Search

ร่วมกันปลดชนวนระเบิดเวลาลูกใหญ่ แรงงานข้ามชาตินับแสนกำลังจะหลุดจากระบบ

 อดิศร เกิดมงคล /รวีพร ดอกไม้

ปัจจุบันการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยโดยเฉพาะด้านการผลิต ปฎิเสธไม่ได้ว่า แรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านถือเป็นส่วนสำคัญซึ่งช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการไปได้ ซึ่งจากสถิติของกรมการจัดหางาน พบว่าปัจจุบันเรามีแรงงานข้ามชาติ 4 สัญชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่ยื่นขออนุญาตทำงานในประเทศไทยมากถึง 3,023,281 คน

แรงงานข้ามชาติ คือใคร สำคัญอย่างไร นิยาม แรงงานข้ามชาติ ในบทความนี้หมายถึงแรงงานจากประเทศบ้าน 4 สัญชาติประกอบด้วย เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยการบริหารจัดการภายใต้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 แก้ไข 2561  ซึ่งนายจ้างสามารถจ้างแรงงานข้ามชาติได้ 3 ช่องทาง คือ

1.MOU ระบบ G to G ที่มีการนำเข้าแรงงานสรรหาจากประเทศต้นทางเพื่อเข้ามาทำงานกับนายจ้างในประเทศไทย ปัจจุบันมี 611,705 คน เป็นแรงงานจากกัมพูชา 162,665 คน เมียนมา 271,449 คน และลาว 177,591 คน

2.มติคณะรัฐมนตรี หรือ กลุ่มนิรโทษนจากสถานะทางกฎหมายคนเข้าเมืองที่ไม่ถูกกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจของมติคณะรัฐมนตรีในการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงาน แก้ไขปัญหาด้านเอกสารในสถานการณ์จำเป็นเร่งด่วนเพื่อให้มีแรงงานทำงานกับนายจ้าง เป็นการบริหารจัดการฝ่ายรัฐบาลไทยฝั่งเดียวก่อนที่ให้ประเทศต้นทางเข้ามาดำเนินการรับรองความเป็นพลเมืองของประเทศนั้นๆ ซึ่งแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้มีจำนวนมากที่สุด เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยแก้ไขปัญหาความต้องการจ้างแรงงานข้ามชาติในช่วงฟื้นฟูจากการระบาดของโรคโควิด-19 โดยการเปิดจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติเป็นระยะๆ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 2,411,576 คน โดยเป็นกัมพูชา 290,678 คน เมียนมา 2,022,273 คน ลาว 94,950 คน และเวียดนาม 3,675 คน

3.การจ้างงานชายแดน เป็นการจ้างงานในพื้นที่ที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยสามารถจ้างได้ 2 สัญชาติ ตามบันทึกข้อตกลงการข้ามแดน คือ สัญชาติเมียนมา และ กัมพูชา ถือเป็นการจ้างงานระยะสั้นเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานการขาดแคลนในพื้นที่ชายแดนและดึงดูดนักลงทุนเข้ามาลงทุนในพื้นที่ชายแดน ในการส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษ อนุญาตให้ใช้หนังสือผ่านแดนถาวรในการอนุญาตให้มีการจ้างงานในพื้นที่ชายแดนตามบันทึกข้อตกลงการข้ามแดน มีจำนวน 35,027 คน โดยเป็นกัมพูชา 29,416 คน เมียนมา 5,611 คน

ทำไมแรงงานต้องออกมาเรียกร้อง เอกสารบัตรสีชมพู 

บัตรสีชมพู หรือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ออกโดยรัฐบาลไทยฝ่ายเดียว เพื่อบันทึกและจัดทำทะเบียนประวัติของแรงงานข้ามชาติให้อยู่ในระบบทะเบียนราษฎรของไทย อันเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการ ดูแลแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทย โดยเริ่มทำบัตรชมพูมาตั้งแต่ปี 2547

ต่อมาเมื่อสถานการณ์ในประเทศต้นทาง โดยเฉพาะประเทศเมียนมามีแนวโน้มที่ดีขึ้นได้เปิดให้มีการพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทาง โดยการให้มาออกเอกสารแทนหนังสือเดินทาง หรือเอกสารรับรองตัวบุคคลหรือ CI เพื่อใช้ในการปรับสถานะแรงงานข้ามชาติที่ได้รับการผ่อนผันไปเป็นแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย

ใน พ.ศ. 2558 มีการออกบัตรสีชมพูให้กับแรงงานข้ามชาติที่ทำงานกับนายจ้างในประเทศไทย และมีสถานะไม่ถูกกฎหมาย ซึ่งรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีมติคณะรัฐมนตรีให้นำแรงงานที่ไม่มีเอกสารผ่านศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่อจัดทำใบอนุญาตทำงาน และทะเบียนประวัติ โดยจะได้รับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(บัตรสีชมพู) ก่อนประสานประเทศต้นทางให้เข้ามาดำเนินการพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทางในปี 2561

 นับแต่ปี 2564 สถานการณ์ต่อเนื่องการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ต้องปิดด่านชายแดนไทย-พม่า ที่สำคัญคือการรัฐประหารในประเทศเมียนมา ทำให้เกิดการสู้รบทั่วประเทศพม่าโดยเฉพาะที่จังหวัดเมียวดีเดือนเมษายน 2567  รวมถึงกรณีการออกกฎหมายการเกณฑ์ทหาร เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่รัฐบาลทหารบังคับใช้กับพลเมืองเมียนมาโดยผู้ชายระบุช่วงอายุตั้งแต่ 18-35 ปี ส่วนผู้หญิงกําหนดไว้ที่ 18-27 ปี ซึ่งจะต้องเข้ารับใช้กองทัพเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี

ช่วงวัยในการเป็นทหารเป็นช่วงวัยทำงาน รวมถึงมีมาตรการอื่น ๆ ที่มีผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติ เช่น การเรียกเก็บภาษี 2% จากค่าจ้าง หรือการบังคับให้มีการส่งเงินกลับบ้านผ่านบัญชีธนาคารที่รัฐบาลทหารพม่ากำหนดไว้ในอัตรา 25% ของค่าจ้าง กำหนดเป็นเงื่อนไขหากไม่ปฏิบัติตามก็ห้ามเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ออกเอกสารหนังสือเดินทางให้ และอาจจะมีบทลงโทษอื่น ๆ ตามมา

กลุ่มแรงงานข้ามชาติตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ต้องทำเอกสาร เอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI)  จากศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งรัฐบาลไทยได้ตกลงดำเนินการกับรัฐบาลประเทศต้นทางเพื่อเป็นศูนย์พิสูจน์สัญชาติ (National Verification) ต่อมาต้องดำเนินการให้มีเอกสารรับรองบุคคล (CI)เล่มสีเขียว โดยจำนวนแรงงานเมียนมาที่จะต้องจัดทำ CI กับศูนย์ CI มีจำนวน 676,515 คน ซึ่งจะต้องทำให้เสร็จภายใน 31 ตุลาคม 2567 นี้

ที่ผ่านมาปัญหาที่พบในการจัดทำ CI ของแรงงานเมียนมาที่มีผลกระทบต่อนายจ้างและแรงงานข้ามชาติคือการจองคิวผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส ซึ่งมีทั้งปัญหาการจองไม่ได้เนื่องจากคิวเต็มและเปิดเป็นรอบ ๆ และต้องเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรเสียเพราะไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน เนื่องจากแรงงานข้ามชาติได้จ่ายค่าทำ CI เมื่อไปจองคิวแล้ว แต่เมื่อไปถึงศูนย์ CI ก็ถูกเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่น ๆอีก ทั้งค่าจองคิว ค่าเขียนเอกสาร โดยที่ไม่มีการออกหลักฐานใบรับเงิน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการทำสูงขึ้น  รวมทั้งมีการตรวจเช็คเอกสารเข้มงวดขึ้นกว่าก่อนรัฐประหารในเมียนมา  เช่น จะต้องมีบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนมาแสดง ซึ่งก่อนหน้านั้นใช้เพียงรูปถ่าย หรือเอกสารรับรองจากชุมชน หรือผ่านการสัมภาษณ์ของเจ้าหน้าที่เท่านั้น

ปัจจุบันรัฐบาลเมียนมาได้ปฎิเสธการดำเนินการจัดทำเอกสารรับรองตัวบุคคล และขอปิดศูนย์บริหารจัดการการทำงานของแรงงานเมียนมาแบบเบ็ดเสร็จทั้ง 7 แห่ง ให้เหลือเพียงแห่งเดียวที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งต้องให้บริการแรงงานข้ามชาติ ประมาณ 3 แสนคน ในระยะเวลา 4 เดือน และจะต้องดำเนินการให้แก่แรงงานเมียนมาทั่วประเทศไทย หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จจึงมีความเสี่ยงที่แรงงานจำนวนมากจะหลุดออกจากระบบ

 เป็นที่น่ากังวลใจว่าจะเกิดผลกระทบต่อประเทศไทย ทั้งในเรื่องการจะมีแรงงานข้ามชาติที่ทำงานไม่ถูกต้องเพิ่มมากขึ้น สร้างปัญหาให้ผู้ประกอบการที่จ้างแรงงานข้ามชาติ ผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของไทย รวมทั้งการผลิตเพื่อการส่งออกที่เป็นรายได้ของประเทศ สะท้อนถึงความล้มเหลว ความล่าช้า การทำเอกสารรับรองตัวบุคคลที่จะให้แรงงานข้ามชาติจากประเทศเมียนมาซึ่งทำงานกับนายจ้างในประเทศไทย กว่า 3 ล้านคน อันเกิดจากอุปสรรคในการทำเอกสารรับรองของประเทศต้นทาง เนื่องจากการขาดเสถียรภาพของรัฐบาลเมียนมา ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงในการจัดการด้านสถานะแรงงานข้ามชาติรวมทั้งความมั่นคงและเศรษฐกิจประเทศไทย

ระเบิดเวลาลูกใหญ่ที่กำลังจะมีผลกระทบต่อแรงงานเมียนมามากกว่า 2 ล้านคนซึ่งใบอนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรีกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 การเลือกใช้วิธีการจัดการโดยกฎหมายไทยฝ่ายเดียว คือการจัดทำบัตรชมพูซึ่งเป็นฐานข้อมูลแรงานข้ามชาติของไทย จะช่วยให้ประเทศไทยยังรักษากำลังแรงงานข้ามชาติให้ยังอยู่และทำงานในประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย ช่วยลดปัญหาความมั่นคงและลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ

อาจจะต้องถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องพิจารณา “สถานการณ์พิเศษ” เพื่อแก้ไขและพยุงจำนวนแรงงานที่อยู่ในระบบกว่า 3 ล้านคนให้หมุนเวียนขับเคลื่อนเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →