Search

ศอ.บต.-กอ.รมน.แจ้นลงพื้นที่บูโด ชาวบ้านยันเดินหน้ามาตรการตัดยางเก่า นายอำเภออ้างเหตุแก้ปัญหาไม่ได้-กฎหมายขัดกัน

สวนยางอายุ 25 ปีของชาวบ้านที่ถูกอุทยานฯประกาศทับ ทำให้เดือดร้อน (ขอบคุณภาพจากคุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย)
สวนยางอายุ 25 ปีของชาวบ้านที่ถูกอุทยานฯประกาศทับ ทำให้เดือดร้อน (ขอบคุณภาพจากคุณฐปณีย์ เอียดศรีไชย)

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2558 นายสิโรตม์ แวปาโอะ ประธานเครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเทือกเขาบูโด เปิดเผยว่า หลังจากชาวบ้านต้องได้รับความเดือนร้อนจากการประกาศพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี พ.ศ.2542 ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทับซ้อนที่ดินทำกินของประชาชนเป็นเนื้อที่รวมกว่า 127,612 ไร่ และปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขยืดเยื้อมาถึง 15 ปี จนล่าสุดชาวบ้าน 2,000 คน ใน 25 ตำบล 89 หมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อน เตรียมที่จะปฏิบัติการโค่นยางพาราบนเทือกเขาบูโดในวันที่ 25 มกราคมนั้น ปรากฎว่าเมื่อวันที่ 23 ที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า(กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสได้ลงมาพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อทางออกร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตามชาวบ้านยังคงยืนยันว่าจะดำเนินปฏิบัติการตามที่ได้ประกาศไว้ เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่ชาวบ้านที่ต้องการให้รัฐปฏิบัติตามแนวทางแก้ไขปัญหาตามมติ คณะรัฐมนตรี(ครม.) 14 ตุลาคม 2551 อีกทั้งต้องการให้ภาครัฐเร่งกำหนดโรดแม็ปการแก้ไขปัญหาภายใต้กรอบที่ทุกฝ่ายยอมรับให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน

นายมะนาวี เด็งโด ตัวแทนชาวบ้านผู้เดือนร้อน กล่าวว่า ก่อนเริ่มการปฏิบัติการโค่นต้นยางพาราเก่าในวันพรุ่งนี้ ชาวบ้าน 2,000 คน จะร่วมกันขอดุอาห์ต่อพระเจ้า และอ่านทบทวนมติ ครม. 14 ตุลาคม 2551 เพื่อเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมแก่ชาวบ้าน จากนั้น 10.00 น. จะเริ่มการตัดต้นยางพาราเก่าเพียง 2 ต้นเท่านั้น ในแปลงที่ดินของชาวบ้านที่มีเอกสารสิทธิ์ สค.1 มาตั้งแต่ก่อนการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นการนำร่องกระตุ้นต่อหน่วยงานภาครัฐเร่งแก้ไขปัญหาความเดือนร้อน โดยเฉพาะกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ดินทับซ้อน

“ที่ดินส่วนใหญ่มีเอกสารยืนยัน ทั้ง สค.1 ที่รัฐออกให้ปี 2497 หรือ ใบเหยียบย่ำ ที่รัฐออกให้ปี 2479 ตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นจังหวัดสายบุรี และชาวบ้านยังได้ร่วมกันสำรวจประวัติศาตร์จัดทำข้อมูลชุมชน มีการรวบรวมเอกสารเก่า วัตถุโบราณ อีกทั้งมัสยิดตะโล๊ะมาเนาะที่มีอายุเกือบ 400 ปี ล้วนหลักฐานยืนยันถึงการมีอยู่ของชุมชนตั้งแต่สมัยโบราณ” นายมะดาวี กล่าว

นายมะดาวี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และเป็นการปกป้องความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าไว้ ซึ่งเป็นประเด็นที่เครือข่ายภาคประชาชนมีกังวลว่าหากไม่มีกระบวนการควบคุมการตัดต้นไม้อาจจะนำมาสู่ปัญหา ชาวบ้านจึงตกลงว่าจะนำเสนอแนวคิดจัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน ในการดูแลกำหนดแนวทางการตัดต้นไม้อย่างพอดี โดยเน้นไม่ให้มีการตัดเกินร้อยละ 4 ของแปลงที่ดิน และต้องมีการปลูกทดแทน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางของมติ ครม. 14 ตุลาคม 2551

ด้าน พ.จ.ท.อนันต์ บุญสำราญ นายอำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า แม้ที่ดินทับซ้อนบางส่วนจะมีเอกสารสิทธิ์ทั้ง นส.3 นส.3ก หรือ สค.1 ยืนยันชัดว่าชาวบ้านมีสิทธิ์ครอบครอง แต่ปัญหาสำคัญคือยังมีข้อขัดแย้งต่อกฏหมายที่ดิน และกฏหมายป่าไม้ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติ(พรบ.) อุทยานแห่งชาติ ซึ่งในการประชุมร่วมกับชาวบ้านเมื่อวันที่ 23 ที่ผ่านมา จึงได้มีการนำเสนอให้ยื่นเรื่องต่อกฤษฏีกาตีความเพื่อให้ ศอ.บต.สามารถใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการจังหวัดชายแดนใต้ พ.ศ.2553 มาตรา 9(4) ในการเข้ามาแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะกรณีที่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ที่ไม่สามารถทำได้ด้วยขั้นตอนกฏหมายปกติ เพื่อให้ชาวบ้านผู้ที่อ้างสิทธิ์ครอบครองที่ดินสามารถนำเอกสารสิทธิ์เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ให้ชัดเจน ว่าเข้าครอบครองก่อนหรือหลังการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การยกเลิกหรือกำหนดเขตอุทยานใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงและเป็นธรรม อันจะนำไปสู่ทางออกของปัญหาที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย

นายอำเภอบาเจาะ กล่าวอีกว่า สำหรับการที่ชาวบ้านยืนยันว่าจะเดินหน้าโค่นต้นยางนั้น ทางผู้ว่าราชการจังหวัดมีความห่วงใยต่อชาวบ้านว่า อาจะเป็นการดำเนินการที่สุ่มเสี่ยงกลายเป็นการกระทำผิดกฏหมาย จึงต้องการให้ชาวบ้านแจ้งเรื่องต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อตรวจสอบแปลงเป้าหมายที่เตรียมไว้และอ้างว่ามีเอกสารสิทธิ์ก่อนว่าสามารถตัดโค่นได้หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ชาวบ้านมีความผิดในภายหลัง ซึ่งในวันเดียวกันนี้ได้มีการเร่งทำความเข้าใจในประเด็นนี้กับชาวบ้านด้วย

 

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →