เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร(องค์การมหาชน)ได้มีการจัดงานรวมญาติชาติพันธุ์ชาวเล ครั้งที่ 5 โดยมีชาวมอแกน อูรักลาโว้ย มอแกลน ภาคีเครือข่าย นักวิชาการ ผู้แทนส่วนราชการและประชาชน กว่า 200 คนเข้าร่วม
น.ส.ฉัตรพร พระอ๊ะ ผู้แทนชาวเลกล่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีชาวเลอยู่ 41 ชุมชน จำนวน 1.3 หมื่นคน ซึ่งเป็นชนดั้งเดิมหากินในอันดามันกว่า 300 ปี แต่เมื่อมีแผนการท่องเที่ยวและแผนพัฒนาของรัฐทำให้ที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวเลถูกรุกราน แม้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)แก้ไขปัญหาชาวเล แต่ปัญหากลับยิ่งหนักขึ้น เช่น ชาวเลบ้านราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ถูกฟ้อง 101 ราย ชาวเลหลีเป๊ะ จังหวัดสตูลที่อยู่มานานกลายเป็นผู้บุกรุก ส่วนชาวเลบนเกาะพีพี 40 ครัวเรือนมีแนวโน้มถูกไล่ออกจากที่ดินและไร้ที่อยู่อาศัยเพราะเอกชนต้องการที่ดินผืนดังกล่าว ขณะที่ชุมชนชาวเลหลายแห่งมีการประกาศเขตอุทยานฯโดยไม่กันพื้นที่ชาวเลออก ทำให้เกิดปัญหาฟ้องขับไล่
น.ส.ฉัตรพรกล่าวว่า ปัญหาที่ทำกิน เช่น กรณีขุมเขียว ซึ่งเป็นแหล่งหาปลาและจอดเรือของชาวเลบ้านทับตะวัน จังหวัดพังงา มีเอกชนข่มขู่ไม่ให้ชาวเลเข้าไป ขณะที่พื้นที่ชายหาดที่เคยร่อนแร่ก็ถูกห้ามเช่นกัน พื้นที่หากินที่เคยมีอยู่ 25 แห่งในทะเลอันดามันลดเหลือแค่ 2 แห่ง ส่วนพื้นที่พิธีกรรมและสุสานก็ถูกรุกราน 25 แห่ง โดยมีการกั้นรั้วทับและมีการอ้างสิทธิบนสุสาน ทั้งที่สตูล กระบี่ พังงา นอกจากนี้ชาวเลยังมีปัญหาเรื่องภาษา การศึกษา โดยมีผู้จบปริญญาตรีน้อยมาก
“การท่องเที่ยวเป็นสาเหตุสำคัญของการแย่งชิงทรัพยากรและทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ จึงเสนอให้รัฐจัดทำเขตวัฒนธรรมพิเศษของชาวเล ตามหลักสิทธิมนุษยชน เราขอยืนยันว่าเราคือผู้บุกเบิก ไม่ใช่ผู้บุกรุก ดังนั้นต้องคืนสิทธิที่ดิน คืนถิ่นหาปลาให้พวกเรา” น.ส.ฉัตรพร กล่าว
ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานคณะกรรมการบริหารศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร กล่าวว่าเคยเดินทางไปทุกกลุ่มชาวเล เพื่อบันทึกเสียงดนตรีและบันทึกวิถีชีวิต สิ่งที่ชาวบ้านพูดถึงคือการทวงคืนชีวิตชาวเล เพราะระบบการศึกษาไทยไม่ได้ศึกษาชีวิต ทำให้เกิดความละเลย และเป็นความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย ขณะที่ฝรั่งซึ่งอยู่ไกลยังเข้ามาศึกษาวิถีชีวิตชาวเล และสนใจว่าอูรักลาโว้ยและมอแกนยังมีอยู่หรือไม่ แต่คนของเรากลับไม่ได้ศึกษา
