Search

ข้อชี้แนะจากผู้เชี่ยวชาญ “สมพร เพ็งค่ำ” การตรวจสารปนเปื้อนจากเหมืองทองต้นน้ำกก-น้ำสาย

การตรวจพบเหมืองทองริมแม่น้ำกกและการเปิดหน้าดินบริเวณกว้างในเขตเมืองสาด ตอนใต้ของรัฐฉาน ประเทศพม่า ซึ่งอยู่ห่างจากชายแดนไทยด้าน อ.แม่อายเพียงไม่กี่กิโลเมตร เช่นเดียวกับก่อนหน้านั้นที่มีการตรวจพบเหมืองทองที่ต้นแม่น้ำสาย ทำให้รู้ถึงสาเหตุความผิดปกติของสีน้ำในแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย

 ปกติในช่วงฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายจะใสแจ๋ว แต่หลายปีที่ผ่านมาแม่น้ำสายกับขุ่นข้น และวันนี้น้ำในแม่น้ำกก็สีขุ่นข้นเชียนเดียวกัน ซึ่งนับจากเหตุอุทกภัยใหญ่เมื่อเดือนกันยายน 2567 สีสายน้ำแห่งนี้ไม่เคยสดใสอีกเลย

ความตื่นตระหนกของประชาชนเพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะหากสีของแม่น้ำกกและน้ำสายขุ่นข้นจากเหตุการทำเหมืองทองชายแดนรัฐฉานจริง ซึ่งชาวบ้านเล่าวว่ากองกำลังว้าอนุญาตให้ชาวจีนมาดำเนินการ นั่นหมายความว่าได้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศครั้งใหญ่ของลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำสาย

ขณะที่ความปลอดภัยของคนใช้น้ำถูกตั้งข้อสงสัยและถูกตั้งคำถาม แม้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ได้สั่งการให้กรมควบคุมมลพิษและหน่ายงานที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำ แต่ผลก็ยังไม่ออกมาชัดเจน ที่สำคัญไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร คำถามที่สำคัญที่สุดคือ ชุมชนคนไทยที่อยู่ท้ายน้ำคิดอย่างไรกับการมีเหมืองทองที่ต้นน้ำกก-น้ำสาย

“ก่อนอื่นเราต้องรู้ว่าจะตรวจอะไร ต้องดูแหล่งกำเนิดของมลพิษ เส้นทาง พื้นที่มลพิษ และโอกาสในการได้รับสัมผัส” สมพร เพ็งค่ำ นักวิจัยอิสระซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งและควบตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาระบบประเมินผลกระทบทางสุขภายโดยชุมชน ( Community Health Impact Assessment Platform หรือCHIA Platform) เริ่มต้นฉายภาพของกระบวนการในการตรวจสอบสารปนเปื้อนในน้ำและดินที่อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนและระบบนิเวศ

“กรณีแม่น้ำกก แม่น้ำสาย เราเห็นปรากฏการณ์คือน้ำขุ่นผิดธรรมชาติ สมุติฐานคือตะกอนดินขุ่น ถูกชะลงมาจากต้นน้ำในรัฐฉาน เรามีสมมุติฐานว่าเกิดจากเหมืองทอง ก็ต้องดูความเสี่ยง ก่อนตรวจก็ต้องดูว่าสายแร่ทองนั้นมีสารหนูปนเปื้อน หากมีการแต่งทองจะใช้สารปรอทและไซยาไนด์ (Cyanide)  เป็นตัวชี้วัดว่าเราจะตรวจหาสารอะไร” สมพรมีประสบการณ์ในการตรวจสอบสารพิษจากเหมืองในหลายกรณีโดยเฉพาะในลำห้วยคลิตี้ จ.กาญจนบุรี จึงสามารถกำหนดโจทย์สำหรับแม่น้ำกก-สายได้ไม่ยาก

“หากไม่กำหนดโจทย์ตั้งแต่แรก ก็จะเป็นการตรวจคุณภาพน้ำทั่วๆไป เช่น ความขุ่น ค่าออกซิเจน แต่กรณีนี้จำเป็นที่ต้องดูมลพิษที่เราตั้งสมมุติฐานว่ามาจากเหมืองทอง การตรวจหาปรอท สามารถตรวจการสะสมของปรอทในปลา สารปรอทไม่สามารถตรวจจากดินน้ำ ต้องดูการสะสมของสารปรอท การปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหาร หากมาจากน้ำสู่ระบบนิเวศ เข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร แพลงตอน ลูกกุ้งลูกปลาที่กินตะกอนดิน ปรอทจะเข้าสู่สัตว์เล็ก ปลากินลูกกุ้ง ก็สะสมไปเป็นชั้นๆ ในห่วงโซ่อาหาร จึงต้องตรวจจากปลาใหญ่ ปลานักล่า หากเราไปตรวจจากน้ำ แล้วบอกว่าน้ำนั้นปลอดภัย แบบนี้ไม่ได้เพราะตรวจผิด”

สมพรอธิบายว่า สารปรอทอยู่ในตะกอนดิน และพบในห่วงโซ่อาหาร ความเป็นพิษที่จะกระจายในดิน เรารับสัมผัสความเป็นพิษมาอาจน้อย แต่เมื่อสารปรอทเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร พิษจะมากขึ้นเรื่อยๆ กลไกที่ย่อยเข้าสู่ปลา คนกินปลาเมื่อเข้าสู่คนก็เพิ่มขึ้นเป็นหมื่นเท่าแสนเท่า อันตรายของปรอทเป็นที่ตระหนักในระดับนานาชาติ สหประชาชาติมีอนุสัญญามินามาตะให้หยุดการใช้ปรอท เพราะความอันตรายสูง หากเราไม่รู้ว่าตรวจอย่างไรสะสมอย่างไร ก็จะไม่พบ

“เราต้องกำหนดการชี้วัดให้ถูกต้องจึงจะพบว่ามีสารพิษจากการทำเหมืองแม่น้ำกก แม่น้ำสาย หรือไม่ อย่างไร

ส่วนสารไซยาไนด์ มีลักษณะที่สลายตัวง่ายเมื่อเจอแสงแดด หากเหมืองทองต้นน้ำใช้ไซยาไนด์ เมื่อน้ำไหลมาถึงบ้านเราโอกาสเจอน้อย หากเจอถือว่ามีความเข้มข้นสูง เพราะระหว่างทางไหลมาก็จะสลายไป สารไซยาไนด์จะเสี่ยงกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เหมืองมากกว่า สำหรับชุมชนฝั่งไทย ที่น่าห่วงคือสารหนู เหมืองทอง มีแร่ไพไรต์ การสกัดทองมีสิ่งถูกทิ้งคือสารหนู ซึ่งมีอันตราย ปะปนมากับดินและน้ำ

“การตรวจในกรณีโคลนที่ปนเปื้อน การตรวจมลพิษจากเหมืองทอง แนะนำว่าตรวจการสะสมของสารปรอทจากปลา หรือตรวจเส้นผมของมนุษย์ที่กินปลาจากแหล่งน้ำ  สำหรับการตรวจสารหนู คือตรวจดิน น้ำ”

เมื่อถามถึงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทั้งน้ำกกและน้ำสายที่ขุ่นในตอนนี้ สมพรเห็นว่าสามารถเก็บตัวอย่างไปตรวจได้เลย เมื่อผลออกก็สามารถสื่อสารกับชาวบ้านได้ ขณะเดียวกันการนำน้ำมาใช้ผลิตน้ำประปา ต้องมีกระบวนการบำบัดสารหนูด้วย

“การเล่นน้ำช่วงเทศกาลสงกรานต์ หากในน้ำมีสารปนเปื้อน อาจมีอาการระคายเคืองและคันเป็นผื่น หากคนแพ้ง่ายจะเป็นแผลพุพอง”

ผู้เชี่ยวชาญรายนี้ยังอธิบายต่อไปว่า หากเรายังจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษไม่ได้ ก็ต้องดำเนินการเพื่อป้องกัน เพราะไม่ใช่เป็นดินหรือน้ำจากแหล่งธรรมชาติทั่วไป การที่กรมควบคุมมลพิษได้นำตัวอย่างน้ำจากแม่น้ำกกไปตรวจต้องดูว่าตรวจอะไร ทำไมจึงตรวจตัวนี้ ก่อนตรวจเราต้องตั้งสมมุติฐานก่อน ว่ามีกิจกรรมอะไร มีมลพิษอะไรจึงตรวจหาอันนั้น

เมื่อถามถึงดินโคลนมหาศาลที่ไหลมากับน้ำจนกลายเป็นสึนามิโคลนถล่มเมืองเชียงรายและแม่สายเมื่อปีที่แล้วมีความเสี่ยงปนเปื้อนด้วหรือไม่ สมพรกล่าวว่า ควรตรวจสอบไว้ก่อน เพราะโคลนหากมาจากการทำเหมือง ก็มีโอกาสปนเปื้อนสารเคมีอันตรายได้ ที่สำคัญคือเรื่องการสื่อสารความเสี่ยง เราจำเป็นต้องตรวจวิเคราะห์ให้มั่นใจก่อน ว่ามีมลพิษอะไร จะต้องตรวจอะไร อย่างไร

“เช่นพื้นที่แม่สาย หากรู้ว่าโคลนมาจากเหมืองทอง ก็ต้องตรวจเก็บตัวอย่างเส้นผมของผู้หญิงที่บริโภคปลาจากแหล่งน้ำนี้เป็นประจำ หากพบความเชื่อมโยงก็จะเป็นหลักฐานให้สามารถเฝ้าระวังอย่างเป็นระบบ และสามารถนำไปคุยกับฝั่งพม่าเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันได้”

สมพรกล่าวว่าโดยหลักการ เหมืองไม่ควรอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำอยู่แล้ว และกฎหมายควบคุมต้นน้ำไว้ให้เป็นแหล่งน้ำที่ต้องรักษา แต่ในกรณีแม่น้ำข้ามพรมแดน อาเซียนก็ไม่มีกฎหมายประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพข้ามพรมแดน โดยเฉพาะในประเทศพม่ายิ่งมีข้อสงสัยในมาตรฐาน ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ซับซ้อนมาก สถานการณ์แบบนี้เราจะคุยแบบไหน จะใช้กฎหมายอะไรในการควบคุม จะให้ทางการพม่าใช้กฎหมายพม่าควบคุมได้หรือไม่ แต่เวลานี้การเมืองประเทศพม่าก็ไม่ปกติ ดังนั้นที่พอจะทำได้คือเก็บข้อมูลของบ้านเราให้ชัดเจน แล้วนำผลไปเจรจากับผู้ที่มีอำนาจ เราสามารถใช้ประเด็นสุขภาพเป็นธงนำ

ปัจจุบันการตรวจสอบคุณภาพน้ำมักเป็นการตรวจทั่วๆไปที่นำตัวอย่างน้ำไปตรวจพร้อมกับคำตอบว่า “ปกติ”ซึ่งสมพรตั้งคำถามว่า ปกติที่ว่าคืออะไร?

“คำว่าปกติ อาจหมายถึงคุณภาพน้ำทั่วไป เช่น ค่าออกซิเจน ค่าความขุ่น อยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่หากไม่ตรวจหาการปนเปื้อนในตะกอนดิน ฯลฯ หากไม่ตรวจก็คือไม่มีข้อมูล ปกติแค่ค่าที่ตรวจ หากค่าอื่นไม่ได้ตรวจก็ไม่สามารถพูดได้ว่าไม่มี

“ที่น่ากังวลใจคือคนที่อาศัยตรงนั้น ชุมชนที่ใช้น้ำประปา ชาวบ้านที่ใช้แหล่งน้ำ กินอาหารจากธรรมชาติ หากเราปล่อย ไปไม่ตรวจและป้องกันตั้งแต่วันนี้ ผ่านไป 5 ปี 10 ปี เกิดการเจ็บป่วยในประชาชนเราจะแก้ได้ยาก”

สมพรระบุว่า มลพิษที่ส่งผระทบต่อสุขภาพเป็นเรื่องซับซ้อน ความรู้เรื่องมลพิษก็มีอยู่จำกัด เช่น กรณีโรงไฟฟ้าหงสาลิกไนต์ ซึ่งอยู่ติดชายแดนประเทศไทยด้าน จ.น่าน การสะสมของค่าโลหะหนักต่างๆ บางสารเมื่อเผาแล้วกลายเป็นไอ เกาะมากับฝุ่น PM2.5

“ความรู้เรื่องมลพิษเรามีจำกัด แล็บที่ตรวจวัดก็มีจำกัด การตรวจวัดก็ใช้ความรู้ความเฉพาะทางมากๆ ถึงแม้ตรวจเจอแล้ว จะจัดการอย่างไร

“ยิ่งเมื่อเป็นเรื่องข้ามแดน จะใช้กฎหมายของประเทศไหน กฎหมายสิ่งแวดล้อมของไทยก็นำไปบังคับใช้ในประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้ แต่เราเป็นประเทศท้ายน้ำ โดนผลกระทบแบบนี้ จะมีอาเซียนหรือหน่วยงานระดับภูมิภาคจัดการอย่างไร ต้องยอมรับว่าขณะนี้เราไม่มีกลไกระหว่างประเทศ”

สมพรทิ้งท้ายว่า ผลกระทบข้ามแดนที่เกิดขึ้นที่บ้านเรา เช่น ผลกระทบจากเขื่อนแม่น้ำโขง ฝุ่นพีเอ็มต่างๆ  การสื่อสารประเด็นความเสี่ยง รัฐก็มักใช้ประเด็นเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น จังหวัดทางภาคเหนือไม่สามารถประกาศพื้นที่ภัยพิบัติได้เพราะห่วงผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว การทำเช่นนี้ยิ่งเป็นการซ่อนปัญหา การตัดสินใจแบบนี้ทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข”

On Key

Related Posts

“โรม”แนะรัฐใช้มาตรการเข้มกับ “ว้า”หลังพบเป็นต้นเหตุสารพันปัญหาทั้งยาเสพติด-ทำเหมืองทองต้นแม่น้ำ-รุกล้ำชายแดน กมธ.ความมั่นคงเตรียมลงพื้นที่เชียงรายสอบข้อเท็จจริงสารปนเปื้อนในแม่น้ำกก-สาย เตือนระวังชาวบ้านถาม “มีรัฐบาลไว้ทำไม”

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2568 นายรังสิมันต์ โรม ประธาRead More →