
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2568 ด้านนายฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สมาชิกผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต พรรคประชาชน ให้สัมภาษณ์กรณีศูนย์การเรียนรู้คณะศรีชุมพาบาล (Good Shepherd School Phuket) ซึ่งช่วยจัดการเรียนการสอนและอบรมให้กับเด็กชาวพม่ากว่า 300 คนในภูเก็ต ถูกปิดลงหลังจากที่ไม่สามารถขออนุมัติให้เปิดการเรียนการสอนได้ตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ ทำให้เด็กกว่า 300 คน เสี่ยงสูญเสียโอกาสทางการศึกษา ว่าศูนย์การเรียนดังกล่าวมีเด็กนักเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของคนพม่า ซึ่งเป็นเด็กที่เกิดในประเทศไทย แต่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย โดยมูลนิธินี้มีเป้าหมายที่จะให้การศึกษากับเด็กกลุ่มนี้ที่ไม่สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนทั่วไปได้
สส.ภูเก็ตกล่าววว่า อย่างไรก็ตามเนื่องจากข้อกฎหมายในประเทศไทย การที่มูลนิธิจะเปิดการเรียนการสอนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย จำเป็นต้องขออนุญาตจากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งทางมูลนิธิได้ยื่นขออนุมัติแล้ว แต่ไม่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวง ฯ เนื่องจากยังไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบและข้อกำหนดที่มี ถึงแม้ว่าจะมีปัญหาด้านการขออนุมัติ แต่ทางมูลนิธิก็ยังคงทำงานต่อไปโดยมุ่งเน้นการให้การศึกษาแก่เด็ก ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กกลุ่มนี้เติบโตขึ้นมาโดยขาดการศึกษาที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในสังคม
นายฐิติกันต์ กล่าวต่อว่าหลังจากศูนย์การเรียนถูกปิดไป เด็ก ๆ ที่เคยเข้าเรียนที่มูลนิธิจะต้องเผชิญกับผลกระทบหลายประการ ข้อแรกคือ ความคุ้มค่าของการเรียน เพราะศูนย์การเรียนที่มูลนิธินั้นไม่มีค่าใช้จ่ายสำหรับเด็ก ๆ หากต้องไปเรียนในโรงเรียนของรัฐ อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่ไม่แน่ชัดว่าจะเป็นภาระสำหรับครอบครัวหรือไม่ ข้อสองคือหากรัฐบาลต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการศึกษาเด็กเหล่านี้อาจจะเป็นภาระทางภาษีซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อลูกหลานของคนไทยในอนาคต ซึ่งการมีมูลนิธิที่จัดการเรียนการสอนอาจจะดีกว่า เนื่องจากช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับการศึกษาโดยไม่ต้องมีภาระทางการเงินมากมาย แต่แน่นอนว่าควรให้กระทรวงศึกษาธิการเข้ามาควบคุมดูแลและให้การศึกษานั้นเป็นไปตามหลักสูตรของประเทศไทย
“ข้อเสนอในเรื่องการแก้ไขปัญหาขณะนี้ เราควรเริ่มจากการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ที่จะได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเกิดที่ไหนหรือสัญชาติใดก็ตาม เด็กที่เกิดในประเทศไทยไม่ควรถูกปฏิเสธสิทธิในการศึกษาหรือถูกจำกัดด้วยข้อกฎหมายที่อาจไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ รัฐควรจะมีการปรับแก้กฎระเบียบที่ขัดขวางการให้การศึกษากับเด็กกลุ่มนี้ อาจต้องมีการทำงานร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดในการให้การศึกษากับเด็ก ๆ โดยไม่ละเลยสิทธิพื้นฐานของพวกเขา” นายฐิติกันต์กล่าว
ขณะที่นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group -MWG) กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในจังหวัดภูเก็ตว่า ระบบการจัดการต่าง ๆ ยังไม่เป็นระเบียบและมีความไม่ลงตัวหลายด้าน โดยเฉพาะในด้านการจัดการแรงงานข้ามชาติและการศึกษาของเด็กต่างชาติในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งพบปรากฏการณ์แปลก ๆ ที่ไม่เคยเห็นในจังหวัดอื่น ๆ ภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีอัตราการเกิดของแรงงานต่างชาติที่มากผิดปกติและเป็นการทำคลอดโดยหมอตำแย ซึ่งปกติจะพบปรากฏการณ์นี้ในจังหวัดชายแดนมากกว่า
นายอดิศรกล่าวว่า ในฐานะที่ภูเก็ตเป็นจังหวัดท่องเที่ยวและมีการพยายามพัฒนาให้เป็น Medical Hub สำหรับนักท่องเที่ยว การพบปัญหานี้แสดงให้เห็นถึงการจัดการที่ยังไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการศึกษาในภูเก็ต ซึ่งมีโรงเรียนสำหรับเด็กต่างชาติที่มีสัญชาติจีนและรัสเซียจำนวนมาก ทั้ง ๆ ที่ภูเก็ตมีแรงงานข้ามชาติจากประเทศพม่าเป็นจำนวนมาก ทำให้การจัดการการศึกษาของเด็กต่างชาติในจังหวัดนี้ดูไม่เหมาะสมและน่าสงสัย การเข้าโรงเรียนของเด็กแรงงานข้ามชาติยังคงเป็นปัญหา แม้จะมีกฎหมายรองรับ แต่การเข้าถึงบริการต่าง ๆ โดยเฉพาะในระบบการศึกษาก็ยังมีข้อจำกัด
นายอดิศร กล่าวต่อว่า ในกรณีของศูนย์การเรียนที่พยายามแก้ไขปัญหานี้ โดยการสอนภาษาไทยให้กับเด็กเพื่อให้สามารถเข้าเรียนในระบบการศึกษาของไทยได้ แต่ปัญหาที่แท้จริงคือการขาดความเข้าใจในปัญหาทั้งหมด ซึ่งนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงการเปิดเผยคลิปที่สร้างความเสื่อมเสียให้กับภาพลักษณ์ของจังหวัด ซึ่งหากดูตามกฎหมายแล้ว ศูนย์การเรียนสามารถเปิดได้ เนื่องจากเด็กข้ามชาติไม่สามารถเข้าเรียนในระบบการศึกษาของไทยได้ แต่ปัญหาคือการจัดการในเชิงระบบยังขาดความเข้าใจที่แท้จริง
“เนื่องจากมีความกังวลว่าเด็กๆที่เป็นลูกแรงงานข้ามชาติจะเป็นภาระต่อสังคม แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าไม่ให้เด็กเหล่านี้เข้าเรียน ก็จะพบปัญหาการขาดแคลนสถานที่เรียน ปัญหานี้ทำให้เกิดการพยายามเปิดศูนย์การเรียนเพื่อรองรับเด็กเหล่านี้ แต่ก็มีเสียงวิจารณ์กลับมา มองว่าเป็นการใช้เงินภาษีของคนไทยมาสร้างภาระเพิ่มเติม ทำให้เกิดความไม่เข้าใจในมิติของการอยู่ร่วมกันในสังคม”นายอดิศร กล่าว
ผู้ประสานงานMWG กล่าวว่าเศรษฐกิจของภูเก็ตที่เป็น 1ในจังหวัดที่มีรายได้สูงที่สุดของประเทศไทย ขึ้นอยู่กับแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ท่องเที่ยว ก่อสร้าง และประมง เป็นต้น แต่การจัดการและการเก็บข้อมูลในเรื่องนี้ยังคงขาดการพัฒนาอย่างมาก ทำให้เกิดปัญหาการขาดข้อมูลในการจัดการ ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงแบ่งออกเป็น 2 ประเด็นหลัก คือระบบการจัดการยังไม่ดี และทัศนคติของสังคมที่ยังไม่พร้อมในการแก้ไขปัญหาด้วยการเปิดโอกาสให้แรงงานข้ามชาติสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างเต็มที่ ความไม่เข้าใจในมิติของการอยู่ร่วมกันทำให้กระแสสังคมกลายเป็นการผลักไสกลุ่มคนเหล่านี้ออกไปแทนที่จะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา
ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า การแก้ไขปัญหานี้จำเป็นต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนอย่างจริงจัง โดยควรมีการตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมสำหรับการจัดการการศึกษาของเด็กแรงงานข้ามชาติ ควรมีการพัฒนาศูนย์การเรียนเพื่อเตรียมเด็กให้พร้อมสำหรับการเข้าเรียนในระบบการศึกษาของไทย โดยไม่จำเป็นต้องสอนระยะยาว แต่ให้เด็กได้เรียนรู้ภาษาไทยเพื่อเตรียมตัวเข้าระบบการศึกษาได้ในอนาคต ซึ่งการทำงานร่วมกันระหว่างศูนย์การเรียนและโรงเรียนก็สามารถช่วยให้เด็กเหล่านี้สามารถเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อย่างราบรื่น แม้จะมีปัญหาอยู่ แต่ภูเก็ตยังมีโอกาสในการพัฒนาในเรื่องนี้ได้“พบว่ามีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ในสภาพที่ไม่ดีนัก เช่น พักอาศัยในที่พักที่ไม่เหมาะสม ทำให้ภาพลักษณ์ของภูเก็ตดูไม่สอดคล้องกับการเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ต้องการนำเสนอ ที่น่ากังวลคือการจัดการการศึกษาที่ไม่ลงตัวในภูเก็ต ซึ่งมีทั้งโรงเรียนรัฐ โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนนานาชาติ รวมถึงศูนย์การเรียนต่าง ๆ แต่กลับไม่สามารถหาจุดลงตัวที่เหมาะสมในการจัดการกับเด็กที่เป็นลูกหลานของแรงงานข้ามชาติ”นายอดิศร กล่าว
“พบว่ามีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่ในสภาพที่ไม่ดีนัก เช่น พักอาศัยในที่พักที่ไม่เหมาะสม ทำให้ภาพลักษณ์ของภูเก็ตดูไม่สอดคล้องกับการเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ต้องการนำเสนอ ที่น่ากังวลคือการจัดการการศึกษาที่ไม่ลงตัวในภูเก็ต ซึ่งมีทั้งโรงเรียนรัฐ โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนนานาชาติ รวมถึงศูนย์การเรียนต่าง ๆ แต่กลับไม่สามารถหาจุดลงตัวที่เหมาะสมในการจัดการกับเด็กที่เป็นลูกหลานของแรงงานข้ามชาติ”นายอดิศร กล่าว