“การมาทวงคืนชีวิตของชาวบ้าน เป็นเรื่องสำคัญของชาติไทยมาก ชาวเลเขามาที่นี่ด้วยหัวใจเต็มเปี่ยม อยากให้รับรู้ความเดือดร้อน รากเหง้าของชีวิตทั้งหมดอยู่ที่ชาวบ้าน หากได้ดูแลปกป้องและอุ้มชูโดยรัฐ จะแข็งแกร่งขึ้น หากรัฐพัฒนาเฉพาะมูลค่า ก็ทำให้คุณค่าของชีวิตจะน้อยลง หวังว่าผู้เกี่ยวข้องทุกระดับจะคำนึงถึงคุณค่ามากขึ้น”ดร.สุกรี กล่าว
เวลา 11.00 น.ได้มีเวทีเสวนาเรื่อง “นโยบายกลุ่มชาติพันธุ์ผ่านเรื่องราวชาวเล” โดยนางแสงโสม หาญทะเล ชาวอูรักลาโว้ยบนเกาะหลีเป๊ะ กล่าวว่า เมื่อชาวหลีเป๊ะมีปัญหาก็ยังแจ้งความไม่ได้ เพราะส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในเมืองสตูล หากจะไปแจ้งความต้องหาเงินจ่ายค่าเรือและระหว่างนั้นอาจมีการทำลายทรัพย์สินหรือฆาตกรรม หรือข่มขู่คุกคามชาวเลขึ้นได้ แม้มีมติครม.คุ้มครอง แต่การทำงานระดับปฎิบัติมีปัญหามาก
“ล่าสุดพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ได้ลงไป เกิดอุปสรรคมากมายในการทำแผนที่ทำมือและการจับจีพีเอส โชคดีที่ท่านช่วยไกล่เกลี่ย จนทำงานสำเร็จ แต่ชาวบ้านรายหนึ่งถูกตัดต้นมะพร้าว และมีการก่อสร้างกำแพง เราพยายามให้ชะลอการก่อสร้างก่อน แต่นายทุนยืนยันก่อสร้างต่อไป เขาก่อสร้างกำแพงปิดกั้นเส้นทางชุมชนที่เป็นทางเดินของเด็กนักเรียนไปโรงเรียน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการขึ้นคานเรือเพราะนายทุนทำทุกวิถีทางบีบให้ชาวเลยอมทุกอย่าง เอาเรือขึ้นมาซ่อมก็ต้องขออนุญาต ทั้งๆ ชีวิตเราก็ซ่อมเรือของเราแบบนี้มาเนิ่นนาน ระหว่างที่เราเดินทางมาที่นี่เมื่อวานนี้ นายทุนตัดเชือกที่ชาวเลผูกเรือไว้กับหาด ถามว่าเราจะไปเอาเรื่องหรือไม่ มีชาวเลบางส่วนก็รู้สึกเกรงกลัวเพราะความปลอดภัยในชีวิตยากลำบากก็ต้องยอม ตอนนี้เขาทำท่าจะตัดอีกซึ่งเป็นเรือของชาวเล 4-5 ครัวเรือนซึ่งพวกเขาไม่ยอมแล้ว”นางแสงโสม กล่าว
พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จริงๆ แล้วปัญหาที่ดินแก้ไขง่ายเพราะมีกฎหมายหมดแล้ว แต่ที่ยากคือการเอาปัญหามาไว้บนโต๊ะ และไม่มีรัฐบาลไหนเอาจริง ความเละเทะของการเมืองบ้านเรากลายเป็นปัญหาที่ปรากฏทุกวันนี้ รวมไปถึงเรื่องของชาวเล ถ้ามีรัฐบาลที่มีคุณธรรมจริงๆ จะแก้ปัญหาได้เร็ว ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเราไม่ได้หันหน้าไปสวรรค์เลย แต่หันหน้าไปนรกทั้งนั้น ถ้าเรามีรัฐบาลที่มีคุณธรรมและทุกฝ่ายทำหน้าที่ของตัวเองอย่างจริงจัง ปัญหาก็จะไม่เกิด
