เธอบอกว่าตระกูลของเธออยู่ที่นี่มานายตั้งแต่รุ่นตาทวด
วันนี้เรณู ทะเลมอญ หญิงวัย 40 ปี เชื้อสายอุรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะ กำลังตกอยู่ในกองทุกข์เมื่อนายทุนรายใหม่กำลังก่อสร้างกำแพงในที่ดินผืนเดียวกับบ้านของเธอ
เรณูเป็นกังวลว่า ช่องทางเดินลงหาดและทะเลของพี่ๆน้องๆอุรักลาโว้ยจะถูกปิดกั้น ทำให้การลงมาดูแลเรือยามน้ำขึ้น-ลง หรือเมื่อมีฝนและพายุเข้า เป็นไปอย่างลำบากเพราะต้องอ้อมไปไกล ที่สำคัญคือช่องทางการลงหาดบริเวณนี้ ชาวบ้านใช้กันมานานตั้งแต่ครั้นบรรพบุรุษ จนกลายเป็นเส้นทางสาธารณะของชุมชนไปแล้ว แต่วันนี้กำลังจะถูกปิดลงอีกเส้นหนึ่ง เช่นเดียวกับชะตาชีวิตของชาวเลที่กำลังริบหรี่บนเกาะอันงามกระฉ่อนโลกในท้องทะเลอันดามัน
“เขาพยายามเกลี้ยกล่อมให้แม่ของเธอยอมเซ็นชื่อรื้อถอนบ้านเรือนออกจากที่ดินซึ่งอยู่ติดชายหาด โดยอ้างกรรมสิทธิ์ครอบครองที่ซื้อต่อมาจากนายทุนอีกรายหนึ่ง” เรณูยังคงยืนกรานอยู่ในผืนดินเดิมที่เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพชน แม้เธอและเพื่อนบ้านจะถูกผลักไสไล่ส่ง
ตาขอเรณูชื่อว่านายมะหยม เป็นลูกชายของ “แจกีรี”หรือ “โต๊ะคีรี” ชาวอุรักลาโว้ยรุ่นแรกที่เข้ามาบุกเบิกเกาะหลีเป๊ะร่วมกับเพื่อนๆอีก 2-3 คน จนเป็นหลักฐานยืนยันให้เกาะย่านนี้ยังอยู่ในเขตแดนของสยาม แทนที่จะตกเป็นของมาเลเซียเหมือนเกาะลังกาวี
โต๊ะคีรีมีเมียหลายคน และมีลูกๆอีกจำนวนมาก แต่ชื่อของนายมะหยมถูกลบเลือนให้หายไปเนื่องจากเหตุผลบางประการ ขณะที่แม่ของเรณูซึ่งได้รับที่ดินมรดกจากพ่อคือนายมะหยมให้อยู่ในที่ดินผืนปัจจุบัน ซึ่งอยู่ติดกับทะเลโดยไม่มีใครพูดเข้าใจเรื่องเอกสารสิทธิ์ และไม่คิดว่าจำเป็น เพราะตามวิถีของชาวเล ต่างก็แบ่งกันอยู่ แบ่งกันกิน แบ่งกันใช้ ไม่มีใครคิดที่จะสะสมและเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ
เมื่อกระแสท่องเที่ยวถั่งโถมลงเกาะหลีเป๊ะในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ที่ดินทุกตารางนิ้วมีค่าดั่งทอง ชาวเลคนแล้วคนเล่าถูกขับดันให้ย้ายห่างจากหาดทรายขึ้นไปเรื่อยๆ
สภาพชายหาดที่เต็มไปด้วยต้นมะพร้าว ป่าสน รวมทั้งชุมชนชาวเล ได้ถูกแปลงเป็นรีสอร์ทและโรงแรมสำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว ขณะที่เส้นทางเดินลงชายหาดถูกปิดกั้นด้วยรั้วและกำแพงของรีสอร์ทต่างๆเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของ จนแทบไม่เหลือเส้นทางเดินลงทะเลไว้ให้คนดั้งเดิมย่างผ่าน
