่องการแก้ไขกฎหมายประกันสังคม ซึ่งทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และพวกตนต่างก็มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงยึดโยงอยู่กับผลประโยชน์ของประชาชน
รศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าวว่า ขณะร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับแก้ไขของกระทรวงแรงงานได้เสนอไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.)แล้ว ซึ่งรอการพิจารณา โดยที่ได้อ่านในเบื้องต้นนั้น พ.ร.บ.แก้ไขฉบับนี้ชื่ออย่างไม่เป็นทางการคือ พ.ร.บ. “3 ขอ” ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ด้านบำนาญและด้านต่างๆ แต่นั่นเป็นใบปะหน้าที่ยังต้องถกเถียงกันอยู่ แต่ในไส้ได้ให้อำนาจรัฐมนตรีในการกำหนดวิธีการได้มาซึ่งบอร์ดประกันสังคมและเมื่ออ่านตามตัวอักษรไม่เหมือนกับที่ทาง สปส.สื่อสาร โดยเฉพาะที่บอกว่าให้มีการเลือกตั้งแต่หากตกอยู่ในสภาวะวิกฤต เช่น เกิดโรคระบาด สงคราม ก็ให้มีการแต่งตั้งได้ แต่ที่อ่านตามตัวอักษรคือให้มีการแต่งตั้งได้เลยซึ่งก็จะไปตรงกับกระแสข่าวก่อนหน้านี้ที่มีการออกมาบอกว่าการเลือกตั้งบอร์ดต้องใช้เงินจำนวนมากและสุดท้ายได้มาก็ไม่มีประสิทธิภาพอะไร การใช้ข้ออ้างว่าการเลือกตั้งมีราคาสูงเช่นนี้ก็จะทำให้เราไม่สามารถเดินหน้าไปไหนได้ ดังนั้นเรื่องนี้จำเป็นต้องมาหารือกันให้ชัดถึงเรื่องที่มาบอร์ดประกันสังคมโดยเอาการเลือกตั้งมาก่อน

“เราเคยยกร่าง พ.ร.บ.นี้เอาไว้ เรียกกันเล่นๆว่า พ.ร.บ.ประกันสังคมก้าวหน้า เราเคยเขียนแก้ไขเอาไว้บางมาตราเกี่ยวกับประกันสังคมถ้วนหน้า แต่เมื่อมาถึงจุดนี้อาจต้องเตรียมวางโครงสร้างใหญ่ใหม่ทั้งหมด” บอร์ดประกันสังคม กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็นเร่งด่วนที่ทีมประกันสังคมก้าวหน้าระบุว่าให้มีการเปิดเผยวาระการประชุมบอร์ดประกันสังคม ซึ่งปกติเป็นเรื่องปกปิดจะดำเนินการอย่างไร รศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าวว่า อะไรที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความมั่นคงเป็นวิสัยที่สามารถเปิดเผยได้ แต่อาจมีบางส่วนเปิดเผยได้แค่สรุปรายงาน อย่างไรก็ตามผู้ประกันตนสามารถทำเรื่องขอข้อมูลได้ซึ่งพร้อมที่จะอำนวยความสะดวก เช่น มติบอร์ด การลงทุนกับกลุ่มทุนที่ลงทุนในประเทศที่ทำร้ายประชาชนหรือไม่
เมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับเรื่องการเดินทางไปดูงานต่างประเทศของบอร์ดชุดต่างๆใน สปส.ซึ่งมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด บอร์ดประกันสังคมผู้นี้กล่าวว่า นโยบายของประกันสังคมก้าวหน้าคืองดการเดินทางไปดูงานต่างประเทศเพราะข้อมูลต่างๆ ที่เรามีเพียงพอแล้ว ที่สำคัญเทคโนโลยีต่างๆ สามารถสื่อสารถึงกันได้โดยง่าย หากมีอะไรในต่างประเทศอยากให้เป็นงบที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยหรือความร่วมมือกับต่างประเทศ หรือการสนับสนุนให้บุคลากรของประกันสังคมได้ไปศึกษาวิจัยกับต่างประเทศ ควรจัดหาทุนให้บุคลากรไปเรียนรู้หรือวิจัยเป็นเรื่องสำคัญ แต่ในส่วนของบอร์ดไม่ต้องไปเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมแล้ว
ผู้สื่อข่าวถามว่ามองอย่างไรกรณีที่แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนถูกตัดสิทธิในการเลือกตั้งบอร์ด รศ.ดร.ษัษฐรัมย์กล่าวว่า ยุคสมัยโลกาภิวัตน์ แรงงานข้ามชาติช่วยเติมเต็มเศรษฐกิจไทยอย่างมากซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานทุกยุคทุกสมัยต่างก็เข้าใจเรื่องนี้ดี บางทีระยะสั้นอาจต้องคิดเรื่องความหมายคำว่าพลเมืองกันใหม่เพราะเกี่ยวโยงกับเรื่องวิกฤตสังคมผู้สูงอายุและประชากรวัยทำงาน ดังนั้นหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันพิจารณาในมิติต่างๆที่เปลี่ยนไป ดังนั้นสิ่งที่เราพยายามผลักดันคือเพิ่มการมีส่วนร่วมของแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนที่มีอยู่ร่วม 1 ล้านคนในมาตรา 33 พวกเขาควรที่จะร่วมกำหนดแนวทางต่างๆได้
