Search

สธ.ตื่น-สั่งดูแลประชาชนได้รับผลกระทบ หมอสมศักดิ์ไม่การันตีมาตรฐานเหมืองทอง ชาวบ้านบุกยื่นหนังสืออีก

1
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2558 นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงการลงพื้นที่รับฟังปัญหาของประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำและรับฟังข้อมูลจากบริษัทเอกชนที่รับสัมปทานเหมืองทองคำในจังหวัดพิษณุโลก พิจิตรและเพชรบูรณ์ว่า ทางเหมืองได้เล่าให้ฟังว่าที่ผ่านมาทำตามมาตรฐาน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขคงไม่อาจบอกได้ว่าเป็นตามมาตรฐานหรือไม่ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือความรู้ของภาคสาธารณสุข ในทางตรงข้ามเรากลับพบว่า จากการตรวจน้ำในบ่อรอบบริเวณบ่อกักแร่มีปริมาณสารแมงกานีสและเหล็กเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดจากการตรวจติดต่อกันหลายครั้ง อีกประการหนึ่งจากข้อมูลทั้ง 3 แหล่งคือ ผลการตรวจบ่อตรวจสอบของเหมืองเอง ผลการตรวจน้ำประปาหมู่บ้านรอบบริเวณเหมืองโดยกรมอนามัย และผลการตรวจเลือดโดยทีมงานจากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พบชัดเจนว่า สารแมงกานีสเกินมาตรฐาน

รมช.สธ. กล่าวว่า จากข้อมูลจากการเฝ้าระวังการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมจากการตรวจคุณภาพน้ำประปาและน้ำผิวดิน ในบริเวณตำบลเขาเจ็ดลูก ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้เหมืองในปี 2557 โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิจิตร ร่วมกับศูนย์อนามัยที่ 8 นครสวรรค์ พบเหล็กสูงเกินกว่าค่าปกติ 3 แห่ง และแมงกานีสสูงเกินกว่าค่าปกติ 2 แห่ง นอกจากนั้นผลการตรวจหาการปนเปื้อนโลหะหนักในเลือด ซึ่งได้รับมอบผลจากแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2558 มีประชาชนได้รับการตรวจเลือด 732 คน พบโลหะหนักสูงเกินค่าปกติ 401 คนคิดเป็นร้อยละ 54.78 โดยแบ่งเป็น พบแมงกานีสสูงเกินค่าปกติ 241 คน คิดเป็นร้อยละ 32.92 พบสารหนูสูงเกินค่าปกติ 109 คน คิดเป็นร้อยละ 14.98 และพบแมงกานีสและสารหนูสูงเกินค่าปกติ 51 คน คิดเป็นร้อยละ 6.97 ทั้งยังมีหลายคนที่ตรวจพบการปนเปื้อนโลหะหนักในเลือดสูงผิดปกติอย่างมาก เช่น ด.ช.อายุ 10 ปี ซึ่งได้ตรวจเลือดเมื่อวันที่ 27 พ.ย.2557 พบแมงกานีสในเลือดสูงถึง 17.42 ไมโครกรัมต่อลิตร (µg/L) จากค่าปกติซึ่งไม่ควรเกิน 1.1 ไมโครกรัมต่อลิตร ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ต้องมีการวิเคราะห์หาสาเหตุให้ชัดเจนต่อไป แต่จำเป็นต้องหาแนวทางการแก้ไขในระยะเฉพาะหน้าโดยหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจังต่อไปโดยเร่งด่วน

“ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข จะเน้นการลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือกับประชาชนในเรื่องสุขภาพอนามัย โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือกลุ่มที่มีอาการเป็นโรคชัดเจนโดยไม่จำกัดว่าจะมีผลตรวจพบโลหะหนักในเลือดและปัสสาวะหรือไม่ โดยจะให้ทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่ให้การดูแล กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่มีระดับโลหะหนักในเลือดสูงเกินค่ามาตรฐานไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ก็ตาม และกลุ่มที่สามคือกลุ่มที่มีความกังวลไม่ว่าจะมีผลการตรวจเลือดหรือไม่ก็ตาม โดยจะให้การดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต และทีมสาธารณสุขในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดโดยรอบเหมือง ได้แก่ จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และจ.พิษณุโลก จะได้ประชุมร่วมกันเพื่อจัดทีมงานและวางแผนเฝ้าระวังทางสุขภาพ และให้ความช่วยเหลือกับประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วนต่อไป” รมช.สธ. กล่าว

