เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2567 ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดเชียงราย คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎรนำโดยนายรังสิมันต์ โรม ประธานกมธ. ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามสถานการณ์ความมั่นคง โดยได้ประชุมรับฟังบรรยายสรุปเรื่องความมั่นคงบริเวณชายแดน จากผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ นำโดยนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย
นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีคนไทย 154 คนถูกทางการเมียนมาจับในเมืองท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่าซึ่งอยู่ตรงข้าม อ.แม่สาย จ.เชียงราย ว่า คนไทยกลุ่มนี้อยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดีของทางการเมียนมา ซึ่งหลังจากนี้หากทางการเมียนมาส่งตัวกลับมาแล้วทางจังหวัดเชียงราย จะดำเนินการให้เข้าสู่กระบวนการคัดกรองคัดแยกผู้ได้รับผลกระทบจากกระบวนการค้ามนุษย์ และพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายของประเทศไทย โดยขณะนี้ได้มีการประสานงานระดับพื้นที่ ทราบแล้วว่ากลุ่มคนไทยถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหน ส่วนระยะเวลาว่าจะนานแค่ไหนนั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า กมธ.ต้องติดตามเรื่องนี้ต่อไป เพราะเรามีบทเรียนจากกรณีเมืองเล่าก์ก่าย ซึ่งได้ข้อมูลว่าทางจังหวัดเชียงรายก็เคยได้รับเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์และผู้กระทำผิดมาแล้ว เรื่องนี้สามารถนำมาใช้กับคนจากเมืองท่าขี้เหล็กได้ เราอาจไม่สามารถตั้งธงได้ว่าคนทั้งหมดคือผู้กระทำความผิด แต่จะต้องนำเข้ามาในประเทศไทยก่อน และทำการคัดกรองตามกระบวนการดำเนินการเอาผิดกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวถามถึงมุมมองของแผนการรองรับของรัฐบาลไทยกรณีที่มีผู้หนีภัยการสู้รบจากเมียนมาจำนวนมากเข้ามา นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ทุกฝ่ายจะมีกรอบแนวทางของสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) อยู่ ซึ่งทาง กมธ. ได้เคยคุยกับ สมช. แล้วว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่และสำคัญที่ต้องติดตามกันต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้การรับมือกับสถานการณ์ผู้อพยพ อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เมื่อถามว่า มีการพูดว่าการเตรียมการรองรับผู้อพยพหรือผู้ลี้ภัยเหมือนจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายน้ำ ทั้งที่ไทยอาจจะไม่มีทรัพยากรเพียงพอในการจัดการกับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ปัญหาในเมียนมาเวลานี้คือการสู้รบกันที่นำไปสู่การที่คนจำเป็นต้องหาพื้นที่ปลอดภัย โดยเวลานี้พื้นที่ปลอดภัยมีอยู่ทั้งในสองพรมแดนระหว่างชายแดนไทย และชายแดนเมียนมา โดยข้อมูลที่ทางกมธ. ได้รับมาคือ ตอนนี้มีค่ายผู้หนีภัยการสู้รบ (IDP) ซึ่งอยู่ในประเทศเมียนมา มีตัวเลขสูงกว่า 1 ล้านคน และมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 ล้านคน หากการช่วยเรื่องทางด้านมนุษยธรรมไม่สามารถไปถึงตรงนั้นได้ ก็อาจจะให้ผู้หนีภัยการสู้รบทะลักเข้ามาในไทย
“ฉะนั้นการช่วยเหลือที่ดีที่สุดคือการส่งตรงไปยัง IDP ต่างๆ หรือทำ Humanitarian Aids แต่ประเทศไทยก็มีทรัพยากรที่จำกัดมาก ซึ่งจะต้องประสานกับประเทศต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือ ขอย้ำว่านี่ไม่ใช่การเข้าแทรกแซงกิจการภายในประเทศ แต่คือการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม“ นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ ยังกล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการพูดคุยกับกลุ่มต่างๆในประเทศเมียนมาได้ และเราควรที่จะมีการตั้งโต๊ะเป็นวอร์รูมเพื่อพูดคุยเรื่องนี้ได้แล้ว ซึ่งสุดท้ายหากมีการพูดคุยกันไปเรื่อยๆเชื่อว่าจะสามารถหาจุดที่ทำให้เราสามารถส่งตรงความช่วยเหลือไปยัง IDP ต่างๆเหล่านี้ได้
ด้านการสู้รบระหว่างกองทัพพม่ากับทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU)และฝ่ายต่อต้านบริเวณเมืองเมียวดีฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สอด จ.ตาก ยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยในวันเดียวกันนี้กองทัพพม่ายังคงปฎิบัติการทางอากาศเป็นหลัก โดยโจมตีรอบค่ายยุทธการทหาร ติ่นงาหยี่หน่อง กองพันทหารราบ (357) กองพันทหารราบ (275) ยังคงมีของการโจมตีต่อเนื่อง และทางกองทัพพม่าได้ทำการโจมตีทางอากาศเพื่อป้องกันไม่ให้ค่ายแตก รวมถึงการยิงปืนใหญ่อาวุธหนักอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้กลุ่มช่วยเหลือสังคมในพื้นที่กำลังติดตามและอพยพผู้ที่ยังคงซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่ที่เกิดการต่อสู้และยังไม่ได้ออกจากบ้าน ในระหว่างการสู้รบทั้งสองฝ่ายซึ่งเริ่มตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ซึ่งกองพันทหารราบของสภาทหาร (355) และสถานีตำรวจถูกโจมตีและยึดโดยกองกำลังผสมของฝ่ายปฏิวัติ
ขณะที่สำนักข่าวของกะเหรี่ยง Karen Information Center หรือ KIC ได้เผยแพร่ข่าวในวันเดียวกันนี้ว่า มีผู้ลี้ภัยจากเมืองเมียวดีประมาณ 3,000 เพราะการสู้รบในพื้นที่ Thingyan Yung Naung และผู้อพยพเหล่านี้กำลังต้องการความช่วยเหลือ เนื่องจากเกิดการสู้รบอย่างต่อเนื่องระหว่างกองทัพพม่าและกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ร่วมกับกำลังผสมที่เนินยุทธศาสตร์ทหาร ติ่นงา หยี่หน่อง และค่ายทหารพม่า
“ชาวบ้านราว 3,000 คนจาก 10 หมู่บ้านในพื้นที่ใกล้เคียงกำลังหนีการสู้รบไปยังวัดและโรงเรียนในเขตเมืองเมียวดี เช้านี้มีคนหลบหนีมากขึ้น พวกเขาหนีไปยังเมืองเมียวดี ขณะนี้ยังมีคนหนีออกจากเมืองไปยังพื้นที่พักพิงต่างๆ” ชาวบ้านบอกกับ KIC โดยผู้ที่หลบหนีการสู้รบไปยังเมืองเมียวดีได้รับความช่วยเหลือและดูแลจากชาวเมือง ผู้ประกอบการเอกชน และผู้บริจาคเอกชน และไม่ได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานของสภาทหารพม่า
ขอบคุณภาพจาก KIC