คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแห่งแอฟริกาใต้ตัดสินให้หน่วยงานด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ในประเทศระงับการจำหน่ายอาวุธให้รัฐบาลทหารพม่าซึ่งมีพฤติกรรมเข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่วนองค์กรกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนที่เป็นผู้ยื่นคำร้องย้ำเหตุผลที่ต้องฟ้องศาลเป็นเพราะการประณามปากเปล่าไม่อาจหยุดความรุนแรงได้ ต้องลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังด้วย
สำนักข่าว Defence Web และ Military Africa รายงานว่าเครือข่ายองค์กรด้านกฎหมายสิทธิมนุษยชนทั้งในแอฟริกาใต้และเมียนมา ร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแอฟริกาใต้ปลายปี 2023 ให้วินิจฉัยกรณีคณะกรรมการกำกับดูแลอาวุธยุทโธปกรณ์แห่งชาติ หรือ NCACC (National Conventional Arms Control Committee) อนุมัติการจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่กองทัพเมียนมาตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา และมีเบาะแสบ่งชี้ว่าอาวุธยุทโธปกรณ์เหล่านั้นถูกนำไปใช้ในการก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชน
ล่าสุด คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาในกรุงพริทอเรียของแอฟริกาใต้ได้มีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2024 ให้ NCACC ระงับคำอนุมัติจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์แก่รัฐบาลทหารพม่า โดยอ้างอิงหลักฐานพาดพิงรัฐบาลทหารพม่าพบว่ามีการยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนอย่างไม่ชอบธรรม เข้าข่ายพฤติกรรมละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งยังอาจนำไปสู่การก่ออาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ซึ่งล้วนเป็นข้อห้ามในการจำหน่ายอาวุธของ NCACC ทั้งสิ้น
อทิลลา คิสลา ตัวแทนเครือข่ายองค์กรฟ้องร้องทางกฎหมายแห่งแอฟริกาใต้ หรือ SALC (Southern Africa Litigation Centre) ซึ่งประสานความร่วมมือกับกลุ่มนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (LHR: Lawyers for Human Rights) และองค์กรความยุติธรรมเพื่อเมียนมา (Justice For Myanmar) แถลงสนับสนุนและชื่นชมคำตัดสินของศาลแอฟริกาใต้ พร้อมย้ำว่าหลักการด้านสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศต้องกำกับดูแลและควบคุมการส่งออกอาวุธไปยังประเทศต่างๆ ได้จริง เพราะกรณีของเมียนมาเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าการแถลงประณามเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ไม่สามารถหยุดยั้งความรุนแรงได้ การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนต้องอ้างอิงหลักกฎหมายด้วยจึงจะได้ผล
ขณะที่ ยาดานาร์ หม่อง ตัวแทนองค์กร Justice For Myanmar คาดหวังว่า NCACC และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาอนุมัติและจัดหาอาวุธยุทโปกรณ์ให้แก่รัฐบาลทหารพม่าจะปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกาอย่างเคร่งครัด เพื่อให้แน่ใจว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ที่แอฟริกาใต้จำหน่ายให้แก่รัฐบาลทหารพม่าจะไม่ถูกนำไปใช้ในการก่อเหตุละเมิดสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ ข้อมูลของสื่อด้านความมั่นคงในแอฟริกาใต้ระบุว่า NCACC ขายอาวุธยุทโธปกรณ์และเครื่องมือสื่อสารให้แก่รัฐบาลเมียนมาตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวกองทัพพม่าก็เกี่ยวพันกับการปราบปรามชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ จนมีการร้องเรียนต่อศาลอาญาระหว่างประเทศและสหประชาชาติให้ไต่สวนข้อเท็จจริงว่าการกระทำของกองทัพพม่าเข้าข่ายล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่ และปี 2021 ผู้นำกองทัพพม่าก็ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนและใช้กำลังอาวุธปราบปรามประชาชนผู้ต่อต้านรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง
อ้างอิง:
Defence Web https://www.defenceweb.co.za/editors-pick/high-court-orders-south-africa-to-suspend-arms-exports-to-myanmar/
Military Africa https://www.military.africa/2024/07/south-african-court-halts-arms-sales-to-myanmar-over-human-rights-abuse
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.