ความคืบหน้ากรณีที่รัฐบาลไทยโดยกระทรวงการต่างประเทศมีแนวความคิดจัดตั้งระเบียงมนุษยธรรม (Humanitarian Corridor)ไทย-พม่า ด้านอำเภอแม่สอด จ.ตาก ทั้งนี้เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 แหล่งข่าวจากกระทรวงกลางโหมเปิดเผยว่า ในวันที่ 25 มีนาคม 2567 กองทัพบกเตรียมที่จะจัดส่งความช่วยเหลือรอบแรกไปยังฝั่งรัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทยราว 98 กิโลเมตร ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 อ.แม่สอด โดยกองทัพภาค 3 ได้ประสานกับผู้บริหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) เนื่องจากพื้นที่ที่จะนำสิ่งของบริจาคไปส่งให้กับประชาชนที่กำลังประสบความลำบากเนื่องจากหนีภัยการสู้รบนั้น อยู่ในพื้นที่ยึดครองของทหาร KNU
“การจัดส่งครั้งนี้ค่อนข้างมีความสลับซับซ้อน เดิมทีกระทรวงต่างประเทศประกาศว่าให้สภากาชาดไทยและสภากาชาดพม่าเข้ามามีบทบาทสำคัญ แต่เอาเข้าจริงๆ ตอนนี้กาชาดของทั้ง 2 ประเทศได้ถอยห่างออกจากภารกิจนี้ เพราะขาดการประสานงานที่ดี ที่สำคัญคือการไม่มีความเชื่อมั่นว่าจะดำเนินการช่วยเหลือได้จริงหรือไม่ เพราะเป็นพื้นที่ที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมของกองทัพพม่า” แหล่งข่าวกล่าว
แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะนี้บทบาทในการส่งต่อความช่วยเหลือครั้งนี้กลายเป็นภารกิจของกองทัพบกเป็นหลัก จากเดิมที่ที่มีกองบัญชาการทหารสูงสุดเข้ามามีบทบาทในการเจรจา อย่างไรก็ตามพล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ) มีแผนที่จะเดินทางพบ พล.อ.มินอ่องหลาย ผู้นำรัฐบาลเมียนมา เพื่อหารือถึงเรื่องนี้อีกครั้ง อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายกำลังจับตามองบทบาทของ ผบ.ทบ.อย่างใกล้ชิด เนื่องจากที่ผ่านมากองทัพถูกวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอดว่ามีความใกล้ชิดกับ พล.อ.มินอ่องหลาย ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายที่มีต่อกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ต่างๆ
———–