2

ข่าวแจ้งว่าในวันที่ 27 มกราคม เวลา 9.00น ชาวบ้านจำนวน60 คน จาก6 จังหวัดประกอบด้วยสระบุรี ลพบุรี เพรชบูรณ์ พิจิตร พิษณุโลก นครราชสีมา จะเข้ายื่นหนังสืออธิบดีกรมอุสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เพื่อร้องเรียนในเรื่องต่างๆ ประกอบด้วย 1) ชาวบ้านมอบช่อดอกไม้ขอบคุณและเป็นกำลังใจในการทำงานที่ได้รับฟังเสียงของชาวบ้านเป็นอย่างดีเพื่ช่วยแก้ปัญหาที่ผ่านมา 2) ขอให้เปิดเผยรายชื่อชาวบ้าน 250คน ที่ให้ทำการรักษาตามคำสั่งแนบท้าย( อีไอเอ ) ของบริษัทอัครา พศ 2556 และ 3) ชาวบ้านที่ถูกป่าไม้หลอกจับกุมในเขตอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการจะเข้าขออาชญาบัตร ประทานบัตรทุกชนิดของนายทุนเนื่องจากพื้นที่ที่ถูกจับกุมมีแร่ทองคำและแร่อื่นๆจำนวนมากเช่นเดียวกับที่ จังหวัดสระบุรี และเป็นเขตที่ติดต่อกันมีเพียงคลองกั้นอยู่เท่านั้นและเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกรุกล้ำจากนายทุนเพราะแร่เป็นสิทธิของประชาชน

หลังจากนั้นชาวบ้านจะเข้าพบผู้บริหารของช่อง 3 ที่อาคารมาลีนนท์ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีมีการล่อซื้อที่ดินอันเป็นการจงใจให้กระทำผิดของชุดจับกุมในเขต อำเภอสีคิ้วโดยมีการเสนอข่าวว่า ชาวบ้านเอาที่ดินป่าไม้มาเร่ขายให้นายทุน ซึ่งไม่เป็นความจริง โดยที่ทีมผู้สื่อข่าวช่อง 3 ได้ร่วมดำเนินการและแพร่ภาพออกอากาศ อันเป็นการทำให้ชาวบ้านเกิดการเสียหาย เพราะที่ดินเป็นสิทธิทำกินเดิมของตน และ การกระทำดังกล่าวไม่เป็นกลางทำให้ตกเป็นจำเลยของสังคม และ ได้แจ้งความไว้แล้วที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้ว เพื่อดำเนินการขอความเป็นธรรมต่อไป

 

.

On Key

Related Posts

กระบอกเสียง SAC แฉแหล่งอาชญากรรมเมืองเมียวดีใช้ไฟฟ้า-อินเตอร์เน็ตจากประเทศเพื่อนบ้าน-ติดต่อกับองค์กรติดอาวุธชาติพันธุ์ เผยรัฐบาลทหารพม่าปราบจริงจังส่งกลับชาวต่างชาติแล้วกว่า 5 หมื่นคน

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 หนังสือพิมพ์ The GlobalRead More →

หวั่นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดัง “แก่งคุดคู้”-“พันโขดแสนไคร้”รับผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนสานะคามกั้นแม่น้ำโขง ชาวอุบลโวยถูกกีดกันเข้าร่วมเวทีรับฟัง  เลขาสทนช.แจงกลัวเสียภาพลักษณ์ เครือข่ายภาคประชาชนจวกใช้วิธีสกปรก

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2568 เวลาประมาณ 9.00 น. ณ ห้Read More →