Search

หมอพรทิพย์รายงานครม.พิษเหมืองทอง แนะทางออกเฉพาะหน้า 4 ประเด็น ทีมวิชาการม.รังสิตพบผักบุ้งปนเปื้อนตะกั่ว

เอกสารข่าวของคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล
เอกสารข่าวของคณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล

เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ศูนย์ราชการถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เป็นประธานการประชุมร่วมกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบเหมืองแร่ทองคำ จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ และเลย กว่า 50 คน พร้อมทั้งเชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กลุ่มนักวิชาการมหาวิทยาลัยรังสิต ตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ตัวแทนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เพื่อพิจารณาเรื่องร้องเรียนและผลกระทบทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในประเด็นที่กำลังเป็นข่าวคือผลกระทบของประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) โดยใช้เวลาในประชุมรวมระยะเวลานานกว่า5 ชั่วโมง

ทั้งนี้ระหว่างการประชุมทาง กสม.ได้ให้ตัวแทนหน่วยงานแต่ละหน่วยให้ข้อมูลและตอบคำถามกรณีประเด็นปัญหาที่ภาคประชาชนได้ร้องเรียนและให้หน่วยงานวิชาการรายงานสถานการณ์ปัจจุบันและความคืบหน้ากรณีการดำเนินการต่างๆ ในสังกัดของตนเพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน

ชาวบ้านรอบเหมืองทองยื่นหนังสือต่อรองอธิการบดี
ชาวบ้านรอบเหมืองทองยื่นหนังสือต่อรองอธิการบดี

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า ภายหลังที่ประชาชนได้มีการยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2557 ทางเจ้าหน้าที่ได้ประมวลผลส่งทีมลงพื้นที่ตรวจเก็บตัวอย่างทั้งปัสสาวะ เลือด น้ำ และดิน ตรวจพิสูจน์ผลกระทบที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่มีการลงพื้นที่ตรวจซ้ำถึง 3 ครั้ง รวมทั้งตรวจเพิ่มในรายอื่น ต่อมาเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทราบผลการตรวจที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยผลการตรวจด้านสุขภาพของประชาชนในพื้นที่รอบเหมืองแร่ทองคำ จำนวน 738 คน แบ่งเป็นเด็ก 67 คน มีสารในเลือดสูง ผู้ใหญ่จำนวน 664 คน มีสารหนู 104 คน เบื้องต้น ทางนิติวิทยาศาสตร์ จึงได้ทำรายงานผลการตรวจสอบเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อให้มีการสั่งการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป โดยข้อเสนอหลักของทีมวิชาการ คือ กรณีการศึกษาสารพิษนั้น หน่วยพิษวิทยาแล้วกระจายผลให้หน่วยงานต่างๆ โดยข้อเสนอมีประเด็นหลักกรณีสุขภาพประชาชน เพื่อเป็นแนวปฏิบัติแตกต่างกันแต่ละกลุ่ม

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ กล่าวว่า 1.หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรักษาอย่างกระทรวงสาธารณะสุข ต้องติดตามดูแลประชาชนกลุ่มที่มีสารพิษในเลือดสูง ขณะที่ผู้รับผิดชอบกรณีพิษวิทยาก็ศึกษาสถานการณ์สารพิษต่อไป แล้วใช้กลุ่มตัวอย่างที่พบสารพิษเพื่อศึกษาทางวิชาการรักษาและวิจัยต่อเนื่อง 2.กลุ่มที่มีโอกาสตั้งครรภ์ให้แยกมาศึกษาและรักษาเฉพาะกลุ่ม เพราะกลุ่มนี้ทีมวิชาการและแพทย์พบว่า สารพิษส่งผลให้เกิดความผิดปกติของดีเอ็นเอ อาจมีผลต่อเด็กในครรภ์ 3.กรณีผู้มีสารพิษปนเปื้อนในเลือดและผู้ป่วยเด็กที่แสดงอาการผิดปกติทางร่างกาย เช่น ไอ จุกหน้าอก ปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ควรมีการรักษาแยก เพราะประเทศไทยยังไม่มีแพทย์ฝ่ายใดกล้ายืนยันทางวิทยาศาสตร์ว่าอาการทั้งหมดเกิดจากสารพิษ เพียงแต่ฝ่ายวิทยาศาสตร์และฝ่ายพิษวิทยามีการศึกษาวิจัยพบว่า สารพิษบางตัวมีผลทำให้เกิดอาการป่วยเท่านั้น จึงต้องแยกกลุ่มเด็กมารักษาโดยเร็ว จะกรมใดรับผิดชอบคาดว่า ครม.คงสั่งการได้

แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์กล่าวว่า ข้อ4.เสนอให้แยกประชาชนที่เหลือที่ยังไม่ตรวจเลือดหรือยังไม่เคยพบประวัติการป่วย การพบสารพิษ ใดๆ ออกจากพื้นที่ที่คาดว่าเสี่ยงอันตราย เพื่อป้องกันการป่วยเพิ่ม เนื่องจากขณะนี้นักวิชาการที่เก็บตัวอย่างพืช น้ำและดินของมหาวิทยาลัยรังสิต กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาเพิ่มเติมถึงการปนเปื้อนสารพิษในสภาพแวดล้อมรอบเหมือง

“ทางเลือกตอนนี้ หากเสนอแบบธรรมดาที่สุดเพื่อจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ย้อนไปหยุดเหมืองแร่หรือทุนคงยาก คิดว่าชาวบ้านหากทนไม่ไหวก็ต้องอพยพ จะออกเองหรือรอให้ใครสั่งย้ายออกหรือเตือนภัยก็ช่าง ชาวบ้านมีทางเลือกไม่มาก เพราะในทางการแพทย์จะมีการวางความหมายและคำจำกัดความของโรคที่เกิดจากสารพิษก็ต่อเมื่อมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ผลวิทยาศาสตร์ตรงกับอาการแสดงออก เป็นต้น แม้ในประเด็นเหมืองทองพิจิตร จะไม่สามารถยืนยันได้ว่าป่วยจากพิษ หรือป่วยจากการบริโภคก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องจดจำว่าสุขภาพประชาชนสำคัญมาก เพราะกรณีการเกิดโรคจากสารพิษนั้นหากจะรอยืนยันมันจะช้ามาก สารพิษที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น หากลามไปถึงระบบประสาทแล้ว อาจไม่ปรากฏการปนเปื้อนในเลือด ดังนั้นการป้องกันทำได้เมื่อพบสารในเลือด จะใช้วิการขับสารพิษด้วยวิธีใด หรือรักษาแนวทางใดก็ตาม หน่วยงานที่ดูแลด้านสุขภาพควรทำตั้งแต่เนิ่นๆ” แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ กล่าว

นางสาวลักษณา เจริญใจ ผู้แทนจากคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากกรณีเหมืองทองคำพิจิตรนั้นนักวิชาการอยู่ระหว่างการเก็บตัวอย่างพืช ดิน และน้ำเพื่อศึกษาการปนเปื้อนตะกั่ว แคดเมียม และสารหนู หรืออาร์เซนิก แต่ผลที่สำเร็จแล้วมีแค่สารตะกั่ว คือ พบว่าพืชที่มีราก ใบ เหง้าและเถาวัลย์ เชื่อมต่อกับน้ำและดินมีสารตะกั่วปนเปื้อน เช่น ผักบุ้ง กระทกรก ส่วนสารที่เหลือรอผลตรวจ ซึ่งหากแล้วเสร็จจะส่งให้ตัวแทนแต่ละหน่วยงานรับทราบ