“ผมคิดว่าภายในปีหน้าคงแก้ปัญหาเรื่องที่ดินของชาวเลได้หมด อย่างกรณีหลีเป๊ะ ต้องเป็นชุมชนที่นักท่องเที่ยวอยากไปดู ผมขอยืนยันว่าที่เราคิดตรงกัน หากไม่มีชาวเลก็ไม่มีเกาะหลีเป๊ะ ไม่มีกะเหรี่ยงก็ไม่มีป่า และหากไม่มีคนเหล่านี้ก็ไม่มีอะไรเป็นรากฐานของแผ่นดินผืนนี้”พลเอกสุรินทร์ กล่าว
นางเตือนใจ ดีเทศน์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่าทำอย่างไรให้สังคมไทยเคารพภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ซึ่งในอันดามันเป็นแหล่งท่องเที่ยว หากไม่มีชาวเลก็ไม่มีการท่องเที่ยว แต่ชาวเลกลับถูกรังแกและนายทุนที่ทำลายล้างผลาญกลับไม่ถูกดำเนินการ คนชาติพันธุ์ถูกทำลายทั้งจากรัฐบาลและทุน ดังนั้นต้องยกระดับการต่อสู้ของกลุ่มชาติพันธุ์บ้านเรา เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืน รัฐธรรมนูญที่กำลังจะร่างต้องคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ม.ร.ว.อคิน ระพีพัฒน์ ประธานมูลนิธิชุมชนไทกล่าวว่า เคยลงพื้นที่ชุมชนชาวเลหาดราไวย์ ทำให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรม โดยชุมชนมีพื้นที่ 19 ไร่ ซึ่งคับแคบสำหรับชุมชนขนาดใหญ่และที่อยู่กันมาร่วม 200 ปี ทั้งนี้ได้มีการฟ้องศาลและตัดสินให้ชาวเลแพ้คดีไปบ้างแล้ว ทำไม่ถึงเป็นเช่นนั้นทั้งๆ ที่ชาวเลอยู่ก่อนคนแถวนั้น สาเหตุเกิดจากกำนันคนหนึ่งที่เป็นคนนอกเอาที่ดินไปออกโฉนดเป็นของตัวเองและแจกจ่าย เมื่อที่ดินราคาพุ่งคนที่มีโฉนดก็ฟ้องขับไล่ ทำให้ชาวเลแพ้ไป 2 คดี เราเคยจัดประชุมกับฝ่ายตุลาการ ซึ่งเขาบอกว่าโฉนดเป็นเอกสารราชการที่เป็นหลักฐานสำคัญที่สุด แม้ว่าชาวเลมีหลักฐานอื่นที่ยืนยันว่าอยู่มีก่อนมีโรงเรียน มีบ่อน้ำ แต่เขายึดโฉนดเป็นหลักทำให้แพ้เพราะศาลยึดเอาตามโฉนด
“บ้านเมืองเรามันมักง่ายเพราะลอกเอาตามฝรั่ง ถือว่าการมีโฉนดสำคัญมากเหมือนฝรั่งเพราะฝรั่งคิดว่าราชการของเขาซื่อสัตย์สุจริต ศาลไทยก็เลยถือแบบเดียวกัน กลายเป็นไม่มองความจริง แต่มองตามตัวอักษรและกฎข้อบังคับ ดีที่ว่าต้อนหลังดีเอสไอไปขุดกระดูกชาวเลมาพิสูจน์ดีเอ็นเอพบว่ามีอายุกว่า 100 ปีก่อนที่จะออกโฉนดด้วย เขาจึงมีสิทธิ์ในที่ดินมากกว่า” ม.ร.ว.อคิน กล่าว
นายอนันต์ ชูโชติ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นของชาวเลเกิดจากความขัดแย้งทางวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมและวัฒนธรรมใหม่ที่เข้าไป โดยไม่เอาเรื่องวิถีวัฒนธรรมมาแก้ปัญหา เราไม่สามารถสกัดกั้นนายทุนได้ เพียงแต่ทำอย่างไรที่จะเอาเรื่องวิถีวัฒนธรรมมาคุยกับกระแสทุนพวกนี้ให้เข้าใจ ทำอย่างไรให้วัฒนธรรมมีชีวิตได้รับความเข้าใจ ทำอย่างไรให้ธุรกิจท่องเที่ยวกับชาวเลอยู่ด้วยกันได้ ซึ่งเป็นเรื่องยาก
นายศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการประวัติศาสตร์กล่าวว่า การต่อสู้ของชาวเลต้องเอาสิทธิของชุมชนคืนมา เรื่องที่ดินก็เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างชุมชน เมื่อพูดถึงชุมชนเราเห็นโครงสร้างที่เป็นกายภาพและเป็นองค์รวม เห็นหลุมศพ เห็นที่ดิน ตอนนี้การรุกที่ชาวบ้านเกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักร ตนไม่แน่ใจว่ารัฐบาลชุดนี้จะแก้ได้เพราะทุกรัฐบาลก็เป็นเช่นนี้คือขึ้นต้นเป็นสิงโตแต่ลงท้ายเป็นดัชชุน(สุนัขพันธุ์หนึ่ง)กันหมด
ทั้งนี้ในช่วงบ่ายตัวแทนชาวเล 20 คนได้เดินทางไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรีผ่านม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 8 ข้อดังนี้ 1. ประกาศพื้นที่รัฐ 31 แห่งเป็น “ สิทธิร่วมของชาวเล” 2.ประกาศพื้นที่พิธีกรรม /สุสาน15 แห่ง เป็น “ เขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษของชาวเล” และการจัดทำแผนที่ขอบเขตและรั้วป้องกันการบุกรุก 3.เร่งรัดการออกกฎหมายเพื่อความเป็นธรรมเรื่องที่ดิน 4 ฉบับ คือ กฎหมายสิทธิชุมชน กฎหมายธนาคารที่ดิน กฎหมายภาษีอัตราก้าวหน้าและกฎหมายกองทุนยุติธรรม
4.ให้มีนโยบายชะลอการบังคับคดีชุมชนชาวเลบ้านราไวย์ จังหวัดภูเก็ต เพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ 5.กรณีกองทุนยุติธรรมที่สนับสนุนชุมชนชาวเลบ้านราไวย์ ขอให้การเบิกจ่ายงวดเร็วขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาและเปลี่ยนเป็นการสนับสนุนเป็นรายชุมชนแทนการเบิกจ่ายรายคน เพราะถูกฟ้องคดีแล้วถึง 101 ราย 6.ให้มีคำสั่งคุ้มครองวิถีชีวิตชาวเลเกาะหลีเป๊ะ โดยไม่ให้มีการตัดโค่นต้นไม้ซึ่งเป็นหลักฐานการพิสูจน์สิทธิของชาวเล คุ้มครองพื้นที่ชายหาดซึ่งชาวเลใช้เป็นพื้นที่จอดเรือและตั้งคานซ่อมเรือมาเป็นเวลานาน สั่งการให้ตำรวจส่วนหน้าเกาะหลีเป๊ะรับแจ้งความและดำเนินการแก้ปัญหาความขัดแย้ง /ปกป้องคุ้มครองชาวเลทุกกรณีรวมทั้งยุติการข่มขู่คุกคามชาวเล
7.ให้มีคำสั่งคุ้มครองวิถีชีวิตชาวเลทับตะวัน จังหวัดพังงากรณีขุมน้ำเขียว ที่จอดเรือ / หาปลาหน้ามรสุมของชาวเล มายาวนานแต่มีเอกชนอ้างสิทธิ์ เสนอให้คุ้มครองชาวเลไม่ให้ถูกข่มขู่คุกคาม และเร่งตรวจสอบกระบวนการออกเอกสารสิทธิ์ 8. ให้คุ้มครองพื้นที่ร่อนแร่ อันเป็นวิถีดั้งเดิมของชาวเล ซึ่งเป็นรายได้เสริมในช่วงหน้ามรสุมที่ออกทะเลไม่ได้
————————