เมื่อวันที่ 23 มกราคม ที่บริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนชาวบ้านในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(ขปส.)หรือพีมูฟ ได้เดินทางมาทวงถามข้อเรียกร้องภายหลังจากที่เคยยื่นหนังสือให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม เพื่อให้แก้ไขปัญหาต่างๆ ของชาวบ้าน ซึ่งตอนนั้นนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธานแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ชาวบ้านได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เรื่อง “ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม เริ่มต้นแก้ปัญหาคนจน” โดยมีเนื้อหาดังนี้
เนื่องด้วยขปส.ได้ขับเคลื่อนการแก้ปัญหากับรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้รัฐบาลมีนโยบาย และมาตรการในการแก้ปัญหาคนจน ให้มีที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกิน ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมั่นคง ปกติสุขและมีความยั่งยืน โดยเมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาบริหารประเทศ ขปส.ได้เจรจาการแก้ปัญหาเรื่อยมา ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2557 และการเคลื่อนไหว “เดินก้าวแลก เพื่อการปฏิรูปที่ดิน” ที่จังหวัดเชียงใหม่ จนนำไปสู่การการลงนามของ พล.อ.ประยุทธ์ ในการแต่งตั้ง “คณะกรรมการแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม” และมีการจัดประชุมขึ้นเป็นครั้งแรกในวันที่ 23 มกราคม 2558
ขปส.มีความคาดหวังและข้อเสนอ ต่อการประชุมในวันนี้ในการพิจารณาแก้ไขปัญหาประชาชน ควรคำนึงถึงปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และข้อเท็จจริงเป็นหลัก โดยการดำเนินการดำเนินการใดๆของรัฐต้องไม่กระทบต่อวิถีชีวิตปกติของประชาชน และหากการดำเนินการแก้ไขปัญหาติดขัดที่ระเบียบ ข้อกฎหมาย ควรพิจารณาปรับปรุงแก้ไขระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติ
ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม จึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลดังนี้ 1.ให้รัฐบาลต้องกำหนดแนวทางและผลักดันการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างที่ได้ส่งผลกระทบต่อคนจนและสั่งสมมาเป็นเวลาช้านาน เพื่อขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน ได้แก่ การดำเนินงานของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) การดำเนินโครงการโฉนดชุมชน การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง การแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูน การแก้ไขปัญหากลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และคนไร้บ้าน การแก้ไขปัญหาชาวกะเหรี่ยง
2.ให้รัฐบาลสั่งการให้ยุติการดำเนินการใดๆไว้ก่อนและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการทบทวน ปรับปรุงเป้าหมาย มาตรการ ตลอดจนแผนปฏิบัติการตามแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการและแนวทางจากแผนแม่บทฯอย่างเร่งด่วน
3.ให้รัฐบาลผลักดันนโยบายการถือครองที่ดิน โดยออกกฎหมาย 4 ฉบับคือ กฎหมายสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร กฎหมายธนาคารที่ดิน กฎหมายภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า กฎหมายกองทุนยุติธรรม
4.ให้รัฐบาลแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนของสมาชิก ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมให้ตรงกับปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงต่างๆ เพื่อดำเนินการแก้ปัญหาให้ลุล่วงอย่างเร่งด่วน
ในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า ในการประชุมร่วมกันระหว่างขปส.กับรัฐบาล ในเวลา 9.30 น. วันนี้ (23 มกราคม 2558)ผลการประชุมจะเป็นข้อพิสูจน์ความจริงใจในการแก้ปัญหาของรัฐบาล ว่าจะเป็นไปตามที่แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 หรือไม่ โดยเฉพาะเนื้อหาในหมวดที่ 9 การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ข้อ9.3.ที่ระบุว่าจะพัฒนาระบบการบริหารจัดการที่ดินและแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ ..ให้ประชาชนอยู่กับป่าได้ ปรับปรุงกลไกภาษีเพื่อกระจายการถือครองที่ดิน เร่งรัดจัดสรรที่ดินให้ผู้ยากไร้ รับรองสิทธิร่วมในการจัดการที่ดินของชุมชน กำหนดรูปแบบที่เหมาะสมของธนาคารที่ดิน เพื่อให้เป็นกลไกในการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หมวด 11 การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม ข้อ 11.5 ปรับปรุงช่วยเหลือทางกฎหมายค่าใช้จ่ายแก่ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม..ส่งเสริมกองทุนยุติธรรม..เยียวยาผู้บริสุทธิ์หรือผู้ได้รับผลกระทบจากความไม่เป็นธรรม เป็นต้น
ในแถลงการณ์ระบุในตอนท้ายว่า ขปส.จะติดตามอย่างเข้มข้น เพื่อให้เกิดความคืบหน้าในการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะเป็นที่ยุติ และการแก้ปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ในการยื่นข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 ได้ข้อสรุปให้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขปส. ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาดังนี้ 1. กรณีการผลักดันโครงการนำร่องธนาคารที่ดิน เพื่อแก้ปัญหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัย โดยมี 5 ชุมชนนำร่อง วงเงิน 167 ล้าน ซึ่งยืดเยื้อมาตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และมีมติ คณะรัฐมนตรี(ครม.) 21 พฤษภาคม 2556 ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ไม่มีความคืบหน้า จนกระทั่งรัฐบาลปัจจุบัน จากผลการเจรจาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 รับที่จะสานต่อและผลักดันโครงการดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐมนตรีภายใน 30 วัน ( 7 พฤศจิกายน 2557 ) แต่จนถึงปัจจุบันเรื่องยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของครม.
2. กรณีการผลักดันนโยบายโฉนดชุมชน ตามระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) พ.ศ. 2553 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2555 ซึ่ง ขปส. ได้ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีชุมชนที่ได้ยื่นคำขอจำนวน 439 ชุมชน แต่รัฐบาลสามารถมอบได้เพียง 3 ชุมชน ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้ลงนามมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการ ปจช. จึงไม่สามารถดำเนินการให้ลุล่วงตามระเบียบได้
3. การแก้ปัญหาชุมชนที่ได้รับผลกระทบตามคำสั่ง คสช.ที่ 64 และ 66 / 2557 และการดำเนินการตามแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน (นโยบายทวงคืนผืนป่า) ซึ่ง ขปส. ได้ดำเนินการคัดค้านและเสนอให้มีการทบทวนการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องแต่ยังไม่ได้ข้อจุติ
4. การแก้ปัญหาคนจนเมือง
5. การแก้ปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล เร่งรัดให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556
6. การแก้ปัญหากลุ่มชาติพันธุ์และชาวเล เร่งรัดดำเนินการให้มีการคุ้มครองวิถีชีวิตชาวเล ให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2553
7. การแก้ปัญหาชาวกะเหรี่ยง เร่งรัดการแก้ไขปัญหาคุ้มครองวิถีชีวิตชาวกระเหรียงให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553
8. การแก้ปัญหาที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานี 3 ชุมชน
9. การแก้ไขปัญหาที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ที่หมดระยะเวลาการอนุญาต หรือสิ้นสุดสัญญาเช่าของเอกชนและองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) มาจัดสรรให้กับเกษตรกรผู้ยากจนมาเป็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย
10. แนวทางการตัดโค่นยางพาราที่หมดอายุ และการเข้าถึงกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง
11. การผลักดันกฎหมายการกระจายการถือครองที่ดิน 4 ฉบับ ( 1. พ.ร.บ.สถาบันธนาคารที่ดิน 2. พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน 3. พ.ร.บ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า 4. พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม)