Search

ผู้แทนกะเหรี่ยงแนะเขียนรธน.คุ้มครองสิทธิชาติพันธุ์ เปิดตัวสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป เสนอแนวปฏิรูป-บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ

1

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 เวลา 9.00 น. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ได้มีการเปิดตัวและแถลงข่าว “สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป” โดยมีตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนเดินทางมาร่วมงานกันอย่างคึกคักราว 200 คน อาทิ นายบำรุง คะโยธา ตัวแทนภาคอีสาน นายประหยัด จตุพรพิทักษ์กูล ตัวแทนภาคเหนือ นายจำรูญ สวยดี ตัวแทนภาคตะวันออก นายไมตรี จงไกรจักร์ ตัวแทนภาคใต้ นายนิคม อู่อ่อน ตัวแทนภาคกลาง นายประยงค์ ดอกลำไย ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดิน นายศรีสุวรรณ ควรขจร ตัวแทนกป.อพช. นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ตัวแทนสมัชชาองค์กรเอกชนด้านคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และนายพฤ โอโดเชา ตัวแทนเครือข่ายชาติพันธุ์ ขณะที่สื่อมวลชนให้ความสนใจไปร่วมกันทำข่าวกันจำนวนมาก

ภายหลังการแสดงจุดยืนนายจินดา บุญจันทร์ และนางลาวัลย์ งามชื่น ตัวแทนสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ได้ร่วมกันอ่านประกาศสภาประชาชนฉบับที่ 1/2557 ปฏิรูประเทศไทย ลดความเลื่อมล้ำ เพิ่มอำนาจประชาชน  โดยมีสาระสำคัญ 6 ประการคือ 1. สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงองค์กรภาคประชาชนทุกภาคส่วน เพื่อระดมความความคิดเห็นและจัดทำข้อเสนอต่อการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำรัฐธรรมฉบับใหม่อย่างเป็นอิสระ  2. สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปหรือ เห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ จะต้องกำหนดกรอบทิศทางไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ และกระจายอำนาจไปสู่การเพิ่มอำนาจประชาชน ทั้งเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค นโยบายพื้นฐานแห่งชาติ การใช้อำนาจทางการเมืองโดยตรงของประชาชน ด้วยการกำหนดให้มี “สภาพลเมือง” เป็นอำนาจที่สี่ การกำกับตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การกระจายอำนาจ การปกครองส่วนท้องถิ่น สิทธิในการกำหนดอนาคตเพื่อการพัฒนาในแต่ละท้องถิ่น การขจัดความเหลื่อมล้ำจากการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม ตลอดจนการรักษาไว้ซึ่งหลักการสำคัญที่ว่า ทรัพยากรธรรมชาติเป็นทรัพยากรร่วมของคนไทย การนำไปใช้ประโยชน์ใด ๆ ต้องเป็นไปตามความเห็นร่วมของสังคม

3. สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป เห็นว่าในระยะเวลาประมาณหนึ่งปีของการปฏิรูประเทศ รัฐบาลต้อง เสริมสร้างให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้คนไทยทุกคน ตระหนักและเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศได้อย่างหลากหลายช่องทาง ตลอดจน ไม่ดำเนินการใด ๆ อันจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูป จนกว่าข้อเสนอว่าด้วยการปฏิรูปในแต่ละด้านจะเป็นที่ยุติ และเห็นพ้องต้องกันของสังคม อาทิเช่น การชะลอการให้สัมปทานสำรวจปิโตรเลียมรอบที่ 21 หรือยุติความพยายามในการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไว้ก่อน เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปด้านพลังงาน เป็นต้น

4. สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปที่มาจากการระดมความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วน แต่ด้วยระยะเวลาจำกัดเพียงหนึ่งปี จึงทำได้เพียงบางเรื่องเท่านั้น ดังนั้นต้องมีการวางพื้นฐาน กลไกหรือกฎหมายและมีการกำหนดเงื่อนไขให้มีการดำเนินงานต่อเนื่องไว้ในรัฐธรรมนูญ