“ต่อไปหากมีกระบวนการการกระจายอำนาจและมีอนุกรรมการประกันสังคมระดับจังหวัดเพื่อยึดโยงกับผู้ประกันตนมากขึ้น บางพื้นที่ที่มีผู้ประกันตนเป็นแรงงานข้ามชาติเข้มข้น เช่น สมุทรสาคร ถ้าเขาไม่สามารถมีตัวแทนของเขามาพูดเรื่องผลประโยชน์ของเขา หรือออกแบบสิทธิประโยชน์ที่จำเป็นของเขาได้เลย ก็จะทำให้เขาเสียประโยชน์ไปด้วย มีหลายมิติที่สามารถพูดถึงการมีส่วนร่วมของแรงงานข้ามชาติได้ เท่าที่ผมได้คุยกับฝ่ายความมั่นคงในหลายคน เขาก็เข้าใจเรื่องนี้ มันไม่ได้เป็นภาพที่ฝ่ายความมั่นคงกลัวเหมือนสมัยก่อนว่าเขาเข้ามาเป็นอาชญากร เข้ามายึดประเทศหรือเข้ามาเพื่อแย่งงานคนไทย ปัญหาของแรงงานข้ามชาติตอนนี้ไม่ใช่เรื่องความมั่นคง แต่เป็นเรื่องของการบริหารมากกว่า”รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ กล่าว
รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานแจ้งว่า ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ส่งข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.)ที่ระบุว่าระเบียบของกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้ประกันตนเป็นบอร์ดประกันสังคม มิได้คำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วม เนื่องจากผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติไม่มีสิทธิในการลงคะแนนนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางและความเหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชาติ โดยมีนายประสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธการสำนักงานประกันสังคม(สปส.)เป็นประธาน และมีกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ เช่น ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย สำนักข่าวกรองแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง นายอนุสร ธรรมใจ เป็นต้น
ข่าวแจ้งว่าหลังจากได้มีการประชุมกันไป 2 ครั้งได้มีมติไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของ กสม. เพราะไม่เห็นควรให้ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติมีสิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม โดยจัดทำเป็นข้อโต้แย้งส่งให้รัฐมนตรีเพื่อส่งกลับไปยัง กสม. ทั้งนี้ที่ประชุมส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า การให้ผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานข้ามชาติเลือกตั้งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและความมั่นคงด้านเศรษฐกิจเพราะบอร์ดประกันสังคมมีอำนาจให้ข้อเสนอแนะไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการของสปส. โดยกองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนที่ใหญ่สุดของประเทศจึงต้องมีตัวแทนที่มีสัญชาติไทย และผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ควรเป็นผู้มีสัญชาติไทย
“ความเห็นของ กสม.เป็นการมองในด้านเดียว ไม่ได้มองในปัจจัยอื่นๆ ประกอบ เพราะการบริหารราชการมีความซับซ้อน การให้สิทธิแก่บุคคลไม่มีสัญชาติไทยเข้ามาเป็นบอร์ด ควรได้รับความเห็นชอบจาก ครม.เพราะเป็นอำนาจบริหารประเทศเพื่อกำหนดนโยบายแก่หน่วยงาน” ผู้แทนหน่วยงานด้านกฎหมายของรัฐบาล กล่าวในที่ประชุม
ขณะที่ผู้ทรงคุณวุฒิในอนุกรรมการฯ รายหนึ่งกล่าวว่า การให้สิทธิเลือกตั้งบอร์ดจะก่อให้เกิดสิทธิทางการเมืองและสิทธิทางเศรษฐกิจที่มีความละเอียดอ่อน จึงต้องคำนึกถึงอำนาจอธิปไตยของรัฐจึงสามารถกำหนดแนวทางของประเทศได้ การให้สิทธิเลือกตั้งแก่แรงงานข้ามชาติเป็นเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงที่ควรสงวนไว้ ภายภาคหน้าอาจเกิดเหตุเกิดความควบคุมได้ และมีข้อห่วงใยต่อ สปส.ว่าหากมีการกำหนดเรื่องสิทธิการเลือกตั้ง จะต้องแก้ไขหรือมีผลกระทบต่อกฎระเบียบ ประกาศต่างๆ