เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2557 ที่สำนักงานศูนย์วิจัยและประมงน้ำจืดนครสวรรค์ ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านจระเข้และสัตวแพทย์จากบริษัท จระเข้ทองการเกษตร จำกัด พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11และตัวแทนศูนย์วิจัยและประมงน้ำจืดนครสวรรค์ รวมทั้งตัวแทนชาวบ้านชมภู ต.ชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลกร่วมกันตรวจสอบและเก็บตัวอย่างเลือดจระเข้ตามขั้นตอนการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านได้พบจระเข้ขนาดยาวกว่า 2 เมตร เข้ามาติดจั่นดักสัตว์บริเวณคลองชมพู จึงได้แจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อทำการตรวจพิสูจน์สายพันธุ์ เนื่องจากชาวบ้านเชื่อว่าจระเข้ที่พบน่าจะเป็นจระเข้พันธุ์ไทยที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติซึ่งอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ อีกทั้งที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี 2557 ชาวบ้านพบตัวจระเข้หลายครั้งและแต่ละตัวที่พบมีขนาดแตกต่างกันรวมถึงมีการพบไข่จระเข้ ซึ่งสามารถบันทึกภาพจระเข้ไว้ได้ด้วย
สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบจระเข้นั้น ทีมสัตว์แพทย์จากบริษัทจระเข้ทองฯ ได้ทำการตรวจสุขภาพจระเข้เบื้องต้น และมีการเจาะเพื่อเก็บตัวอย่างเลือดนำกลับไปตรวจพิสูจน์ในห้องแล็ปของบริษัท และได้ทำการติดป้ายเครื่องหมายประจำตัวพร้อมทั้งฝังไมโครชิป โดยได้ระบุรหัสประจำตัวคือ KC-PLK 01 (หมายถึงจระเข้ที่พบในคลองชมพู จ.พิษณุโลก ตัวที่ 1) โดยมีเจ้าหน้าที่และชาวบ้านร่วมกันสังเกตุการดำเนินการ
รอ.นพ.ปัญญา ยังประภากร ประธานกรรมการ บริษัท จระเข้ทอง จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านจระเข้ ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมสัตวแพทย์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบี้องต้นพบว่าเป็นจระเข้พันธุ์ไทย เพศเมีย และไม่น่าจะเป็นสายพันธุ์ใหม่ เนื่องจากจระเข้ที่พบในป่าธรรมชาติของประเทศไทยนั้นมีเพียงสายพันธุ์เดียว แม้จระเข้ตัวที่ชาวบ้านพบมีลักษณะแตกต่างจากที่เห็นได้ชัดจากจระเข้ทั่วไป คือแทบไม่ฟันและมีหลังโก่งนูนเล็กน้อย สันนิษฐานเบี้องต้นว่าน่าจะเป็นลักษณะด้อยทางพันธุกรรมที่เกิดจากการผสมพันธุ์ของพ่อแม่สัตว์ที่เลือดชิด และหากมีการผสมพันธุ์กันเองของจระเข้ที่เลือดชิดกันต่อไป ลูกจระเข้อาจปรากฏลักษณะด้อยหรือความพิการอื่นๆ เพิ่มขึ้นได้ ส่วนสีผิวดำของจระเข้ที่ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตนั้น เป็นลักษณะปกติที่พบได้ในจระเข้น้ำจืด ที่สีผิวจะขึ้นอยู่ในสภาวะแวดล้อมและคุณภาพน้ำที่แตกต่างกัน