5. ในสถานการณ์เร่งด่วน สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป เห็นว่า คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บางคำสั่ง ได้ถูกนำไปปฏิบัติอย่างไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน เช่น คำสั่งที่ 64/2557 และ 66/2557 ซึ่งระบุว่า การปราบปรามหยุดยั้งการบุกรุกการทำลายทรัพยากรป่าไม้ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และ ผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการรื้อถอน ทำลายพืชผล จับกุมเกษตรกรซึ่งเป็นผู้ยากไร้ และได้อยู่อาศัยเดิมในพื้นที่นั้น รวมทั้งอยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหาตามนโยบายคนอยู่ร่วมกับป่าของรัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลควรมีมาตรการกำกับ ดูแล และสั่งการให้หน่วยปฏิบัติของราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดยุติการกระทำดังกล่าว และปฏิบัติตามคำสั่งอย่างเคร่งครัด โดยมีบทลงโทษต่อผู้ฝ่าฝืน

6. เพื่อบรรลุเป้าหมายทั้ง 5 ประการข้างต้น สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป จะดำเนินการให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน โดยสนับสนุนการขับเคลื่อน สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปทั้งในระดับพื้นที่และประเด็นปัญหา สร้างช่องทางการประสานงานที่ภาคประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างทั่วถึง ตลอดจนการสร้างระบบการสื่อสารสู่สาธารณะให้เกิดการรับรู้ได้อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่การติดตามหนุนเสริมและวางแผนการทำงานในระยะยาวต่อไป

ทั้งนี้ สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูปจะมีการเปิดประชุมสภาครั้งแรกในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2557 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

นายประยงค์ ดอกลำใย ผู้แทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินกล่าวว่า แนวทางการจัดการทรัพยากรป่าไม้และที่ดินของรัฐบาลขณะนี้กำลังทำให้สังคมไทยกลับไปเหมือนยุคโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม(คจก.) เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ซึ่งถ้าต้องการปฏิรูปสังคมจริง ควรจะต้องยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ฉบับที่ 64 และ 66 และยกเลิกแผนแม่บททรัพยากรป่าไม้ 2557 เพื่อให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาป่าไม้อย่างมีส่วนร่วม โดยมี 3 สิ่งที่ คสช.ควรเร่งดำเนินงาน คือ 1.ทำอย่างไรให้ที่ดินกว่า 130 ล้านไร่ ซึ่งตกอยู่ในมือของคนเพียงร้อยละ 5 ของประเทศ กระจายการถือครองทรัพยากรที่ดินให้คนจนสามารถเข้าถึงอย่างเท่าเทียม เนื่องจากปัจจุบันมีคนจนไม่มีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินมากถึง 1 ใน 4 ของประชากรประเทศ ทำให้ไม่มีทางเลือก ต้องเข้าไปอยู่ในที่ดินของรัฐ ขณะที่หนึ่งในผู้ที่ถือครองมากที่สุดของประเทศไทยมีที่ดินในมือถึง 630,000 ไร่ ถือเป็นสถานการณ์ความเลื่อมล้ำที่รุนแรง

นายประยงค์กล่าวว่า 2.ประชาชนต้องมีสิทธิในการชุมนุมตามสิทธิพลเมืองในแนวทางประชาธิปไตย ถ้ารัฐธรรมนูญ ปี 2558 ไม่ให้การคุ้มครองการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแก่ประชาชนย่อมจะไม่ใช่การปฏิรูปอย่างแท้จริง 3.สิทธิในการเสนอกฏหมายต้องมีความก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว

“หลังจากการใช้คำสั่ง คสช.ที่64 และ 66 มีชาวบ้านถูกจับกุมดำเนินคดีมากกว่า 12,000 คดี ดังนั้นคนยากคนจน ควรจะมีหลักประกันคุ้มครองในการต่อสู้คดีกับรัฐ เพราะหากเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่แท้จริง เชื่อว่าจะสามารถพิสูจน์ได้ว่าชาวบ้านไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด ปัญหาที่เกิดขึ้นภาคประชาชนจึงเร่งผลักดันผลักดันกฏหมาย 4 ฉบับ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีอัตราก้าวหน้า ร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร และร่าง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่เป็นธรรม” นายประยงค์ กล่าว

นายศรีสุวรรณ ควรขจร กล่าวว่า พลังงานเป็นภาคธุรกิจที่มีการดำเนินการที่ไม่โปร่งใสที่สุด คนที่ตัดสินใจในการจัดการทรัพยากรพลังงานควรเป็นประชาชนด้วยการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะกิจการน้ำมันและไฟฟ้า ต้องผลักดันเรื่องสิทธิชุมชนให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิในการจัดการทรัพยากรด้านพลังงาน โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแนวนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยฝ่ายรัฐจำเป็นต้องส่งสัญญาณให้ชัดเจนถึงสิทธิในการปฏิรูปครั้งนี้ว่า ประเทศต้องเป็นของทุกคน ประชาชนต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูป เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนต้องมีความชัดเจน ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินในเดินหน้าไปด้วยกัน

“เราไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ เป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐต้องโปร่งใส ชัดเจนว่าใครเป็นเจ้าของ ต้องสร้างธรรมภิบาลสิ่งแวดล้อม ประชาชนต้องมีส่วนในการตัดสินใจและจัดการทรัพยากร ยกตัวอย่างการทำเหมืองแร่ทองคำ มีการเร่งขุดทองคำขึ้นมาส่งให้กับต่างประเทศ ทั้งที่ไม่ใช่สินแร่ที่ขาดแคลนจำเป็นต้องขุด รวมถึงแนวทางการพัฒนาประเทศ ที่ไม่ต้องการให้มุ่งเน้นให้เกิดอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หรืออุตสาหกรรมหนัก เพราะถือเป็นการพัฒนาที่ทำลายวิถีชีวิตและทรัพยากรอย่างรุนแรง”นายศรีสุวรรณ กล่าว

นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า ในรัฐธรรมนูณ ปี 2558 ต้องมีการบัญญัติถึงผลกระทบข้ามพรมแดน โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ที่บริษัทของไทยเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ล้วนมีส่วนไปทำลายสิ่งแวดล้อมในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอย่างน้อยที่สุดการเข้าไปดำเนินการโครงการต่างๆ ควรใช้มาตราฐานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเดียวกันกับมาตราฐานของประเทศไทย ไม่ใช่อาศัยความอ่อนด้อยด้านกฏหมายและมาตราฐานของประเทศที่เข้าไปลงทุน จนเกิดผลกระทบรุนแรงต่อประชาชนของประเทศต่างๆ ซึ่งประเทศไทยเองก็เคยมีบทเรียนจากโครงการขนาดใหญ่ในประเทศมากมาย

นายพฤ โอโดเชา  ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงกล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่เคยบัญญัติถึงสิทธิพลเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ สังคมไทยไม่เคยยอมรับการมีอยู่อย่างเท่าเทียมของพวกเรา ไม่ว่าจะเป็นกะเหรี่ยง หรือชาวเล และชาติพันธุ์อื่นๆ แม้แต่ในหลักสูตรการศึกษาของรัฐได้ระบุว่ากะเหรี่ยงเป็นชาวเขา เป็นพวกตัดไม้ทำลายป่า ค้ายาเสพติด คนเมืองคนกรุงเทพฯเป็นผู้อนุรักษ์ แต่ในกรุงเทพมีต้นไม้เหลืออยู่สักกี่ต้น วิถีกะเหรี่ยงที่แท้จริง เราอยู่อย่างสันติ มีภาษาวัฒนธรรม รู้จักต้นไม้ในป่า รู้จักภูเขาทุกลูก สิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญจึงจำเป็นต้องยอมรับในวิถีชีวิตของชาติพันธุ์ต่างๆ และต้องการให้มีเขตสังคมวัฒนธรรมพิเศษของทุกชาติพันธุ์ ไม่ใช่รัฐมุ่งแต่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพียงอย่างเดียว

On Key

Related Posts

ชาวบางกลอยกลุ่มใหญ่ยืนยันเจตนารมณ์กลับดินแดนบรรพชน“ใจแผ่นดิน” หลายภาคส่วนร่วมกันจัดงานรำลึก 11 ปี ‘บิลลี่’ ถูกบังคับสูญหาย-หวังความยุติธรรมปรากฎ “วสันต์ สิทธิเขตต์”แต่งเพลงให้กำลังใจชุมชนถูกกดขี่

ผู้สื่อข่ายรายงานว่า ระหว่างวันที่ 16-17 เมษายน 25Read More →

กองกำลังชาติพันธุ์-PDF ผนึกกำลังครั้งใหญ่เปิดศึกไล่ฐานทหารพม่า บก.ควบคุมยุทธศาสตร์ที่ 12 -มุ่งเป้าตัดเส้นทางเชื่อมต่อเมืองเมียวดี ทัพตัดมะดอว์ส่งบินรบทิ้งระเบิดหนักหน่วงสะกัดกั้น

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2568 พะโดซอตอนี (Padoh Saw TRead More →