
เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 ที่สำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) กรุงเทพฯ ภายหลังเสร็จสิ้นเวทีระดมความคิดเห็นเรื่อง “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ) แร่ พ.ศ…. ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เวลา 09.30 น. ถึงเวลาประมาณ 16.30 น. เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทย ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์ ข้อเสนอความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ….โดยมีใจความสำคัญบางตอนว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.แร่พ.ศ… เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ที่กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอไป ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมกฤษฎีกานั้น ทางเครือข่ายภาคประชาชนไม่เห็นด้วยกับพ.ร.บ.ดังกล่าว เพราะเห็นว่า ร่างพ.ร.บ.แร่ที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอนั้น เน้นเพียงประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและรายได้ประเทศเท่านั้น ยังไม่สามารถครอบคลุมสิทธิการอนุรักษ์และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของภาคประชาชน
แถลงการณ์ระบุว่า อีกทั้งร่างพ.ร.บ.แร่ดังกล่าว ยังขาดการร่วมแสดงความคิดเห็นของคนในประเทศ ดังนั้นในโอกาส ที่คปก.ได้ยกร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับระดมความคิดเห็นของประชาชนและเครือข่ายสังคมด้านต่างๆ ซึ่งมีเนื้อหาลักษณะที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน เช่น การไม่เปิดสัมปทานทับพื้นที่ป่าสงวน เขตอุทยานแห่งชาติ ฯลฯ จึงมีความเหมาะสมกว่า ในโอกาสนี้ จึงอยากเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ทบทวนร่าง พ.ร.บ.แร่ ของกระทรวงอุตสาหกรรม แล้วรับ พ.ร.บ.ฉบับคปก.เข้าพิจารณาร่วมด้วย
“พวกเราขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ออกคำสั่งให้คณะกรรมการกฤษฎีตั้งคณะทำงานร่วมในการพิจารณา พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับ โดยจัดหากรรมการที่มาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานรัฐ หน่วยงานภาคประชาชน หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม กรรมการสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ซึ่งเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ประเทศไทยฯ จะได้นำหนังสือข้อเสนอส่งไปรษณีย์ถึงนายกรัฐมนตรีในขั้นตอนต่อไป” แถลงการณ์ระบุ
ขณะเดียวกันในระหว่างการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ พ.ร.บ.แร่ ที่ยกร่างโดย คปก.และภาคประชาชน ที่มีผู้เข้าร่วมประมาณ 50 คน นายไพโรจน์ พลเพชร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวในว่าในการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.แร่ ฉบับคปก.นั้น มีสองเวทีใหญ่ คือ 1. เวทีภาคประชาชน และเครือข่ายวิชาการและสิ่งแวดล้อม ซึ่งดำเนินการภายในวันที่ 22 มกราคม และ 2.เวทีระดมความคิดเห็นในหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะดำเนินการวันที่ 23 มกราคม 2558 โดยหลักการของ พ.ร.บ.แร่ ฉบับ คปก.นั้นมีความแตกต่างจาก พ.ร.บ.แร่ปี 2510 ที่ออกโดยกรมการอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) และแตกต่างจากร่าง พ.ร.บ.แร่ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ผ่านสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาอย่างมาก เช่น เนื้อหาเรื่องการพิจารณาการเจาะแร่ใต้ดินระยะ 100 เมตรนั้น ใน ร่าง พ.ร.บ.แร่ฉบับนี้ให้มีการยกเลิกการเจาะแร่ใต้ดินไปทันที
นายไพโรจน์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการบัญญัติไว้ด้วยว่า กรณีการขออาชญาบัตร เพื่อประกอบกิจการนั้น ไม่อนุญาตให้ดำเนินการในเขตอนุรักษ์ เช่น เขตป่าสงวน อุทยานแห่งชาติ แหล่งต้นน้ำ อีกทั้งบัญญัติด้วยว่า ในการสำรวจแร่นั้นต้องได้รับความยินยอมจากผู้ครอบครองที่ดิน ซึ่งประเด็นเหล่านี้สามารถขยายให้ครอบคลุมการคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ โดยหากร่างนี้ผ่านความคิดเห็นภาคหน่วยงานราชการแล้ว คปก.จะสรุปแล้วนำส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาต่อไป (สนช.)
ทั้งนี้ในการประชุมระดมความคิดเห็นนั้น ผู้แทนองค์กรภาคประชาชนส่วนมาก ได้เสนอให้ คปก.แก้ไขเนื้อหา พ.ร.บ.แร่ ที่เกี่ยวข้อกับความรับผิดชอบของบริษัทผู้ประกอบการ กรณีเหมืองแร่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชน เพื่อให้มีการตั้งกองทุนดูแล เยียวยา รักษาผู้ที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น ตลอดจนเสนอให้มีการเพิ่มโทษต่อผู้ประกอบการกรณีที่กระทำผิดเพิ่มเติม เช่น กรณีบริษัทถูกสั่งปิดหรือยุติการประกอบการแล้วนั้นต้องมีการเพิ่มทั้งโทษทางอาญาและทางแพ่งด้วย
////////////