เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ณ ห้องประชุมโครงการหลวงดอยผาตั้ง ต.ปอ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย นายสุพจน์ ลังกาวีระนันท์ นายอำเภอเวียงแก่น และนายสาลี วันนะสาน รองเจ้าเมืองปากทา แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ร่วมเป็นประธานการประชุมร่วมโครงการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน เพื่อรับกับความท้าทายด้านความมั่นคงรูปแบบใหม่ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (People to People Connectivity to Address Non-Traditional Security Chalenges in the Mekong Region) โดยมีนายกเทศมนตรีตำบลม่วงยาย นายกเทศมนตรีตำบลปอ พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตร ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม และผู้นำชุมชนเข้าร่วมประชุมกว่า 30 คน

ทั้งนี้ในที่ประชุมได้หารือแลกเปลี่ยนกันในประเด็นเกี่ยวกับความร่วมมือสองเมืองที่มีชายแดนติดกัน ในเรื่องไฟป่าหมอกควันและการป้องกัน ปลูกพืชเศรษฐกิจ การผ่านแดนตามช่องทางถูกกฎหมาย การเชื่อมถนนเวียงแก่น-ปากทา

นายสุพจน์ ลังกาวีระนันท์ นายอำเภอเวียงแก่นกล่าวในที่ประชุมว่า ความร่วมมือของทั้งสองเมืองอำเภอเวียงแก่นและเมืองปากทาที่ชายแดนติดกัน ที่ผ่านมาได้รวมกันทำแนวกันไฟและดับไฟป่าตามแนวสันเขา และในวันที่ 11 กรกฎาคม 2567 ทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมกันปลูกต้นไม้ในการเป็นเชิงสัญลักษณ์ภายใต้กิจกรรมเวียงแก่นผสานความร่วมมือภาคีไทย-ลาว “ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ผืนป่า” เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูสภาพป่าไม้จากไฟไหมและป้องกันไฟป่า

นายสุพจน์กล่าวว่า ด้านการเดินทางและการติดต่อค้าขายของชาวบ้านระหว่างกันได้มีจุดผ่อนปรนที่ปัจจุบันได้ใช้ทางเรือที่นิยมกันคือด่านผ่อนปรนบ้านแจมป๋องและบ้านห้วยลึก ต.ม่วงยาย แต่จะอยู่ตรงข้ามเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว แต่ขณะนี้ได้มีการพูดคุยหารือกันถึงการจะเชื่อมสองเมืองชายแดนเวียงแก่น – ปากทา ทางบกด้วยถนนที่เชื่อมจาก ต.ม่วงยายไปยังถนนในเมืองปากทา แต่การที่โครงการจะดำเนินได้เป็นการตัดสินใจส่วนกลาง ระดับสูง ของทั้งสองประเทศ แต่ถ้าทำได้เป็นความสำเร็จสองเมือง การเดินทางระหว่างกันแลงการติดต่อค้าขายก็จะสะดวกขึ้น

นายพิธาร ทิพย์ตา นายกเทศมนตรีตำบลม่วงยาย กล่าวว่า บริเวณที่จะทำถนนเชื่อม ทางเทศบาลได้ทำแผนที่เพื่อนำเสนอมหาดไทย เพื่อนำไปขออนุญาตป่าไม้เพื่อใช้ประโยชน์พื้นที่ ขณะนี้ได้รับการประสานจากผู้ประสานงานของกระทรวงมหาดไทยแล้ว และระหว่างนี้ในพื้นที่สองเมืองสามารถสร้างความสัมพันธ์แลกเปลี่ยนกันไปได้ ในการเชื่อมเส้นทาง ทำให้เมื่อมาเวียงแก่นแล้วทางไม่ตัน และน่าจะดีกับทั้งสองเมือง

 นอกจากนี้ในที่ประชุมโครงการหลวงดอยผาตั้งและสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้เสนอแนวทางการป้องกันไฟป่าและการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน โดยการปลูกพืชเศรษฐกิจ เพื่อให้ชาวบ้านได้มีอาชีพ ที่จะทำให้ลดการเผาในการหาของป่าหรือการเผาไร่จากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวด้วย เช่น กาแฟ ดอกดาวเรือง ซึ่งเป็นพืชที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ใช้น้ำใช้ทรัพยากรน้อย ขนส่งสะดวกไม่บอบช้ำง่าย ที่ชาวบ้านไทย-ลาวสามารถพัฒนาร่วมกันได้

ในที่ประชุมได้มีการหารือถึงการเดินทางผ่านแดนว่า ที่จะมีด่านผ่อนปรนตำบลม่วงยาย แต่ตำบลปอที่อยู่ติดกันและมีหมู่บ้านที่อยู่ติดชายแดนทางบกจำนวน 9 หมู่บ้านจาก 21 หมู่บ้านเป็นแนวสันเขาทำให้ชาวบ้านใช้ช่องทางธรรมชาติที่คุ้นเคยมาในการผ่านแดน และยังเป็นพื้นที่พัฒนาการท่องเที่ยวสำคัญของสองตำบล คือ ผาตั้ง ผาหม่น ภูชี้ดาว ภูชี้เดือน ภูชี้ฟ้า อย่างก็ตามในที่ประชุมตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากเมืองปากทาให้ความเห็นในเรื่องของการเชื่อมเส้นทางคมนาคมทางบกเป็นเรื่องที่ดีและเข้าใจทางอำเภอเวียงแก่นที่ต้องการพัฒนา แต่เป็นเรื่องนี้เป็นการพิจารณาของรัฐบาลกลางว่าเห็นอย่างไร เป็นเรื่องของกระทรวงป้องกันประเทศ ขึ้นอยู่กับส่วนกลาง

ด้านการปลูกพืชเศรษฐกิจ เช่น กาแฟ ทางเมืองปากทาก็จะนำกลับไปหารือเจ้าเมืองและฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ว่าสามารถจะปลูกได้หรือไม่ โดยเฉพาะกาแฟในลาวปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่กาแฟจะปลูกทางใต้ของลาว และตัวแทนฝ่ายลาวฝากประเด็นคำถามนอกจากสภาพดินและภูมิอากาศในการจะปลูกพืชเศรษฐกิจ ยังได้สนใจเรื่องตลาดและการรับซื้อ ต้องการให้มีการหาความชัดเจนในเรื่องสินค้านำเข้าส่งออกระหว่างประเทศให้ชัดเจนว่าสินค้าไหนที่เข้าได้หรือเข้าไม่ได้ ด้านการทำลายป่าไม้ ไฟป่า ทางเมืองปากทาได้ให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์กับชาวบ้านโดยทำเป็นปกติต่อเนื่อง แต่ก็มีบุคคลจำนวนหนึ่งที่เสาะหากินอยู่ตามป่า ก็ยังไม่เข้าใจยังมีการเผาอยู่ แต่เป็นเรื่องที่ทางเมืองปากทาได้พยายามทำความเข้าใจกับชาวบ้านต่อไป

Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.