เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ศาลาประชาคม องค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)และบริษัทเอ็นไวไซก์ ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมได้เปิดเวทีชี้แจงโครงการและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อขอบเขตและแนวทางการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น(IEE) โครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ เลย2(ท่าลี่)– ขอนแก่น 4 (ส่วนที่พาดผ่านป่าอนุรักษ์โซนC) จำนวน 5.3 กิโลเมตร จากระยะทางทั้งหมด 196 กิโลเมตร ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงขุนแคม ป่าโคกใหญ่ ป่าภูผาแง่มและป่าลาดค่าง ในเขตตำบลน้ำแคม อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ป่าสวนแห่งชาติป่าโคกภูเหล็ก ตำบลกกดู่ อำเภอเมือง และป่าสงวนแห่งชาติป่าภูหัวหมาก ป่าภูทอกและป่าภูปอบิด ตำบลชัยพฤกษ์ ตำบลนาดินดำ และตำบลน้ำสวย อำเภอเมือง จังหวัดเลยโดยมีนายธนวัตน์ พลอยโสภณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธานในการเปิดงาน
ทั้งนี้นายทรงฤทธิ์ นนทนำ ผู้ชำนาญการสิ่งแวดล้อม ตัวแทนจากบริษัทเอนไวร์ไซน์ ได้ชี้แจงถึงขอบเขตและแนวทางการศึกษาข้อมูลผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นในพื้นที่ดังกล่าว ในช่วงเดือนสิงหาคม 2557– เดือน กรกฎาคม 2558 หลังจากนั้นจึงได้เปิดเวทีให้ประชาชนได้แสดงความเห็น
นายสำรวย ทองจันทร์ ตัวแทนชาวบ้าน ต.นาดินดำ ซึ่งจะถูกสายส่งไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่าน กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางกฟผ.ไม่ได้มีการชี้แจงให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวให้รับทราบเลย การทำรายงานการศึกษาดังกล่าว เป็นเหมือนการทำเพื่อให้ครบตามขั้นตอนของกระบวนการและกฎหมายเท่านั้น ยกเลิกไม่ได้ เท่ากับมัดมือชกให้ชาวบ้านยอมรับโครงการดังกล่าว หากจะรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านจริงๆ ก็ควรจะอยู่บนพื้นฐานความรู้ที่เท่ากัน แต่ตอนนี้เหมือนพูดคนละเรื่อง เพราะวันดีคืนดี เจ้าหน้าที่กฟผ.ก็เอาหมุดไปปักในที่ดินของตน โดยที่ไม่ได้แจ้งอะไรเลย มาทำเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ทำให้รู้สึกหนักอกหนักใจ บางคนมีที่ดิน 3 ไร่ โดนเสาไฟพาดพานไปครึ่งหนึ่งก็ไม่เท่ากับว่าไม่สามารถทำประโยชน์อะไรได้เลย แล้วกฟผ.จะเยียวยาความรู้สึกและจิตใจชาวบ้านอย่างไร
ด้านนายสายรุ่ง ฝั่งกาน รองผู้อำนวยการสำนักงานการประถมศึกษาเขต 1 จังหวัดเลย กล่าวว่า เรื่องมันเกิดขึ้นมาตั้ง 3 เดือนแล้ว ที่เจ้าหน้าที่กฟผ.ได้เข้ามาปักหมุดในที่ดินของตนโดยที่ไม่แจ้งอะไรเลย ไม่มีการประชาสัมพันธ์ชี้แจงข้อมูลใดๆ และตอนนี้ก็ไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เสาไฟแรงสูงจะพาดผ่านว่า ชาวบ้านจะยังสามารถใช้ประโยชน์ได้มากน้อยเท่าไหร่ และเท่าที่ทราบการใช้พ.ร.บ.การลิดรอนสิทธิ์ปี 2511 มีการจ่ายค่าชดเชยน้อยมาก รวมไปถึงข้อกังวลเรื่องผลกระทบสุขภาพของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้ๆเสาไฟแรงสูง ซึ่งในงานศึกษาของต่างประเทศ พบว่า มีผลต่อสุขภาพจริง อยากให้ทางกฟผ.ชี้แจงให้ชัดเจนและต้องมีการศึกษาเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพเข้ามา และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่จะถูกตัดออกไปเป็นจำนวนมากและอาจจะเป็นสาเหตุให้สัตว์ป่าต้องสูญพันธ์มากขึ้น พร้อมกับห่วงกังวลเรื่องผลกระทบของสายไฟแรงสูงต่อการท่องเที่ยวของจังหวัดที่กำลังส่งเสริมกัน เห็นว่ามันช่างเป็นการพัฒนาที่ขัดแย้งกันอย่างสิ้นเชิง
นายสีธาตุ สุทิน ตัวแทนชาวบ้านกกดู่ กล่าวว่า ตนมีที่ดิน 3 แปลง ปลูกยางพาราเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัว 8 คนและที่ดินดังกล่าวถูกจะถูกสายไฟแรงสูงพาดผ่านหมดทุกแปลง ตอนนี้เจ้าหน้าที่ได้เอาสีแดงไปป้ายตามต้นยางพาราไว้หมดแล้ว ถ้าเป็นเช่นนี้ตนจะเอาอะไรเลี้ยงครอบครัว และทราบว่า ที่ดินบางแปลงที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ กฟผ.จะไม่จ่ายค่าชดเชยอะไรให้เลย จึงขอเสนอให้ทางกฟผ.เช่าที่ดินเป็นระยะยาวหรือเวนคืนที่ดินไปเลยน่าจะดีกว่าการจ่ายค่าลิดรอนสิทธิ์ เพราะยังไงเราก็ต้องเสียภาษีตลอดชีวิตรวมทั้งลูกหลานเราด้วย ถ้าจะให้ซื้อที่ดินใหม่เราก็ไม่มีศักยภาพแล้ว
ทั้งนี้ตัวแทนชาวบ้านอีกหลายคนที่ได้แสดงความเห็นในทิศทางเดียวกันและตั้งคำถามว่า คนเมืองเลยจะได้ประโยชน์อะไรจากสายไฟฟ้าแรงสูงที่พาดผ่านพื้นที่ครั้งนี้ รวมถึงข้อกังวลเรื่องสุขภาพและสิทธิในที่ดินของตน
ด้านนายศิวดล สมศักดิ์ธนาดล ตัวแทนกฟผ.ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า คนจังหวัดเลยจะได้ไม่มีปัญหาไฟฟ้าดับหรือตกอีกต่อไป เพราะจะมีการเพิ่มกำลังวัตต์ในการจ่ายไฟเข้าระบบมากขึ้น
ทั้งนี้ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมในเวลา 12.00 น. ชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้แจ้งต่อเจ้าหน้าที่กฟผ.ว่า ขณะที่จัดเวทีรับฟังความเห็นอยู่นี้ มีเจ้าหน้าที่สำรวจของกฟผ.ไปเรียกประชุมชาวบ้านและรวบรวมให้นำโฉนดที่ดิน บัตรประจำตัวประชาชนมาส่งในหมู่บ้านและทำให้ชาวบ้านเกิดความงุนงงและสับสนเป็นอย่างมาก และทำให้ชาวบ้านไม่สามารถมาร่วมเวทีวันนี้ได้ เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ซ้อนกัน นอกจากนี้ทางกฟผ.และบริษัทที่ปรึกษาได้แจกผ้าห่มให้กับทางชาวบ้านที่มาร่วมงานเป็นที่ระลึกด้วย
อนึ่งโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ เลย2(ท่าลี่) – ขอนแก่น4 เป็นส่วนหนึ่งของของโครงการพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าจังหวัดเลย หนองบัวลำภู และขอนแก่น เพื่อรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศลาว เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคอีสานและส่งไปยังภาคกลาง ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศปี 2555-2573 (PDP2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3) โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งคาดว่าจะเป็นโครงการสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่ทางกฟผ.จะรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ที่กำลังก่อสร้างกั้นในแขวงไซยะบุรี และเครือข่ายประชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขงได้ยื่นฟ้องศาลปกครองเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550
///////////////////////