Search

เปลี่ยนสูตรคำนวณเบี้ยชราภาพใหม่ลงตัว เตรียมนำเสนอบอร์ดสปส. 11มีค. สส.อดีตนักสหภาพแรงงานจี้ผู้บริหารประกันสังคมแจงข้อสงสัย เชื่อยิ่งปิดปากยิ่งฉาว “ไอซ์”เปิดแผลใหม่อีกซื้อตึก 7 พันล้านไม่คุ้มค่าราคาเกินจริง

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2568 นายจตุรงค์ ไพรสิงห์ กรรมการประกันสังคม (บอร์ด) ฝ่ายผู้ประกันตน ตัวแทนจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ให้สัมภาษณ์ถึงการเปลี่ยนสูตรคำนวณบำนาญชราภาพแบบใหม่สำหรับผู้ประกันตนของกองทุนประกันสังคม ซึ่งได้เข้าที่ประชุมบอร์ดประกันสังคมครั้งที่ผ่านมาแต่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะกรณีผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ออกจากงานและมาใช้ มาตรา 39 ของ พรบ.ประกันสังคมว่า บำนาญชราภาพสูตรเดิมไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบ มาตรา 39 จริงๆ โดยเรื่องนี้ได้เคยมีการหารือกันในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมานานมาก

นายจตุรงค์กล่าวว่า บอร์ดประกันสังคมชุดเดิมยังไม่ได้ปรับเพราะไม่ได้ผลักดันเรื่องนี้แต่บอร์ดชุดใหม่ได้คุยกันแล้วเห็นตรงกันว่าผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบ มาตรา 39 เสียเปรียบอย่างมากจึงพยายามปรับ เพราะสูตรเดิมคำนวณจากรายได้ 60 เดือนสุดท้าย แต่สูตรใหม่โดยใช้ค่าจ้างทั้งหมดนำมาหารเฉลี่ยกัน แต่อาจมีความซับซ้อนอยู่บ้างเพราะมีผู้ประกันตนบางกลุ่มได้รับผลกระทบ จึงต้องหาวิธีการชดเชยให้ผู้ประกันตนกลุ่มนี้ เพราะโดยหลักการแล้วไม่ควรมีใครเสียประโยชน์

“นักคณิตศาสตร์ประกันภัยจึงปรับค่าเฉลี่ย คนที่ได้รับเงินเดือนเมื่อหลายปีที่แล้ว 8-9 พันบาท ให้ปรับขึ้นมาเท่ากับเงินเดือนที่ได้รับในปัจจุบัน ปรับค่าเงินเดือนในอดีตให้เท่ากับปัจจุบัน ซึ่งจะส่งผลกระทบกับกลุ่มคนที่ส่งฐานเงินเดือน 15,000 บาท มาเป็นประจำ 2-3 เดือนที่แล้ว เรามีการคุยกันเรื่องปรับเพดานค่าจ้างจาก 15,000 บาท เป็น 17,500 บาทและจะสูงสุดที่ 23,000 บาท ถ้าเราส่งที่ฐาน 23,000 บาท แต่เราต้องเอาค่าเฉลี่ยทั้งหมดมาบวกรวมกันแล้วหารปีทำงาน คนกลุ่มนี้อาจจะเสียประโยชน์ แต่ถ้าเอา 60 เดือนสุดท้าย ของ 23,000 บาท มาหาร 20 % ของ 23,000 บาท จะได้สิทธิประโยชน์จากบำนาญชราภาพสูงกว่า” บอร์ดประกันสังคม กล่าว 

นายจตุรงค์ กล่าวอีกว่า เมื่อเอา 15,000 บาทมารวมในการคำนวณสูตรบำนาญชราภาพแบบใหม่ กลับกลายว่าจะเสียผลประโยชน์ตรงนี้ไป ประเด็นนี้ทำให้บอร์ดส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วย เพราะกังวลว่าผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบ มาตรา 33 ที่ส่งมาเยอะๆจะมีผลกระทบ ไม่ครอบคลุมผู้ประกันตนทุกกลุ่ม

“ผมเชื่อว่าบอร์ดประกันสังคมจะปรับแก้ให้ผู้ประกันตน มาตรา 39 ให้ได้รับความเป็นธรรม แต่จะทำอย่างไรไม่ให้ มาตรา 33 เสียผลประโยชน์ไปด้วย ซึ่งวันที่ 11 มีนาคมนี้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยไปคำนวณสูตรใหม่ แก้ข้อผิดพลาดต่างๆ โดยเพิ่งได้สูตรใหม่วันวาน”นายจตุรงค์ กล่าว 

“มีผู้ประกันตนหลายกลุ่มชงสูตรเข้ามาเยอะโดยบอร์ดเห็นว่าน่าจะปรับอะไรสักอย่างก่อนเพื่อให้มาตรา 39 ไม่เสียประโยชน์ อีกกลุ่มก็บอกถ้าปรับให้ 39 แล้ว ก็ไม่ควรทำให้ 33 เสียผลประโยชน์ไปด้วย เรามองว่าจะปรับอะไรก็ได้ทุกคนต้องไม่เสียผลประโยชน์ ต้องตอบสนองทุกกลุ่มเพราะทุกกลุ่มก็จ่ายเงินสมทบ ผมเชื่อว่าบอร์ดทุกคนเจตนาดี เรากังวลว่าจะมีผลกระทบกับผู้ประกันตนบางกลุ่ม แล้วจะชดเชยเขาอย่างไร” บอร์ดประกันสังคมตัวแทนจากทีมสมาพันธ์สมานฉันท์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมากงบบริหารสปส. 5 พันกว่าล้านบาท  นายจตุรงค์กล่าวว่า ยอดงบประมาณกว่า 5 พันบาทที่ถูกนำไปใช้ถือว่าสูง และบอร์ดไม่รู้ทั้งหมดว่าเอาไปใช้อะไร เพราะเวลาที่บอร์ดอนุมัติก็อนุมัติเพียงกรอบใหญ่ แล้วให้สำนักงานเอาไปบริหาร ซึ่งทั้งเรื่องการจัดทำปฏิทินหรืองบไปอบรมใช้อบรม เรามีการทักท้วง เช่น ปฏิทินลดจำนวนผลิตได้หรือไม่ จำเป็นขนาดไหน

“งบจัดอบรมโดยส่วนตัวผมได้พบการใช้ที่ไม่สมเหตุสมผล บางกลุ่มฉวยโอกาสไม่ทำตามเงื่อนไข แต่เอาเอกสารมาเบิก ผมทักท้วงว่าสำนักงานต้องตรวจให้เข้มข้นกว่านี้ ปีนี้มีการปรับลดงบประมาณลง ถ้าถามผมว่าการอบรมจำเป็นมั้ย ผมว่ายังจำเป็นกับบางกลุ่มที่ยังไม่มีข้อมูล แต่ก็มีคำถามว่าคุณอบรมกันมา 20-30 ปี ยังไม่มีตัวชี้วัดอะไรมากขึ้นเลยหรือ ปีนี้อาจต้องมีคลิปวีดีโอมาแสดงว่ามีการจัดอบรมจริง มีการวัด KPI ความรู้ก่อน-หลังของผู้เข้า” นายจตุรงค์ กล่าว

ในขณะที่เรื่องการใช้งบประมาณพัฒนาแอพลิเคชั่น 850 ล้านบาท ตัวแทนบอร์ดประกันสังคมคนนี้ยอมรับว่ามีการใช้งบด้านไอทีค่อนข้างเยอะแล้วประเด็นคือไม่ถูกเปิดเผยในที่สาธารณะ 

นายเซีย จำปาทอง สส.ระบบบัญชีรายชื่อพรรคประชาชนและอดีตนักสหภาพแรงงาน กล่าวว่า เรื่องการบริหารใน สปส.มีการทุจริตหรือไม่นั้น ยังไม่ชัดเจน แต่ควรมีตรวจสอบที่โปร่งใส  สปส.ควรออกมาเปิดเผยข้อมูลเมื่อมีคนตั้งคำถาม หากสปส.ไม่ออกมาตอบคำถามอะไรเลย ยิ่งทำให้สู้ประกันตนและประชาชนเกิดความสงสัยมากขึ้นและคิดกันไปต่างๆนาๆซึ่งไม่เป็นผลดีต่อ สปส.

“ กรณีเรื่องงบบริหารจัดการที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ใช้ 10% วันนี้ใช้เพียง 3 % ยอดก็สูงถึงกว่า 5 พันล้านบาทแล้ว แต่จริงๆแล้วหาก สปส.นำไปใช้จ่ายแล้วเกิดประโยชน์ผู้ประกันตน ผมคิดว่าผู้ประกันตนก็รับได้ แต่ต้องชี้แจงรายละเอียดให้ผู้ประกันตนเข้าใจ แต่ที่ผ่านมาเราไม่ทราบเลยว่าเอาไปใช้จ่ายอะไร ทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถาม”นายเซีย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่ามองอย่างไรในเรื่องการรวมกองทุนด้านสุขภาพของประกันสังคมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สส.พรรคประชาชนกล่าวว่า เห็นด้วยโดยหลักการแต่ในรายละเอียดต้องการหารือกัน เพราะจริงๆแล้วประชาชนควรมีมาตรฐานรักษาพยาบาลเดียวกัน แต่ทุกวันนี้ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินเพื่อรักษาตัวเอง 1.5% ของเงินสมทบ การรวมกองทุนมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ที่สำคัญคือทุกคนควรได้รับการดูแลจากรัฐที่เท่าเทียมกัน มีมาตรฐานเดียวกัน

วันเดียวกัน น.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กรุงเทพมหานคร และนายสหัสวัต คุ้มคง สส.ชลบุรี พรรคประชาชน แถลงข่าว ว่ากองทุนประกันสังคม สามารถลงทุนนอกตลาดหุ้นหรือซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ โดยปี 2565 กองทุนประกันสังคมซื้อตึกสำนักงานใหญ่แห่งหนึ่งในย่านพระราม 9 โดยตึกนี้ไม่ใช่เพิ่งสร้างเสร็จ แต่ช่วงต้มยำกุ้งเคยเป็นตึกร้าง และมีบริษัทที่มารีโนเวท ก่อนที่ประกันสังคมจะมีการปรับแก้ระเบียบ ศึกษา และเป็นที่มาของการตัดสินใจลงทุนครั้งนี้

“ช่วงปลายปี 2565 ที่กองทุนประกันสังคมตัดสินใจซื้อ มีการทำแผนที่สวยหรูเกินจริง ระบุว่าผลตอบแทนที่ได้จะเหมาะสม แต่พบอัตราทำกำไรหรือการเช่าอยู่ที่ประมาณ 1-2% เท่า หลังจากนั้น 2 ปีมีการเช่าใช้ตึก 40% แต่ตัวเลขจริงอาจจะอยู่แค่ 20-30% โดยในปี 2567 ตึกนี้ทำกำไรอยู่ที่ 40 ล้านบาท แต่ค่าบริหารจัดการของตึกรวมอยู่ที่ 50 ล้านบาท หากทำกิจการด้วยอัตราแบบนี้ต่อไปก็จะติดลบทุกปีแล้วจะกำไรตอนไหน”น.ส.รักชนก กล่าว

น.ส.รักชนก กล่าวว่าทำไมกองทุนประกันสังคมถึงตัดสินใจใช้เงิน 7,000 ล้านบาท ในการลงทุนตึกแห่งเดียว แทนที่จะไปลงทุนสินทรัพย์นอกตลาดอื่น ๆ ตึกแห่งนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในช่วงโควิด-19 มีการประเมินมูลค่าของตึกนี้ไว้เพียง 3,000 ล้านบาทเท่านั้น ตนเองอยากรู้ว่าเจ้าของตึกนี้มีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใด หรือมีความเกี่ยวข้องกับใครบ้าง

นายสหัสวัต กล่าวว่าโดยปกติกองทุนประกันสังคม จะทำแผนการลงทุน 5 ปี ซึ่งจะเป็นกรอบการลงทุนภาพรวม โดยคนที่จะตัดสินใจจริงๆ คือคณะอนุกรรมการที่จะพิจารณาแผนลงทุนรายปี ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินนอกตลาด คือ เลขาธิการประกันสังคม จากข้อมูลพบว่าปี 2565 กองทุนประกันสังคมมีความพยายามจะลงทุนนอกตลาดมากขึ้น จึงตั้งคำถามถึงการแทรกแซงของฝ่ายการเมือง ผู้ที่มีอำนาจในการสั่งโยกย้ายข้าราชการ เช่นโยกย้ายเด็กหน้าห้องของตนเองมาอยู่ในกลุ่มบริหารความเสี่ยงและกำกับการลงทุน ซึ่งเป็นคนทำแผนรายปีในการตัดสินใจว่าจะซื้อสินทรัพย์อะไร จากนั้นมีการตั้งคณะอนุกรรมการลงทุนนอกตลาด ซึ่งมีที่ปรึกษาอดีตรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานเข้ามาอยู่ในคณะนี้ด้วย

“ที่ผ่านมาประกันสังคมไม่เคยเปิดเผยการลงทุน อดีตรัฐมนตรีกระที่รวงแรงงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้หรือไม่ เงินทุกบาททุกสตางค์ของผู้ประกันตนต้องโปร่งใส หากการลงทุนของกองทุนประกันสังคมมีปัญหาและมีการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ โครงสร้างของประกันสังคมก็มีปัญหาต้องมีการปฏิรูป ฝากถึงนายกรัฐมนตรีด้วยว่าควรจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนบุคคลที่ซื้อตึกนี้ และคนที่มีอำนาจในการซื้อตึกนี้ หรือนายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ อดีตเลขาธิการประกันสังคม ปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน ควรจะตั้งคณะกรรมการสอบสวนย้อนหลัง เพราะไม่ควรมีการซื้อตึกแปลก ๆ แบบนี้อีก”นายสหัสวัต กล่าว

————

On Key

Related Posts

“โรม”แนะรัฐใช้มาตรการเข้มกับ “ว้า”หลังพบเป็นต้นเหตุสารพันปัญหาทั้งยาเสพติด-ทำเหมืองทองต้นแม่น้ำ-รุกล้ำชายแดน กมธ.ความมั่นคงเตรียมลงพื้นที่เชียงรายสอบข้อเท็จจริงสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก-สาย เตือนระวังชาวบ้านถาม “มีรัฐบาลไว้ทำไม”

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2568 นายรังสิมันต์ โรม ประธาRead More →