เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 ศาสตราจารย์ระพี สาคริก ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากกิจกรรมการทำเหมืองแร่ทองคำจังหวัดพิจิตร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่รัฐบาลเตรียมออกใบอนุญาตให้เอกชนสำรวจสายแร่ทองคำและประทานบัตรอีก 300 แปลงทั่วประเทศ ว่าไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว เพราะทองคำเป็นเรื่องของประเทศ ไม่ใช่เรื่องของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลใด หากพบว่าใต้ดินมีทองคำอยู่มาก หากจะขุดเอามาใช้ก็ควรเอามาไว้ในท้องพระคลัง เพื่อทำให้ประเทศมีความมั่นคงขึ้น
ศาสตราจารย์ระพีกล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนจำนวนมากที่อาศัยอยู่รอบๆเหมืองทองใน 3 จังหวัดคือพิจิตร พิษณุโลกและเพชรบูรณ์ ต่างก็ได้รับสารพิษเข้าไปในร่างกาย ซึ่งเป็นเรื่องน่าห่วงใยมาก ฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรช่วยกันแก้ไขปัญหาก่อนที่จะอนุญาตให้ใครมาทำเหมืองทองกันอีก
“ผมไม่แน่ใจว่าการให้สัมปทานทำเหมืองทองครั้งนั้นมีเบื้องหน้าเบื้องหลังอย่างไร และเป็นการทำถูกต้องหรือไม่ที่ให้ฝรั่งเข้ามาขุดทอง แต่สิ่งที่ประสบวันนี้คือประชาชนรอบเหมืองทองกำลังมีความทุกข์ ดังนั้นควรเร่งแก้ไข”ศาตราจารย์ระพี กล่าว
ขณะที่ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิบการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงกรณีที่ชาวบ้านรอบเหมืองทองยื่นหนังสือขอให้มหาวิทยาลัยรังสิตช่วยตรวจร่างกายชาวบ้านทั้งหมดว่า ยินดีที่จะช่วยเหลือชาวบ้าน แต่อยากตั้งข้อสังเกตว่าหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องทำอะไรกันอยู่ เพราะชาวบ้านต้องการความช่วยเหลือถึง 6,000 -7,000 คน จริงๆแล้วกระทรวงสาธารณะสุขควรรีบเข้าไปดูแล ทั้งผู้ป่วยและผู้ที่ต้องการตรวจร่างกาย
ดร.อาทิตย์กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลให้เอกชนเข้ามาสัมปทานการทำเหมืองแร่ทองคำอยู่ในขณะนี้ เพราะนอกจากผลกระทบมากมายที่เกิดกับชาวบ้านแล้ว รัฐบาลเองก็มีรายได้น้อยมากคือปีละประมาณ 600 ล้านบาท จากรายได้ขุดทองที่บริษัทเอกชนได้รับปีละ 4,000 ล้านบาท ซึ่งการแบ่งรายได้ในลักษณะดังกล่าวถือว่าไม่เป็นธรรมต่อแผ่นดิน เพราะทรัพย์สินเหล่านี้เป็นของประชาชนทั้งหมด แต่เมื่อให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ ก็ควรให้รายได้ส่วนใหญ่เป็นของรัฐบาลไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
“เมื่อเกิดผลกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรงเช่นนี้ ก็ยิ่งควรเข้มงวด ไม่ใช่คิดแต่จะให้สัมปทานอีก ผมว่าทางที่ดีควรหยุดไว้ก่อนดีกว่า แร่ทองคำที่อยู่ในดินเหล่านี้ เก็บไว้ก็ไม่เน่าเสียอะไร ในทางตรงกันข้าม ขุดขึ้นมากโดยไม่มีระบบที่ดี ยิ่งทำให้เกิดความเสียหายมากกว่าผลดี” ดร.อาทิตย์ กล่าว
———————