เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2558 ที่สำนักงานกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาคารแคปปิตอล กรุงเทพมหานคร ได้มีการจัดเสวนา กระบี่เต็มร้อยแห่งแรกของประเทศไทย (Krabi 100% Renewable Energy) โดยมีการเผยแพร่งานวิจัยด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาจังหวัดกระบี่ ทั้งด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ และความยั่งยืนของการสร้างอาชีพในท้องถิ่น ตลอดจนความเป็นได้ในการพัฒนาแหล่งพลังงานหมุนเวียน
ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยเรื่องความเข้มแข็งของเศรษฐกิจจังหวัดกระบี่โดยวัดการเติบโตทางรายได้ของผู้คนที่ 20 % สุดท้ายที่มีรายได้น้อยที่สุดของจังหวัด ซึ่งตนตั้งชื่อเรียกง่ายๆ ในงานวิจัยว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ฐานราก (Growth at the bottom)แทนการวัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดต่อหัว (Gross Provincial Product per capita: GPP) เพื่อเปรียบเทียบระหว่าง 3 ส่วน คือ 1.การเติบโตของรายได้ของคน 20 % ที่จนที่สุดในกระบี่ 2. การเติบโของรายได้ของคน 20 % ที่จนที่สุดในภาคใต้ และ3. การเติบโตของรายได้ของคน 20 % ที่จนที่สุดทั้งประเทศ ระหว่างปี 2550-2556 พบว่า กระบี่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.6 ต่อปี ขณะที่ภาคใต้มีอัตราการเติบโตร้อยละ 8.5 ต่อปี และทั้งประเทศเติบโตร้อยละ 8.8
“อัตราดังกล่าวเป็นสถิติการประเมินความมั่นคงทางเศรษฐกิจที่ทั่วโลกเริ่มนำมาใช้ในการศึกษาสภาพการเติบโตและการกระจายรายได้ของประเทศ หลังจากที่พบว่า ความมั่นคงของเศรษฐกิจที่วัดจากรายได้ต่อหัวนั้น ไม่สามารถวัดความสุขของคนทั้งประเทศไทย การใช้หลักการดังกล่าวจึงเป็นที่นิยมมากขึ้น เพราะมีการพิสูจน์แล้วว่าการเติบโตของเศรษฐกิจที่ดี มันต้องเริ่มจากคนฐานรากเล็กๆ และมีการกระจายรายได้อย่างเพียงพอ ไม่ใช่การวัดแค่เศรษฐกิจใหญ่ ในความคิดส่วนตัวจึงไม่ต้องการให้สร้างโรงไฟฟ้าเพราะเป็นการทำลายความมั่นคงดังกล่าว” ดร.เดชรัตน์ กล่าว
ดร.เดชรัตน์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้งานวิจัยยังพบด้วยว่า ส่วนแบ่งรายได้ของคนจน 20 % สุดท้ายเมื่อเทียบกับรายได้ทั้งจังหวัดมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากร้อยละ 7.0 ในปี 2550 ขึ้นมาเป็นร้อยละ 9.1 ในปี 2556 ในขณะที่ส่วนแบ่งรายได้ของคนทั้งประเทศเพิ่มขึ้นแค่ร้อยละ 6.8 เศรษฐกิจของจังหวัดกระบี่จึงเป็นเศรษฐกิจที่แบ่งปัน และที่สำคัญการกระจุกตัวของรายได้คนกระบี่ก็ไม่ได้อยู่ที่การพัฒนาของอุตสาหกรรมใด อุตสาหกรรมหนึ่ง หรืออาชีพประเภทใด ประเภทหนึ่ง แต่มีการกระจายตัวทั่วๆไปทั้งด้านเกษตร ประมงและการจ้างงานในธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร จัดเป็นประเภทการพัฒนาทางการท่องเที่ยวต่างจากเมืองอื่นๆ เช่น ระยอง ราชบุรี ที่มีการกระจุกตัวของรายได้ ซึ่งตนเรียกว่า เศรษฐกิจที่โตเดี่ยว
ด้าน รศ.ดร.จอมภพ แววศักดิ์ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีการถกเถียงเรื่องพลังงานหมุนเวียนมากมาย โดยในส่วนของกระบี่นั้น ได้ศึกษาเรื่องแนวคิดการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนพบว่า กระบี่สามารถใช้พลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสาน และมีการกระจายศูนย์ของพลังงาน โดยพลังงานแสงอาทิตย์สามารถปรับใช้ในครัวเรือนได้ แต่ต้องศึกษาเรื่องทิศทางของการวางแผงโซลาเซลล์ ขณะที่พลังงานลม หากจะลงทุนขนาดใหญ่กระบี่อาจทำได้ยากกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่ยังมีวิธีการติดตั้งกังหันลมที่มีขนาดเล็กลงได้ แต่อาจจะลงทุนเพิ่ม
รศ.ดร.จอมภพ กล่าวว่า สำหรับพลังงานชีวมวลนั้น กระบี่ถือว่ามีแนมโน้มทำได้ดี เช่น การสร้างพลังงานจากการชีวมวลที่ใช้วัสดุปาล์มน้ำมันและเศษยาง มีการใช้น้ำเสียจากโรงสกัดปาล์มน่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ดี เพราะขณะนี้กระบี่มีโรงสกัดมากถึง 25 แห่ง อาจสร้างพลังงานชีวมวลเพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าได้ อย่างไรก็ตามสำหรับแนวโน้มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแบบผสมผสานและกระจายศูนย์ กระบี่สามารถทำได้ แต่อาจต้องเตรียมความพร้อมเรื่องการพัฒนาจากต้นทุนอื่น ทั้งนี้ความสามารถของกระบี่นั้น หากใช้พลังงานชีวมวลอย่างเดียว สามารถลงทุนเพื่อการผลิตพลังงานได้สูงประมาณ 2,000 เมกะวัตต์ เพราะมีพื้นที่ปาล์มมากถึง 65 % และมีพื้นที่ปลูกยางพาราถึง 20 % หากลงทุนจะคืนทุนได้ภายใน 3 ปี