“โต๊ะคีรีมอบมรดกที่ดินให้ตาไว้ 25 ไร่ และตาก็แบ่งให้ลูกๆ เรามาทราบทีหลังว่าเอกสารสิทธิ์กลายเป็นชื่อของคนอื่นเสียแล้ว เพราะคนที่เก็บสค.1ไว้ทั้งหมด เป็นลูกหลานอีกสายหนึ่งของโต๊ะคีรี เพราะเขามีความรู้มากกว่าเพื่อน”เรณูเล่าถึงที่มาของการเสียรู้คนเผ่าพันธุ์เดียวกัน
ปัจจุบันที่ดินของเรณูกลายเป็นชื่อของนางดารา ซึ่งเป็นลูกสาวคนหนึ่งของโต๊ะคีรี โดยในเอกสารสิทธิ์ระบุว่ามีอยู่ด้วยกัน 81 ไร่ ซึ่งปัจจุบันทางการกำลังเข้าไปตรวจสอบ เพราะเชื่อว่าอาจมีการทำให้เอกสารสิทธิ์ “บวม” ไปมากกว่า 81 ไร่
เรื่องราวสลับซับซ้อนมากขึ้น เมื่อนายมะหยมได้มอบที่ดินจำนวน 6 ไร่ ให้สร้างเป็นโรงเรียนบ้านเกาะอาดัง ซึ่งอยู่ติดกับบ้านของเรณู แต่นายมะหยมไม่ได้ชี้แนวขอบเขตไว้ชัดเจน เพียงแต่บอกด้วยปากเปล่า และให้ชาวเลที่อยู่ติดโรงเรียนร่วมกันอาศัยบนที่ดินผืนนี้ ซึ่งต่อมาที่ดิน 6 ไร่นี้ได้กลายเป็นที่ดินของราชพัสดุ แต่ปัจจุบันที่ดินของโรงเรียนเหลืออยู่เพียง 2 ไร่ ส่วนที่รอบๆโรงเรียนถูกอ้างการครอบครองโดยลูกหลานนางดารา และมีการนำไปแบ่งขายให้กลับเอกชน รวมถึงที่ดินบ้านของเรณู
“เราไม่มีเอกสารหรือหลักฐานใดๆอ้างกรรมสิทธิ์ มีแค่ข้อเท็จจริงว่าตามอบให้ และพวกเราอยู่ที่นี่กันมานานเป็นร้อยปี แต่ทุกวันนี้พวกเรากลับไม่มีที่อยู่ ทั้งคนฝรั่ง คนไทยมาเที่ยวกันเต็มไปหมด เขาซื้อ-ขายที่ดินกันคึกคัก สิ่งอำนวยความสะดวกสบายมีมากมาย แต่พวกเราแม้แต่หลุมฝังศพก็ยังหาแทบไม่ได้ เพราะสุสานเดิมก็ถูกปิดทางเข้า-ออก ทุกวันนี้เราต้องแอบเจ้าหน้าที่อุทยานฯเอาศพคนตายไปฝังไว้ในป่าบนเกาะอาดัง” ความอัดอั้นตันใจของเรณูถูกระบายออกด้วยเสียงอันสั่นเครือ
แม่ของเรณูและเพื่อนบ้านวัยเดียวกัน 4-5 คนนั่งอยู่บนแคร่ไม้ไผ่ชานบ้าน มองดูคนงานก่อสร้างกำแพงด้วยสายตาอันว่างเปล่า พวกนางอ่อนล้าและอ่อนแรงเกินกว่าจะลุกขึ้นมาสู้รบปรบมือกับนายทุนและกลุ่มอิทธิพลที่เบ่งบานอยู่ในวงราชการและนักการเมืองท้องถิ่นได้
วันนี้เสียงจัดระเบียบชายหาดดังเซ็งแซ่อยู่ทั่วสารทิศสังคมไทย ตั้งแต่หัวหิน ภูเก็ต เกาะพีพี และกำลังจะเกิดขึ้นบนเกาะหลีเป๊ะ แต่เรณูไม่รู้ว่า “คุณระเบียบ”ที่ว่านั่นคืออะไร แต่สิ่งที่เธอหวังใจยิ่งคือการได้อยู่บนผืนดินที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้ต่อไป
บางทีคุณระเบียบและคุณธรรม อาจเป็นคนละคนกัน เขาอาจหน้าตาไม่เหมือนคนที่เรณูอยากรู้จักก็ได้
ความวังเวงยังคงอยู่กับเรณูและชุมชนอุรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะต่อไป