Search

น้ำสาละวินเพิ่มสูงปริ่มฝั่ง นายก อบต.แม่สามแลบเผยถนนสายรองดินถล่มหลายจุด-รถยนต์ขึ้นกลอเซโลไม่ได้ ขณะที่แม่น้ำโขงเชียงรายน้ำเอ่อสูงเข้าป่าระบบนิเวศ “ครูตี๋”หวั่นเขื่อนจีนปล่อยน้ำซ้ำทะลักท่วมพื้นที่เกษตรกรรม

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2567 นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)แม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน  เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำสาละวินช่วง ต.แม่สามแลบว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสาละวินยังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆจนปริ่มฝั่ง แม้วันนี้จะมีแดดออก แต่ยังมีฝนตกต่อเนื่องในตอนบนตั้งแต่รัฐฉานลงมา ที่น่าเป็นห่วงคือปริมาณน้ำจากตอนบนของแม่น้ำสาละวินจะเพิ่มขึ้นอีก อย่างไรก็ตามชาวบ้านที่มีบ้านเรือนอยู่ริมน้ำได้เตรียมการไว้แล้วในการอพยพโยกย้ายไปอยู่ในพื้นที่สูง  โดยในปีนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำสาละวินสูงกว่าปีที่แล้วและปีก่อนหน้านั้น แต่ไม่ได้สูงสุด เพราะเคยท่วมสูงกว่านี้ 

นายก อบต.แม่สามแลบกล่าวว่า ขณะนี้เส้นทางหลักจาก อ.แม่สะเรียงมายังบ้านแม่สามแลบยังคงใช้การได้เป็นปกติ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือเส้นทางสายรองจากบ้านแม่สามแลบไปยังหมู่บ้านต่างๆโดยเฉพาะบนดอย เช่น เส้นแม่สามแลบไปหมู่บ้านสบเมยซึ่งต้องข้ามดอยผ่านกลอเซโล แหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง ขณะนี้ดินโคลนไหลทับเส้นทางหลายจุด ทำให้รถยนต์สัญจรลำบากเพราะปริมาณโคลนสูงมาก ต้องใช้มอเตอร์ไซผ่านเข้า-ออกแทน ดังนั้นหากไม่มีธุระเร่งด่วนจริงๆไม่แนะนำให้ใช้รถยนต์ในเส้นทางดังกล่าว

ฝนตกหนักชายแดนแม่ฮ่องสอนทำให้น้ำในแม่น้ำสาละวินเพิ่มขึ้นสูงและเกิดดินถล่มทับเส้นทางถนนสายรอง

“เราไม่สามารถเอาเครื่องจักรหรือรถแบล็คโฮเข้าไปได้เพราะยิ่งทำให้ถนนเละไปใหญ่ และถนนลื่นมากไปได้แค่เมอเตอร์ไซ บางเส้นทางตอนนี้ถูกตัดขาด เช่นเส้นทางจายบ้านห้วยแห้งไปยังบ้านโตแฮ หมู่ 5 ที่มีดินโคลนถล่มทับเส้นทาง เราต้องใช้วิธีใช้รถไปส่งเมื่อถึงจุดนั้นให้เดินข้ามและให้รถอีกฝั่งมารับไป”นายพงษ์พิพัฒน์ กล่าว

นายก อบต.แม่สามแลบกล่าวว่า ความช่วยเหลือฉุกเฉินมีแผนปกติเตรียมการไว้อยู่แล้ว โดยให้ชาวบ้านช่วยกันเฝ้าระวังจุดเสี่ยงและพร้อมอพยพออกในทันทีที่เชื่อว่าเข้าสู่สถานการณ์ไม่ปลอดภัย และหากเกิดน้ำป่าไหลหลากหรือดินถล่มให้แจ้งมาที่ อบต.แม่สามแลบหรืออำเภอสบเมย เพื่อวางแผนช่วยเหลือ โดยจะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วซึ่งเป็นความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องซึ่งมีคณะกรรมการระดับอำเภอคอยช่วยประสานงานร่วมกัน นอกจากนี้ยังมีชุดปฎิบัติเดินเท้าสำหรับพื้นที่ที่ไม่สามารถใช้รถเช้าไปได้

ขณะที่แม่น้ำโขงที่ไหลผ่านชายแดนจังหวัดเชียงราย มีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายวัน อย่างไรก็ตามล่าสุดเมื่อช่วงสายวันที่ 4 สิงหาคม ปริมาณน้ำได้ลดลงเล็กน้อย(วัดที่อำเภอเชียงของ)จาก 9 เมตรเหลือ 8.80 เมตร 

ปริมาณน้ำโขงที่ไหลผ่าน 3 อำเภอในจังหวัดเชียงรายมีปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ด้านนายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋”ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ ได้โพสต์เฟสบุคระบุว่า แม่น้ำโขงที่ยกระดับขึ้นสูงและไหลเชี่ยว พาให้ผู้คนออกมาดูแม่น้ำโขงกันอย่างคึกคัก โดยหลายปีมาแล้วที่ไม่ได้เห็นภาพเหล่านี้ปรากฎ ผ่านมาเกือบ 2 ทศวรรษที่ระดับแม่น้ำโขงไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติอันเกิดผลกระทบจากการสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบน สร้างปัญหาให้กับระบบนิเวศและวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำโขงตอนล่าง น้ำที่ไม่ยกระดับขึ้นตามธรรมชาติ เพราะน้ำต้นทุนถูกกักไว้ด้วยเขื่อนในฤดูน้ำหลาก เกิดปัญหากับปลาหลายชนิดที่ไม่สามารถว่ายเข้าไปยังแม่น้ำสาขาเพื่อวางไข่ได้ ทำให้ปริมาณปลาลดลง 

