
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานถึงความคืบหน้ากรณีที่ทางการไทยส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปยัง 3 หมู่บ้านในรัฐกะเหรี่ยงซึ่งถึงมือชาวบ้านด้วยดี อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 27 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการกลางสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ได้เผยแพร่คำแถลง 6 ข้อ ซึ่งแม้มีเนื้อหาขอบคุณความช่วยเหลือของไทยในครั้งนี้ แต่บางข้อได้วิพากษ์วิจารณ์กาชาดพม่าว่าเป็นเครื่องมือของสภาบริหารแห่งรัฐพม่า (SAC) และ SAC พยายามใช้เรื่องความช่วยเหลือนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง (ย้อนอ่านข่าว https://transbordernews.in.th/home/?p=37741 )
ในคำแถลงบางตอนของ KNU ระบุว่า “กองกำลังรักษาชายแดน (BGF) ได้ขนส่งสิ่งของช่วยเหลือผ่านเมืองเมียวดี (ตรงข้าม อ.แม่สอด จ.ตาก) โดยเจ้าหน้าที่จากเขตพะอันของ KNU ได้รับพัสดุช่วยเหลือจำนวน 3,874 ชิ้นจากการส่งมอบของกองทัพบกไทยในเมืองนาบู และส่งมอบต่อให้กับ CIDKP (คณะกรรมการเพื่อชาวกะเหรี่ยงผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ) และผู้นำชุมชนตามลำดับ ที่เมืองไป่จง และตามายะ โดยเจ้าหน้าที่จาก SAC และสภากาชาดเมียนมาเข้าร่วมในการส่งมอบความช่วยเหลือ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำแถลงที่ระบุถึง “กองทัพบกไทย” ได้สร้างความไม่พอใจให้กับนายทหารระดับสูงในกองทัพบก เนื่องจากการปฏิบัติการครั้งนี้ แม้โดยข้อเท็จจริงกองทัพบกเป็นผู้ประสานงานให้กับกระทรวงการต่างประเทศโดยทำงานร่วมกับกองกำลังกะเหรี่ยง KNU และ BGF (กองกำลังรักษาชายแดน) แต่กองทัพบกพยายามปกปิดไม่ให้มีชื่อกองทัพบกเข้าไปมีส่วนร่วม เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบความสัมพันธ์กับ SAC และหวั่นเกรงว่าจะมีปัญหาในข้อกฎหมาย ดังนั้นจึงได้มีการประสานไปยัง KNU เพื่อขอให้ตัดคำที่พูดถึงกองทัพบกออกไป ซึ่งล่าสุด KNU ได้ออกแถลงการณ์ฉบับใหม่โดยมีเนื้อหาเกือบเหมือนเดิม แต่ตัดถ้อยคำที่พูดถึงกองทัพบกออกไป
ขณะนี้ ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการด้านความมั่นคง ได้เขียนบทความลงนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์โดยตอนหนึ่งระบุว่า การส่งความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมครั้งแรกของรัฐบาลไทยให้แก่ผู้ประสบภัยสงครามเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2567 นั้น ดูจะเป็นความภูมิใจของรัฐบาลไทย ที่สามารถสร้างภาพเชิงบวกให้แก่งานการต่างประเทศไทยที่ตกต่ำมานาน เพราะอย่างน้อยรัฐบาลไทยยอมที่จะดำเนินการทางด้านมนุษยธรรม ซึ่งเป็นประเด็นที่ฝ่ายต่างๆ เรียกร้องมาตลอด เนื่องจากสงครามกลางเมืองเมียนมา ซึ่งเป็นผลผลิตโดยตรงจากการรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธุ์ 2564 นั้น ได้ทำให้เกิด “วิกฤตด้านมนุษยธรรม” อย่างรุนแรง
ศ.สุรชาติ ระบุว่า เป็นที่ทราบกันในพื้นที่ว่าการดำเนินการของกองทัพบกใช้กะเหรี่ยง ”กลุ่ม BGF” ที่เคยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารเมียนมาและแตกออกมาเป็นเหมือน “ผู้อำนวยความสะดวก” แต่หลายฝ่ายก็กังวลกับปัญหาประวัติของกลุ่มนี้ และประเด็นเช่นนี้มีความละเอียดอ่อน เพราะทำให้นักสังเกตการณ์หลายฝ่ายในเวทีระหว่างประเทศที่ติดตามเรื่องนี้ ดูจะมีความแปลกใจอย่างมาก และมองด้วยความแคลงใจว่า ทำไมไทยไม่ใช้ความสัมพันธ์ของ “กลุ่ม KNU” ซึ่งว่าที่จริง มีความใกล้ชิดกับทหารไทยมาก่อนและมานานด้วย นายทหารไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ อาจจะคิดด้วย “ความตื้นเขินทางการทูต” เพียงต้องการ “สร้างภาพ” เพื่อให้เห็นถึงการมีบทบาทของกองทัพบก พร้อมกับเปิดทางให้กระทรวงต่างประเทศไทยที่ถูกวิจารณ์มานานถึง “ความอืดอาด” ได้มีบทสำคัญด้วย อย่างไรก็ตาม คำตอบที่น่าสนใจจากกรณีนี้มาจากแถลงการณ์ 6 ข้อของ KNU ที่ดูจะสวนทางกับ “ภาพสวยๆ” ที่กระทรวงต่างประเทศ และกองทัพบกไทยพยายามนำเสนอต่อสื่อ พร้อมกับตามมาด้วยคำถามต่างๆ
นักวิชาการด้านความมั่นคงระบุว่า ถ้ากล่าวโดยสรุปคงต้องถือว่า แถลงการณ์ 6 ข้อของ KNU เป็น “การติติง” รัฐบาลไทย แต่ถ้าพิจารณาในทางการทูตแล้ว คำแถลงนี้คือ “การฉีกหน้า” กระทรวงต่างประเทศและกองทัพบกไทยโดยตรง แต่ฝ่ายไทยก็มีวิธีแก้เกมส์ที่ชายแดนเสมอ ด้วยการผลักดันให้กะเหรี่ยงอีกกลุ่มคือ KTLA ออกมามาแถลงการณ์ในวันที่ 27 นี้ เพื่อชื่นชม และขอบคุณไทยสำหรับความช่วยเหลือ ซึ่งหลายฝ่ายตีความว่า ฝ่ายไทยคงกดดันให้มี “ดอกไม้” ให้รัฐบาลไทยบ้าง เพราะตอนนี้การส่งความช่วยเหลือในวันที่ 25 ดูจะเป็น “ก้อนอิฐ” เสียมากกว่า และปัญหานี้กลายเป็นเรื่อง “นินทาทางการเมือง” อย่างไม่จบที่ชายแดน แต่ก็สร้างความ “หวาดระแวง” ทางการเมืองได้มากกว่าที่คิดด้วย
“ที่เหลือนับจากนี้ จึงขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลไทยมองเรื่องนี้อย่างไร คิดเรื่องนี้อย่างไร หรือจะยังเดินหน้าด้วยการกระทำในลักษณะเช่นนี้ต่อไป แต่ทั้งหมดเป็นคำถามในแบบชวนให้คิดอีกด้านว่า รัฐบาลไทยควรต้องมี กรอบคิดทางยุทธศาสตร์ ในนโยบายไทยต่อปัญหาสงครามเมียนมาอย่างชัดเจนใช่หรือไม่?” ศ.สุรชาติ กล่าว