Search

กรมควบคุมมลพิษลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำกก-ตรวจสารไซยาไนด์เหมืองทอง คาดรู้ผลภายใน 1 เดือน นักวิชาการเผยทหารว้าจับมือจีนแผ่อิทธิพลถึงชายแดนไทยใช้กลยุทธ์คุมต้นน้ำ-สร้างเหมืองกระทบไทย



เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2568 นายชัยวัฒน์ ปันสิน ผู้อำนวยการส่วนตรวจบังคับการ สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 (เชียงใหม่) พร้อมคณะ รวมทั้งปลัดอาวุโสอำเภอแม่อาย ตัวแทนสาธารณสุขอำเภอ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าตอน กำนันและชุดทหารในพื้นที่ ได้ร่วมกันลงพื้นที่แม่น้ำกก ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำภายหลังมีประชาชนร้องเรียนกรณีที่น้ำในแม่น้ำกกมีสีขาวขุ่นผิดปกติจากช่วงฤดูแล้งปีก่อนๆเนื่องจากมีการทำเหมืองทองบริเวณริมแม่น้ำกกในเขตรัฐฉาน ประเทศพม่าซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทยประมาณ 36 กิโลเมตร ทำให้ชาวบ้านหวั่นเกรงจะมีสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก



นายชัยวัฒน์ให้สัมภาษณ์ว่า ได้เก็บตัวอย่างน้ำใน 3 จุด คือจุดบริเวณชายแดน จุดสะพานไทยมิตรภาพและจุดบ้านผาใต้ แต่น้ำจะปนเปื้อนหรือไม่ต้องเข้าตรวจในห้องปฎิบัติการใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ดังนั้นจึงยังไม่ได้บ่งชี้ ซึ่งเท่าที่ดูสภาพน้ำเคยเจอหลังฝนตก โดยทางกายภาพไม่ห่วง แต่ที่ห่วงคือการปนเปื้อนสารโลหะหนัก

น้ำกกช่วงที่ผ่านเมืองเชียงรายสีขาวขุ่น



“จริงๆแล้วการตรวจค่าปกติในลำน้ำ เราสามารถตรวจให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน หรือก่อนสงกรานต์ แต่นี่ต้องตรวจไซยาไนด์ด้วย เพราะชาวบ้านเล่าว่ามีเหมืองทองอยู่ด้านบน ทำให้ต้องส่งไปตรวจในส่วนกลางที่กทม.จึงต้องใช้เวลาราว 1 เดือน”นายชัยวัฒน์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าในช่วงสงกรานต์ที่ประชาชนเล่นน้ำสงกรานต์บริเวณแม่น้ำกก มีคำแนะนำอย่างไร นายชัยวัฒน์กล่าวว่า แต่ละคนต่างมีภูมิคุ้มกันไม่เหมือนกัน บางคนอาจไม่ได้รับผลกระทบ แต่บางคนอาจมีภูมิคุ้มกันน้อยก็ต้องระมัดระวัง ดังนั้นการที่จะลงไปเล่นน้ำจึงต้องพิจารณาให้ดี และหากร่างกายมีความรู้สึกผิดปกติต้องรีบออกจากจุดนั้น ซึ่งแต่ละคนควรรู้ตัวเอง

รศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช นายกสมาคมภูมิภาคศึกษาและอาจารย์ประจำสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มีการขุดเหมืองทองบริเวณริมแม่น้ำกกตอนบนและต้นแม่น้ำสาย โดยกองกำลังว้า(United Wa State Army -UWSA) ซึ่งควบคุมพื้นที่ชายแดนพม่า-ไทยบริเวณภาคเหนือตอนบนได้ให้สัมปทานกับชาวจีน ส่งผลกระทบข้ามแดนทำให้น้ำสายและน้ำกกขุ่นข้นในหน้าแล้งว่า กลุ่มว้าแดงได้ขยายถิ่นฐานลงใต้ จีนเองก็ใช้ยุทธศาสตร์ลงใต้เช่นกัน UWSA ตรงว้าใต้ มักใช้กลยุทธ์คุมต้นน้ำ คุมแหล่งน้ำ แต่ขณะเดียวกันก็ทำเหมืองแร่ การสร้างรัฐว้าให้มี autonomy ระดับสูง สะท้อนความเป็นอิสระของว้าในการจัดการปกครองตนเอง แต่ความอิสระนั้นกลับกระทบรัฐไทย ทั้งเรื่องการรุกล้ำดินแดน และ การก่อมลภาวะต่อต้นน้ำ แม่น้ำกก แม่น้ำสาย หรือ แม่น้ำลาง ล้วนได้รับผลกระทบจากว้าทั้งสิ้น

รศ.ดุลยภาคกล่าวว่า จีนเองก็มองแม่น้ำระหว่างประเทศอยู่แต่ในกรอบอธิปไตยตนเป็นหลัก การสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงของจีนที่กระทบต่อรัฐลุ่มน้ำโขงปลายน้ำมาหลายปี คือ ตัวอย่างที่ชี้ชัด เมื่อการคุมต้นน้ำของกลุ่มว้าและจีนมาผสมกัน ความเสี่ยงจึงตกมาที่ไทย น้ำกก น้ำสาย น้ำรวก อยู่ในเครือข่ายลุ่มน้ำโขง มลภาวะจากเหมืองทองจึงส่งผลต่อคุณภาพแม่น้ำโดยรวมด้วย

“ขณะที่น้ำท่วมแม่สาย รัฐไทยต้องสูญเสียงบจำนวนมากในการฟื้นฟู  แต่บ่อเกิดมาจากการทำเหมืองของนายทุนและกองกำลังชาติพันธุ์ในเขตต้นน้ำ สามจังหวัดชายแดนไทยภาคเหนือ ตลอดจนลุ่มน้ำโขง สาละวิน และเอเชียอาคเนย์ตอนบนกำลังเผชิญกับภัยคุกว้คามบางอย่างที่เกิดจากทุนนิยมผสมกับการขยายอำนาจเชิงยุทธศาสตร์ของมังกรจีนและว้าแดง” รศ.ดุลภาค กล่าว

On Key

Related Posts

“โรม”แนะรัฐใช้มาตรการเข้มกับ “ว้า”หลังพบเป็นต้นเหตุสารพันปัญหาทั้งยาเสพติด-ทำเหมืองทองต้นแม่น้ำ-รุกล้ำชายแดน กมธ.ความมั่นคงเตรียมลงพื้นที่เชียงรายสอบข้อเท็จจริงสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก-สาย เตือนระวังชาวบ้านถาม “มีรัฐบาลไว้ทำไม”

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2568 นายรังสิมันต์ โรม ประธาRead More →