นายนิวัฒน์ระบุว่า บางปีที่มีฝนหนักแต่เขื่อนกลับปล่อยน้ำอย่างรวดเร็วจนมีปัญหาเกิดความเสียหายขึ้นกับพื้นที่ลุ่มน้ำ ทำลายผลิตผลทางการเกษตร ท่วมแหล่งที่อยู่อาศัย เช่นปี 2551 ในฤดูแล้งน้ำกลับขึ้นลงไม่ปกติ เพราะการเปิดปิดเขื่อนทำให้มีผลกระทบกับการเกิดของไก (สาหร่ายน้ำโขง) และน้ำท่วมดอนทรายทำให้นกที่วางไข่บนหาดไม่สามารถวางไข่ได้ รวมถึงตะกอนในน้ำโขงหายไปจากการกักตะกอนของเขื่อน 

“หากมีการสร้างเขื่อนปากแบงสำเร็จ ปัญหาก็จะตามมาอีกมากมาย เมื่อน้ำเท้อ และ ยกระดับมายังพื้นที่ลุ่มน้ำโขงฝั่งไทย-ลาว น้ำก็จะท่วมพื้นที่เกษตรของชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำ แม่น้ำงาว และแม่น้ำอิง 

การไหลของน้ำที่ช้าลง และระดับน้ำเพิ่มขึ้นในฤดูแล้ง จะมีผลกระทบต่อการเกิดและการเจริญเติบโตของไก ปัญหาต่อการอพยพของปลาผ่านเขื่อน พื้นที่เชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น อยู่ระหว่างเขื่อนจิ่งหงที่อยู่ตอนบน กับ เขื่อนปากแบงตอนล่าง หากการจัดการน้ำระหว่าง 2 เขื่อนไม่บูรณาการ จะทำให้เกิดผลกระทบรุนแรง”ครูตี๋ระบุ

นายนิวัฒน์กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในพื้นที่ 3 วันที่ผ่านมาจากฝนตกติดต่อกัน ทำให้น้ำโขงสูงขึ้น 5.50 เมตร จากสถานีวัดน้ำที่ อ.เชียงของ พบว่า วันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปริมาณน้ำอยู่ระดับ 3.40 เมตร และในเช้าวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 8.90 เมตร ซึ่งเป็นการยกระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หากปริมาณฝนลุ่มน้ำโขงตอนล่างในไทย-ลาวยังตกต่อเนื่อง และข่าวการพยากรณ์อากาศในจีนตอนใต้พบว่าหลังจากนี้ประมาณ 10 วันจะมีฝนตกหนักในพื้นที่มณฑลยูนนานที่มีเขื่อนจีนตั้งอยู่ และหากเขื่อนปล่อยน้ำลงมามากขึ้น น่ากังวลว่าจะทำให้เกิดวิกฤติน้ำท่วมรุนแรงในพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เกษตรลุ่มน้ำโขงตอนล่างเป็นวงกว้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปริมาณน้ำโขงที่ท่วมสูงขึ้น ทำให้แม่น้ำอิงซึ่งเป็นแม่น้ำสาขามีน้ำเอ่อสูงขึ้นด้วยซึ่งผลให้มีน้ำไหลเข้าไปยังพื้นที่ป่าชุ่มน้ำริมแม่น้ำอิงหลายแห่งซึ่งเป็นระบบนิเวศสำคัญของสิ่งมีชีวิตลุ่มน้ำโขงโดยเฉพาะการเข้าไปหากินและวางไข่ของฝูงปลา

นายสอน เทพสมบัติ ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าข่า ต.ป่าตาล อ.ขุนตาล จ.เชียงราย กล่าวว่า ปีนี้มีน้ำมากและน้ำเริ่มเข้าป่าส้มแสง ซึ่งเป็นป่าชุ่มน้ำริมน้ำอิงตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม น้ำโขงเริ่มดันมาถึงป่าเมื่อ 2-3วันที่ผ่านมา ปกติป่าชุ่มน้ำส้มแสงจะมีน้ำเข้าทุกปี ตอนนี้เริ่มเห็นปลาเพี้ยเข้ามาวางไข่ รวมถึงปลาอื่น ๆ เช่นปลากด และปลาจากแม่น้ำโขงที่จะว่ายทวนน้ำขึ้นมาวางไข่

“ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปลาธรรมชาติน้อยลง เพราะมีปลาชะโดที่เป็นปลาต่างถิ่น เข้ามาในพื้นที่ป่า ทำให้ปลาธรรมชาติท้องถิ่นลดปริมาณลงอย่างมาก ทางชุมชนจึงห้ามการหาปลาในพื้นที่ป่ามา 4 ปีแล้ว เพื่อให้ป่าส้มแสงซึ่งเป็นพื้นที่วางไข่และอนุบาลตามธรรมชาติไม่ถูกรบกวน แต่ชาวบ้านสามารถหาปลาได้ในพื้นที่รอบ ๆ ป่า เป็นที่น่ากังวลว่าในอนาคตปลาจะไม่เหลือ เพราะมีการประตูน้ำอิงเป็นระยะ ทำให้ปลาไม่สามารถขึ้นมาวางไข่ได้”ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่าข่า กล่าว

————-

On Key

Related Posts

ผู้นำแรงงานแฉอีกพิรุธงบ สปส.โครงการจัดอบรมแรงงานกว่า 30 ล้าน เผยกลายเป็นงบล่ำซำให้บางสภาแรงงานที่เข้าถึง ใช้วิธีเซ็นชื่อลงทะเบียนล่วงหน้า-เก็บค่าหัวคิว ชี้เป้าสอบงบทำปฏิทิน 54 ล้าน-ใครผูกขาดผลิต

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษRead More →

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →