เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557 เวลาประมาณ 13.00 น. นายศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมี้แจงข้อมูลเรื่องเขื่อนแม่วงก์ ต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ว่า จากการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ต้น กรณีการคัดค้านเขื่อนแม่วงก์ และมีการนำเสนอข้อมูลป่าไม้ สัตว์ป่า และแผนพัฒนาระดับชุมชน ต่อรัฐบาลชุดที่ผ่านมา และมาถึงการนั่งประท้วงครั้งนี้เป็นการทำต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพิจารณาข้อมูลสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน และส่งเสริมการมี การศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental Health Impact Assessment: EHIA)โดยการประชุมวันนี้ คชก.ไม่ได้มีส่วนในการดำเนินการเพื่อตัดสินว่าจะสร้างเขื่อนแม่วงก์หรือไม่ แต่เป็นการประชุมเพื่อรับฟังข้อมูล และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอข้อมูลของตนเองเท่านั้น
นายศศินกล่าวว่าข้อมูลที่คชก.ได้ในวันนี้จะต้องนำเสนอไปยัง คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) กรมอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งมีพลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานคณะกรรมการ ส่วนเขื่อนจะเกิดขึ้นหรือไม่เป็นเรื่องของ กก.วล. จะตัดสิน ส่วนกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นั้นเบื้องต้นมีหนังสือคัดค้านมาแล้วก็อาจจะเป็นสัญญาณที่ดี แต่อาจจะต้องรอให้ กก.วล.รับทราบและหารือกันก่อน ค่อยพิจารณาแผนต่อไปอีกครั้ง
“ในอนาคต หากมีการสรุปจากกรมชลประทาน หรือมีข้อมูลจาก กก.วล.ว่าอย่างไร จะถอนโครงการเขื่อนออกจากแผนพัฒนาทรัพยากรน้ำมั้ย ต้องรอดูอีกระดับ วันนี้ แค่ชี้แจงข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น สำหรับเรื่องการนั่งประท้วงนั้น เบื้องต้นวางแผนไว้จะประท้วงให้ครบ 60 ชั่วโมง แต่เมื่อการประชุมไม่ได้ ชี้ชะตาเขื่อนแม่วงก์ก็อาจจะยุติแผนไว้ก่อน แล้วจับตาดูสถานการณ์ต่อไป แต่เรื่องการจัดการน้ำโดยชุมชน ก็ยังยึดเหมือนเดิม คือ ไม่ทำลายป่า ไม่ทำร้ายชุมชน และจะพยายามชงเรื่องให้ กก.วล.รับทราบต่อไป รวมทั้งผลักดันให้ เกิดแผนศึกษา EHIA ที่เป็นปัจจุบัน โปร่งใส และเป็นธรรมกับทุกฝ่ายด้วย” นายศศิน กล่าว
ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พร้อมด้วย นายสุรจิตต์ ชิรเวทย์ อดีต สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ร่วมกันแถลงข่าวแสดงจุดยืนและความคิดเห็นต่อโครงการเขื่อนแม่วงก์ โดยนายประสาร กล่าวว่า ตนในฐานะ สมาชิก สปช. ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปประเทศที่จะต้องเดินหน้าโดยการพัฒนาเขื่อนแม่วงก์ เพราะข้อมูลไม่ครบถ้วน และเห็นควรให้มีการพัฒนาแบบศึกษา EHIA , EIA ในเรื่องการเดินหน้าโครงการขนาดใหญ่ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน และไม่เร่งรัดโครงการโดยไม่ฟังเสียงประชาชนที่เห็นต่าง อยากให้ คชก.และฝ่ายทำงานด้านสิ่งแวดล้อมควรให้คุณค่า กับความเห็นของภาคประชาชนและนักวิชาการสิ่งแวดล้อมด้วย
นายสุรจิตต์ กล่าวว่า เวทีการนำเสนอ EHIA ที่ผ่านมาเกี่ยวกับเขื่อนแม่วงก์ บริษัทที่ศึกษายอมรับแล้วว่า ระยะเวลาในการศึกษานั้นไม่เหมาะสม ยังระบุชัดด้วยว่าป่าแม่วงก์เป็นป่าต้นน้ำเกรด A จำเป็นต้องศึกษาอย่างละเอียดและรอบคอบ สะท้อนว่ากระบวนการของการศึกษาป่าต้นน้ำอย่างแม่วงก์ ที่ผ่านมาเป็นการทำแบบผิวเผิน จะใช้มาตรการของ EHIA ปัจจุบันมาตัดสินชะตาป่าแม่วงก์ไม่ได้ จึงขอคัดค้านแผนการสร้างเขื่อนทุกกรณี
ทั้งนี้ราวเวลา 17.40 น.นายศศินได้ยุติการประท้วงและเดินทางออกจากหน้าสผ.แล้ว
/////////////////////////////////////////////////////