“ผมคิดว่าเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่สัตว์แสดงข้อบกพร่องออกมาทางลักษณะฟัน เพราะธรรมชาติของจระเข้จะมีฟัน 66 ซี่ แม้จะไม่ใช้ฟันในการเคี้ยวอาหาร แต่ก็จำเป็นต้องใช้ในการงับจับเหยื่อก่อนที่จะกลืน ผมเคยเจอในบ่อเลี้ยงบ้าง แสนตัวจะพบพิการสักตัว เช่น เกิดมาไม่มีหาง หาชิดกัน ไม่มีหัว ลำไส้อยู่ข้างนอก บางตัวอาจตายตั้งแต่เกิด แต่จระเข้ที่ชาวบ้านพบแม้แทบไม่มีฟันแต่ก็อาจพอจับปล่อยกินได้บ้าง” รอ.นพ.ปัญญา กล่าว
รอ.นพ.ปัญญา กล่าวอีกว่า จระเข้ตัวนี้มีลักษณะผอมกว่าปกติและเลือดที่เจาะออกมามีลักษณะจาง จึงน่าจะมีภาวะขาดสารอาหารด้วย ในแง่การอนุรักษ์จระเข้คลองชมพูที่เป็นสัตว์ป่านั้น จึงจำเป็นต้องลงไปสำรวจความอุดมสมูรณ์ของแหล่งอาหารในคลองชมพูว่าเพียงพอหรือไม่ สำหรับปัญหาจระเข้เลือดชิดนั้น สามารถแก้ไขโดยวิธีปรับปรุงพันธุ์ตามชาติได้คือนำจระเข้ธรรมชาติจากป่าอื่นนำไปปล่อยในคลองชมพูเพื่อให้ไปผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ หรือนำจระเข้คลองชมพูไปออกไปผสมพันธุ์แล้วนำลูกจระเข้มาปล่อยคืน
นอกจากนี้ รอ.นพ.ปัญญา กล่าวว่า สำหรับการตรวจดีเอ็นเอครั้งนี้จะเป็นการเก็บข้อมูลจระเข้ที่พบในแหล่งน้ำในป่าธรรมชาติ ซึ่งจะมีการติดป้ายแท๊กสัญลักษณ์ระบุรหัสไว้ที่หางกับต้นคอและฝังไมโครชิบ โดยจะมีการเก็บข้อมูลการพบและลักษณะจระเข้ไว้เพื่อทำศึกษาต่อไป ซึ่งผลจะออกมาหลังจากนี้ประมาณ 1 เดือน และบ่งชี้ได้เพียงว่าเป็นจระเข้พันธุ์ไทยหรือพันธุ์ผสมน้ำเค็มเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามในประเทศไทยมีการศึกษาด้านจระเข้ไม่มากนักโดยเฉพาะการตรวจดีเอ็นเอเพื่อบ่งชี้ลักษณะด้อยทางพันธุกรรมในระดับโครโมโซม ข้อมูลที่ได้จากจระเข้ตัวนี้จึงมีความสำคัญ เพราะเมี่อมีการเผยแพร่ออกไปแล้ว อาจจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากจากผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศส่งกลับมา หรือมีข้อมูลอื่นๆ ที่บ่งชี้ว่าไม่ใช่จระเข้พิการแต่น่าจะเป็นจระเข้สายพันธุ์เฉพาะถิ่น ซึ่งอาจจะนำไปสู่การลงไปศึกษาอย่างจริงจังต่อไปได้
“ในอดีตช่วงที่ประเทศไทยพบจระเข้อาศัยอยู่ในธรรมชาติเป็นจำนวนมากนั้น ไม่เคยมีการเก็บข้อมูลถึงลักษณะสายพันธุ์ในลุ่มน้ำต่างๆ เลย เและยังเป็นสัตว์ที่สามารถเคลื่อนย้ายไปขยายพันธุ์ยังพื้นที่ต่างๆ ตามสายน้ำ โดยเฉพาะในช่วงน้ำหลากมาโดยตลอด ทำให้จระเข้น้ำจืดที่พบในไทยไม่น่าจะถูกตัดขาดออกเป็นแขนงย่อยเหมือนสัตว์บางประเภท ถึงแม้จะเป็นสัตว์พิการแต่ก็มีความน่าสนใจมาก หากมีการพบไข่หรือจระเข้ตัวอื่นในคลองชมพูตัวอื่น เราก็อยากให้ชาวบ้านแจ้งเข้ามา จะได้ประสานหน่วยงานเพื่อขอเข้าไปเก็บข้อมูลและตัวอย่างเลือดนำกลับมาพิสูจน์เปรียบเทียบกับตัวที่จับได้ตัวแรก เพื่อจะได้เป็นข้อมูลสามารถบ่งชี้ถึงจระเข้คลองชมพูได้ชัดเจนขึ้น และจะเป็นข้อมูลที่เป้นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์จระเข้ต่อไปด้วย” รอ.นพ.ปัญญา กล่าว
ด้าน นายธีรเชษฐ์ โสทอง รองประธานเครือข่ายอนุรักษ์ลุ่มน้ำชมพู อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ตนยังไม่เชื่อว่าลักษณะที่แตกต่างของจระเข้คลองชมพูที่พบทั้งลักษณะฟัน สีผิวดำ จะเป็นความพิการที่เกิดจากการผสมกันของจระเข้เลือดชิด เนื่องจากที่ผ่านมานับแต่อดีตรุ่นปู่ญาติ ชาวบ้านพบจระเข้ในคลองชมพูมาโดยตลอดและมีลักษณะเหมือนกับจระเข้ตัวที่พบนี้ รวมทั้งได้เคยพบจระเข้วางไข่หลายครั้ง บ่งชี้ว่ามีการขยายสืบพันธุ์และอาศัยได้เองตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตามชาวบ้านได้ส่งตัวอย่างเลือดจระเข้ไปให้ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวิภาพและสิ่งแวดล้อม ให้ช่วยประสานไปทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เพื่อนำตัวอย่างเลือดไปตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย
นายธีรเชษฐ์ โสทอง กล่าวอีกว่า สำหรับข้อเสนอแนะให้มีการนำจระเข้จากพื้นที่อื่นไปปล่อยเพื่อให้เกิดการปรับปรุงพันธุ์กันเองตามธรรมชาตินั้น ชาวบ้านคงไม่เห็นด้วยแน่ เนื่องจากเกรงว่าจระเข้ที่นำไปปล่อยจะเป็นอันตรายอาจทำร้ายชาวบ้านได้ ซึ่งอุปนิสัยของจระเข้คลองชมพูจะมีความแตกต่างจากจระเข้ทั่วไป ที่ไม่มีความดุร้ายและไม่เคยปรากฏเหตุการณ์ขึ้นมาทำร้ายชาวบ้านหรือล่าสตัว์เลี้ยงของชาวบ้านไปเป็นอาหาร จะพบก็เพียงเข้ามากินปลาในตาข่ายที่ชาวบ้านดักทิ้งไว้เท่านั้น อีกทั้งด้วยสภาพธรรมชาติอันหลากหลายของต้นน้ำคลองชมพูและผืนป่าที่อุดมสมบูรณ์ระดับชั้น 1 เอ จึงน่าจะเป็นพื้นที่อาศัยและขยายพันธุ์ของจระเข้ได้อย่างสมบูรณ์
สัตวแพทย์หญิงนันทิตา รักษา ชาติ แห่งส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 11 พิษณุโลก กล่าวว่า เบี้ยงต้นได้ตกลงกับชาวบ้านว่าต้องฝากจระเข้ไว้ที่ศูนย์วิจัยและประมงน้ำจืดนครสวรรค์ก่อน เนื่องจากมีต้องการให้จระเข้ได้พักฟื้นเพื่อให้สภาพสมบูรณ์แข็งแรงมากขึ้นและบาดแผลที่เกิดจากการติดจั่นและการขนย้าย รวมทั้งรอผลการตรวจดีเอ็นเอออกมาเรียบร้อยก่อนแล้วจึงค่อยพูดคุยกับชาวบ้านอีกครั้งถึงการนำจระเข้ไปปล่อยคืนธรรมชาติ
อนึ่งพื้นที่ป่าลุ่มน้ำชมภูถูกวางเป้าหมายให้ดำเนินโครงการกั้นเขื่อนลำน้ำชมพู และมีนายทุนต้องการทำเหมืองแร่ทองคำเนื่องจากมีสายแร่ทองคำพาดผ่าน โดยชาวบ้านพยายามคัดค้านโครงการดังกล่าวเนื่องจากทำลายระบบนิเวศและวิถีชีวิตของชุมชน ดังนั้นชาวบ้านจึงพยายามปกป้องจระเข้เอาไว้ เพื่อเห็นหลักฐานชี้ชัดของความอุดมสมบูรณของผื่นป่า ซึ่งเมื่อไม่กี่ปีก่อนชาวบ้านเคยพบไข่จระเข้ แต่คนของทางการได้นำออกไปโดยอ้างว่าเอาไปฟัก แต่กลับเงียบหายไป ทำให้ชาวบ้านรู้สึกกังวลว่าจะเกิดเหตุการซ้ำรอยเดิมอีก