ด้านนางสาวสื่อกัญญา ธีรชาติดำรง ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองคำ อำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ประเด็นที่ภาคประชาชนกล่าวว่า หลังจากที่ กพร.มีคำสั่งให้บริษัทอัคราฯ ดำเนินการตรวจสอบผู้ป่วยจำนวน 250 คนแล้วรายงานผลให้ กพร.ทราบนั้น มีความไม่โปร่งใสกรณีที่ชาวบ้านพบว่าผู้ป่วยที่เป็นเด็กบางราย บริษัทฯยังไม่ได้ขออนุญาตผู้ปกครองเพื่อขอนำตัวเด็กเจาะเลือดตรวจ แต่กลับมีหนังสือแจ้งให้ผู้ปกครองรับผลตรวจโดยแนบกระดาษแผ่นเล็กๆ มาเท่านั้น แล้วใส่ตัวเลขปริศนาลงไป ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ใช่การแก้ปัญหาตามคำสั่ง กพร. และเป็นการกระทำที่ขาดกระบวนการจึงขอให้ กรพ.ย้ำในคำสั่งใหม่ รวมทั้งเร่งรัดให้บริษัทชี้แจงด้วยว่ามีการรักษาผู้ป่วยอย่างไรบ้าง วิธีการรักษาเป็นอย่างไร แล้วรายงานผลออกมาให้ชาวบ้านสบายใจ

ขณะที่ตัวแทนกพร. กล่าวชี้แจงกรณีการร้องเรียนของภาคประชาชนและทีมแพทย์ว่า ทางกพร.ได้รับผิดชอบเต็มที่แล้วกรณีการสั่งปิดเหมืองชั่วคราว แต่การแก้ปัญหาระยะยาวนั้น กพร.ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเชิญหน่วยงานต่างๆ จัดเวทีร่วมกันในวันที่ 11กุมภาพันธ์ เพื่อศึกษาหาทางออกเพิ่มเติมแล้วเชิญตัวแทนเหมืองมาชี้แจง เพราะที่ผ่านมาเหมืองก็ร้องเรียนมาว่า ชาวบ้านไม่ยอมเปิดใจนำเด็กในปกครองไปตรวจ ส่วนกรณีการออกคำสั่งให้รายงานผลนั้น ต้องรอหลายฝ่ายดำเนินการ โดยงบประมาณตามกองทุนความเสี่ยงที่ชาวบ้านขอมา จะโอนเงินได้ภายในเร็วๆ นี้

ด้านนายเชิดศักดิ์ อรรถอรุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานงานภายนอก บริษัทอัคราฯ กล่าวว่า ความรับผิดชอบของเหมืองนั้น ยินดีทำเต็มที่ แต่ยืนยันว่าพนักงานของเหมืองไม่พบสารพิษปนเปื้อนใดๆ โดยกรณีความกังวลเรื่องน้ำประปานั้น บริษัทฯ จะยังคงกระจายน้ำอุปโภค บริโภคให้ประชาชนต่อเนื่อง

คณะอนุกรรมการสิทธิฯเชิญชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองและหน่วยงานราชการ รวมทั้งผู้แทนบริษัทเหมืองทองร่วมชีแจงข้อมูล
คณะอนุกรรมการสิทธิฯเชิญชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหมืองทองและหน่วยงานราชการ รวมทั้งผู้แทนบริษัทเหมืองทองร่วมชีแจงข้อมูล

ด้าน ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ในด้านการลงทุนอุตสาหกรรมนั้น หากมองประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐอเมริกาแล้ว ต่างจากประเทศไทยที่สหรัฐฯ นำแผนฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมระยะยาวมาใช้และมีการประเมินความเสี่ยงล่วงหน้า เช่น กรณีเกิดผลกระทบหนึ่งที่ บริเวณอื่นที่ยังไม่กระทบเขาจะประเมินผลที่อาจกระทบล่วงหน้า 20-30 ปี เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนไม่เดือดร้อนในอนาคต แต่ของไทยมักจะใช้เร่งรัด เร่งด่วนอย่างเดียว โดยกรณีเหมือง แนะนำว่าไม่ควรใช้แผนแค่ระยะสั้นเพราะชาวบ้านที่ต้องอพยพย้ายถิ่นนั้นต้องอาศัยแผ่นดินอีกนาน อาศัยแหล่งน้ำที่นานกว่าการรับการช่วยเหลือชั่วคราว ไทยจึงต้องเรียนรู้เรื่องนี้ด้วย แนะนำว่าการช่วยเหลือประชาชนนั้นไม่ใช่แค่การย้ายออกเรื่อยๆ แต่ต้องมีการศึกษาสภาพแวดล้อมที่ย้ายออกด้วยว่าเป็นอย่างไรบ้าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในระหว่างการประชุมนั้น นอกจากการรายงานสถานการณ์ปัญหาเหมืองทองคำจังหวัดพิจิตรแล้ว กสม.ยังได้เปิดโอกาสให้นักวิชาการและอนุกรรมการสิทธิชุมชน รวมทั้งตัวแทนสมัชชาสุขภาพได้นำเสนอข้อมูลเหมืองทองคำของบริษัททุ่งคำ จังหวัดเลยด้วย โดยมีนักวิชาการจากสภาบันวิจัยสภาวะแวดล้อมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รายงานผลการศึกษาแหล่งน้ำใต้ดินและผิวดินของเหมืองทองคำวังสะพุงปี 2555 ว่า พบการปนเปื้อนของสารไซยาไนด์ในลำห้วยทั่วไปที่ไม่ได้ประกอบกิจการเหมือง แต่ในบ่อเก็บแร่นั้นพบสารไซยาไนด์เกินกว่าปกติ เพราะมีการการใช้ในกระบวนการถลุงแร่ ทว่าเมื่อเหมืองได้มีการป้องกันก็ไม่พบว่า มีไซยาไนด์แพร่กระจายออกไปในลำห้วยเกินมาตรฐานแต่อย่างใด แต่ภายหลังการนำเสนอนั้น ชาวบ้านอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลยได้คัดค้านเพราะการศึกษาของหน่วยงานดังกล่าว เป็นการให้ข้อมูลไม่ตรงความเป็นจริง เนื่องจากศึกษาสภาพน้ำไม่ตรงจุดที่ลำห้วยไหลผ่าน ดังนั้นทางที่ประชุมจึงเห็นว่า ข้อมูลดังกล่าวควรมีการทบทวน

ขณะที่ตัวแทนนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยรังสิตเสนอว่า ผลการศึกษาดังกล่าวแม้จะเป็นการศึกษาที่ยังไม่ชี้ชัดว่าเหมืองเป็นสาเหตุของการปล่อยสารพิษออกสู่แหล่งน้ำก็ตาม แต่ในเมื่อแหล่งน้ำทั่วไปมีสารพิษปนเปื้อนก็ไม่ควรไปทำกระบวนการแตะต้องสารพิษให้แพร่กระจายโดยการขุด หรือถลุงแร่เพิ่มเติมจากพื้นที่นั้น เพราะมีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายในอนาคต ได้

ในช่วงบ่ายวันเดียวกันตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจาก 3 จังหวัดภาคเหนือบางส่วนได้เดินทางไปยังสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม เพื่อยื่นหนังสือถึงสภามหาวิทยาลัยมหิดลและคณะผู้บริหาร เพื่อขอความเป็นธรรมกรณีที่บริษัทอัคราฯ อ้างผลการวิจัยของคณะนักวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดลที่ระบุว่า ชาวบ้านไม่ได้รับสารพิษจากการทำเหมืองทอง แต่เกิดจากอาหาร โดยชาวบ้านขอให้มีการตรวจสอบและเปิดเผยงานวิจัยดังกล่าว โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้รับหนังสือ

ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยมหิดลได้แจกเอกสารข่าวชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้น(ในภาพ)

On Key

Related Posts

ชาวบางกลอยกลุ่มใหญ่ยืนยันเจตนารมณ์กลับดินแดนบรรพชน“ใจแผ่นดิน” หลายภาคส่วนร่วมกันจัดงานรำลึก 11 ปี ‘บิลลี่’ ถูกบังคับสูญหาย-หวังความยุติธรรมปรากฎ “วสันต์ สิทธิเขตต์”แต่งเพลงให้กำลังใจชุมชนถูกกดขี่

ผู้สื่อข่ายรายงานว่า ระหว่างวันที่ 16-17 เมษายน 25Read More →