
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทอง อดีตประธานอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน และพัฒนาชนบทตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) และอดีตประธานคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีปัญหาการประกาศอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยชาวบ้านในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ขณะนี้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินระหว่างรัฐกับชาวบ้านกำลังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะการประกาศอุทยานแห่งชาติ เขตป่าสงวน และพื้นที่ป่าไม้ แต่ปัญหาที่ชาวบ้านบูโดกำลังประสบยืดเยื้อยาวนานมากว่า 10 ปีนั้น ตนมองว่าอุปสรรคสำคัญอยู่ที่ตัวเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งยังไม่มีความจริงใจต่อการแก้ปัญหา เนื่องจากเรื่องนี้ชาวบ้านมีความชอบธรรมตามกฏหมายอย่างชัดเจนในการเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ทำกิน แม้ว่าจะมีปัญหาทับซ้อนกับพื้นที่อุทยาน เนื่องจากมีเอกสารสิทธิ์ สค.1, นส.3, นส.3ก และใบเหยียบย่ำที่ดินยืนยันสิทธิ์ของชาวบ้าน รวมถึงที่ดินบางแปลงที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ แต่ด้วยพื้นที่แถบนั้นเป็นแหล่งชุมชนโบราณเก่าแก่ราว 300-700 ปี ซึ่งมีหลักฐานเชิงประวัติศาสตร์ทั้ง มัสยิดตะโล๊ะมาเนาะอายุ 300 ปี และวัดเชิงเขาอายุ 270 ปี อันมีมาแต่ก่อนตั้งกรุงเทพมหานคร ดังนั้นทางออกปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องยาก เพียงเจ้าหน้าที่รัฐต้องแก้ปัญหาด้วยความจริงใจ และมีความเป็นธรรม โดยเร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่ทับซ้อนตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดเจนว่าชาวบ้านอยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยาน และเร่งกั้นเขตให้เสร็จสิ้น
พล.อ.สุรินทร์กล่าวว่ามีความกังวลถึงการปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่ได้ออกแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และคำสั่งคสช. 64/2557 และ 66/2557 และอยากเสนอแนวทางการพิสูจน์สิทธิ์ว่าไม่ควรยึดภาพถ่ายทางอากาศเป็นหลักฐานหลัก เพราะในอดีตหลายพื้นที่ชาวบ้านไม่ได้ทำไร่ขนาดใหญ่หรือไม่ได้มีรูปทำการเกษตรอย่างในปัจจุบัน ภาพถ่ายจึงไม่อาจบอกได้ว่ามีชาวบ้านอยู่มาก่อนหรือไม่ โดยเฉพาะพื้นที่บูโดที่ชาวบ้านทำสวนดุซงหรือสวนผลไม้มากว่าร้อยปี ซึ่งหากมองจากภาพถ่ายทางอากาศอาจมองแยกระหว่างพื้นที่ป่ากับสวนผลไม้หรือสวนยางของชาวบ้านลำบาก
“ถ้าชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม อาจนำไปสู่การรุกขึ้นต่อต้านรัฐ ปัญหาก็จะไม่จบสิ้น ใครจะรับผิดชอบตรงนี้ ภาพถ่ายทางอากาศอาจเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ต้องใช้ความจริงใจลงไปดูพื้นที่จริงว่าชาวบ้านเขาอยู่กันอย่างไร เป็นสภาพพื้นที่ทำกินมานานแค่ไหน เพราะถ้ากันแนวแขตได้ชัดเจนว่าใครอยู่ด้านนอกหรืออยู่ด้านในอุทยาน ก็ให้ปักแนวเขต ปัญหาก็จะแก้ได้ และเป็นการป้องกันการบุกรุกป่าในอนาคตด้วย” พล.อ.สุรินทร์ กล่าว
ด้านนายมะดาวี เด็งโด ตัวแทนชาวบ้านผู้เดือนร้อน กล่าวว่า หลังจากปฏิบัติการโค่นต้นยางพาราเมื่อวันที่ 25 มกราคม ซึ่งมีหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำความเข้าใจกับชาวบ้าน โดยมีการรับปากว่าจะเร่งแก้ปัญหาให้แก่ชาวบ้านภายในปี 2558 แต่เบี้ยงต้นชาวบ้านยังไม่ยอมรับตามแนวทางของรัฐทั้งหมด โดยเฉพาะประเด็นที่จะรับรองสิทธิ์ที่ดินทำกินเฉพาะชาวบ้านผู้มีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น ส่วนชาวบ้านที่ไม่ได้ถือเอกสารสิทธิ์อาจจะต้องถูกย้ายออกหรือใช้วิธีเช่าที่ดินจากอุทยานหรือป่าไม้แทน ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่เป็นธรรมและขัดแย้งกับความเป็นจริง ดังนั้นเมื่อวันที่ 25 มกราคมจึงมีข้อสรุปว่าจะมีการจัดประชุมเพื่อร่างยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาที่ดินบูโด ในวันที่ 5-7 กุมภาพันธ์นี้ โดยมีตัวแทนชาวบ้านพร้อมกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันนำเสนอและจัดทำแผนว่าจะมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไรที่ทุกฝ่ายยอมรับได้
นายมะดาวี กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นภายใน 30 วัน หากไม่มีการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ ชาวบ้านจะขึ้นเขาบูโดอีกครั้งเพื่อตัดต้นยางเก่าในที่ดินทำกินของชาวบ้าน โดยในระหว่างนี้แม้เจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้สามารถตัดต้นยางในที่ดินแปลงที่มีเอกสารสิทธิ์ได้ และสามารถขอทุนจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง แต่ชาวบ้านตกลงกันแล้วว่าจะยังไม่มีการตัดต้นยาง เพื่อรอแผนยุทธศาสตร์ที่จะออกมาให้เป็นไปตามมติ ครม.14 ตุลาคม 2551
“จริงๆ แล้วอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การแก้ไขปัญหาในอดีตไม่สามารถทำได้ เพราะรัฐไม่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมตรวจสอบพิสูจน์สิทธิ์ กรมที่ดินเองก็ไม่กล้าออกเอกสาร หรือมีการกันเขตได้ชัดเจน ครั้งนี้ชาวบ้านจึงตั้งใจรวมทุกฝ่ายให้เข้ามาวางแผนแก้ไขปัญหา และขอย้ำว่าในส่วนที่ดินทับซ้อนซึ่งชาวบ้านไม่ได้ถือเอกสารสิทธิ์ เราไม่ได้ต้องการโฉนด แต่จริงๆ เราต้องการคืนสิทธิ์ทำกินในที่ดินของพ่อแม่ปู่ย่าตายายเท่านั้น” นายมะดาวี กล่าว
———————