สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

“สืบชะตา” แม่น้ำโขง

DSC03365

เสียงสวดมนต์ภาษาบาลีสำเนียงเหนือดังขึ้นใต้ร่มหลังคาผ้าใบหลายผืน เก้าอี้ไม้บ้าง พลาสติกบ้าง ถูกจับจองโดยเด็กเล็ก คนหนุ่มสาว ไปจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ร่วมร้อยชีวิตที่พนมมือสวดตามเสียงนำที่อยู่สูงขึ้นไปบนเรือนไม้ขนาดเล็กริมแม่น้ำโขง ลำน้ำที่เป็นเสมือน “แม่” ของชาวเชียงของ จ.เชียงราย มาหลายชั่วอายุคน

พิธีกรรมดังกล่าว คือ พิธีสืบชะตาแม่น้ำโขงที่จัดขึ้นให้ชาวเชียงของพร้อมด้วยเครือข่ายหลายจังหวัดที่มีชีวิตติดริมโขงและลุ่มน้ำอื่นๆ ได้พบปะกันเหมือนเป็นเวทีเล็กๆ ที่ร่วมพูดคุยถึงชะตากรรมของ “แม่น้ำโขง” ในช่วง 2 ทศวรรษมานี้

ที่ผ่านมา ในห้องเรียนภูมิศาสตร์ เรารู้ว่า แม่น้ำโขงมีต้นกำเนิดจากที่ราบสูงทิเบต เป็นแม่น้ำสายที่ยาวเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับตั้งแต่ต้นสายลงมา สายน้ำความยาวสี่พันกว่ากิโลเมตรได้หล่อเลี้ยงชีวิตคนมากกว่าร้อยล้านคน ก่อเกิดอาชีพและวัฒนธรรมลุ่มน้ำที่คล้ายกันทั้งจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม ขณะที่เราเห็นความร่วมมือหลายอย่าง เพื่อพัฒนาแม่น้ำโขงโดยรัฐและหลายหน่วยงาน แต่การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำที่เกิดขึ้นในยุคที่หลายคนเชื่อว่า เป็นการพัฒนา กลับทำให้แม่น้ำโขงไม่ได้ดีขึ้นตามความตั้งใจ จนหลายเครือข่ายภาคประชาชนต้องร่วมมือกัน “สืบชะตา” ให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

“เมื่อก่อนไปหว่านแหได้ปลาทีสิบกิโล เดี๋ยวนี้โลนึงยังยากเลย” สมพร ศรีบุญเรือง ชาวบ้านบ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย วัย 54 เอ่ยถึงสิ่งที่เขาและชาวบ้านริมโขงประสบ เขาบอกว่า ช่วง 3-4 ปีที่ผ่าน มีการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการขึ้น-ลงของน้ำที่ไม่ปกติ จำนวนปลา จำนวนไก (สาหร่ายที่ขึ้นในแม่น้ำ) ที่ลดลงไป ซึ่งก็ส่งผลต่อรายได้ วิถีชีวิต และการกินอยู่ของชาวบ้าน

 

DSC03476

“เดือนเมษา เราปลูกข้าวโพด ทำไร่ ว่างก็หันหาลงแม่น้ำโขง เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว” สมพรย้ำ เพราะต้องการจะบอกว่า น้ำโขงนั้น “แปลก” ไปกว่าที่เขาคุ้นเคยมาตลอดเวลา 20 ปีที่หากินแถบนี้ จากเคยมีรายได้เสริมในการปลูกพืชผักริมน้ำ เช่น ต้นหอม ผักสลัด ถั่ว ตอนนี้ก็ไม่กล้าเสี่ยงปลูกอีกเพราะกลัวความไม่คงที่ของแม่น้ำที่ไม่ได้เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เกิดจากฝีมือมนุษย์

“เราเกิดที่นี่ เราโตที่นี่ เราเห็นความอุดมสมบูรณ์ ความสวยงาม แต่เราก็เห็นการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ส่วนมากเป็นเรื่องที่ไม่ดีต่อผู้คน” นิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ครูตี๋ ประธานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนาเอ่ย

ครูตี๋และกลุ่มทำงานต่อสู้เพื่อแม่น้ำโขงมาเกือบ 20 ปี เห็นการกระทำที่ “ทำร้าย” แม่น้ำโขงมาตลอด ครั้งหนึ่งเคยมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านการระเบิดเกาะแก่ง จนคณะกรรมการประสานความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง แม่น้ำโขง ได้ตัดสินใจปิดโครงการการระเบิดแก่งคอนผีหลง ในปี พ.ศ.2548

“ถ้ามองให้ชัด จะเห็นทั้งเรื่องโครงการขนาดใหญ่จากข้างนอกและการกระทำจากคนในชุมชน ภายนอก เช่น เรื่องเขื่อน การระเบิดเกาะแก่ง การเดินเรือพาณิชย์ เป็นประเด็นที่เกี่ยวพันกับนโยบาย จากภายในก็เช่น การทำเกษตรโดยใช้สารเคมี เรื่องการหาปลาโดยผิดวิธี เช่น การระเบิด การช็อตปลา สุดท้ายก็เป็นความไม่เข้าใจของคนในท้องถิ่น ในเรื่องของป่า ของน้ำ เช่น พื้นที่ชุ่มน้ำ ก็ดันไปถมกันซะ” ครูตี๋เล่าถึงการรุกรานแม่น้ำโขงที่เขามองเห็น

DSC03347
ประเด็นสำคัญที่เชื่อว่า เป็นสาเหตุของไม่คงที่ของน้ำโขงก็คือ “เขื่อน” ซึ่งเป็นความกังวลใหญ่ของลูกน้ำโขงตลอดหลายปีที่ผ่านมา ยิ่งแผนการสร้างเขื่อนและโครงการไฟฟ้าพลังน้ำทั้งหมด 12 โครงการ กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของรัฐบาล 4 ประเทศ คือ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม โดยได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ไปแล้วในปี พ.ศ.2555 ทั้งๆ ที่มีเสียงทัดทานจากภาคประชาชน ก็ยิ่งทำให้ภาคประชาชนคลายความกังวลได้ยาก

“ข้อมูลที่เขาเอามา มันไม่ครบ ไม่มีข้อมูลการศึกษาผลกระทบท้ายน้ำ เราก็บอกไปว่าไม่ครบ ให้ถือเป็นเวทีแห่งการรับฟังเสียง เสร็จแล้ว อยู่ๆ เขื่อนก็สร้างมาได้” มณฑา อัจฉริยกุล เล่าถึงเมื่อครั้งที่เคยไปเข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็นก่อนการสร้างเขื่อนไซยะบุรี

“เหมือนเวที มันไม่มีความสำคัญหรอก สุดท้ายขึ้นอยู่กับอธิปไตยของแต่ละประเทศ” มณฑาพูดต่อ ในความเห็นของเขาที่ทำงานในโครงการส่งเสริมความเข้มแข็งสำหรับแม่หญิงและชุมชนที่ฝั่งลาว เขาเห็นว่า แม้ชาวบ้านที่ร่วมต่อสู้จะมีเพิ่มขึ้นในหลายปีที่ผ่านมา แต่อำนาจการตัดสินใจก็ไม่ได้อยู่ที่ชาวบ้านอยู่ดีไม่ว่าจะเป็นที่ลาวหรือไทย

“เครือข่ายที่นู่น (ลาว) จะเป็นเครือข่ายที่ต้องไม่แสดงท่าทีแบบคัดค้าน ที่ทำอยู่มี 5 จังหวัด คือ จำปาศักดิ์ เวียงจันทน์ หลวงพระบาง บ่อแก้ว พงสาลี เรายังต้องทำงานภายใต้หน่วยงานรัฐ เขาจะส่งคนมาประกบเราทุกอย่าง ประเด็นเขื่อนเราคุยในเวทีไม่ได้ เราก็ต้องใช้วงเล็กคุย” มณฑาบอก

DSC03449

“ชาวบ้านเขามองว่ารัฐไม่ควรสร้างการพัฒนาแบบนี้” จิณห์วรา ช่วยโชติ บัณฑิตคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ทำการศึกษาเรื่อง วาทกรรมการพัฒนา : กลุ่มรักษ์เชียงของกับชุมชน เอ่ยจากมุมมองของคนนอกที่ได้มีโอกาสเข้าไปศึกษาเรียนรู้ ซึ่งจากการที่เขาได้ลงพื้นที่และสัมผัสกับชาวบ้าน เขาเห็นว่า เวลานี้สิ่งที่ชาวบ้านอยากให้เกิดขึ้นก็คือการพัฒนาจากคนในชุมชนจริงๆ ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ต่างจากรัฐทำ ที่เอามา “ครอบ” โดยไม่ได้ทำความเข้าใจกับชุมชนให้ดีก่อน

“ในฐานะที่พวกเขาเป็นคนในชุมชน เขาพยายามจะพัฒนา ซึ่งต้องมองจากคนในพื้นที่ที่อยู่ ต้องมีความสมดุล เขาไม่ได้สุดขั้วว่า เขื่อนมันสร้างไม่ได้ แต่ในทรรศนะของเขา เขามองว่า เขื่อนมีมากพอแล้วในประเทศไทย ถ้ามีการสร้างเขื่อนตรงนี้จะทำลายอาชีพการกินของคนที่นี่” จิณห์วราให้ความเห็น

จากประสบการณ์การทำงานของเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา ซึ่งมี 8 จังหวัดคอยประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ก้าวต่อไปของแม่น้ำโขงที่ครูตี๋มองเห็น ก็คือ การพัฒนาองค์ความรู้ท้องถิ่นด้านให้เข้าถึงคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกับคนในท้องถิ่นที่อาจลืมตัวตนของตัวเองไป เวลานี้จึงได้มีแนวคิดจัดตั้ง “โฮงเฮียนแม่น้ำของ” ขึ้น ด้วยความหวังว่า จะช่วยให้ท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้นกว่าเดิม โดยจะมีการเปิดตัวอย่างทางการในเดือนธันวาคมปีนี้

“กระบวนการสร้างเป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยเฉพาะองค์ความรู้เป็นเรื่องใหญ่ การใช้องค์ความรู้จากการวิจัยท้องถิ่นเข้าไปเปลี่ยนแปลง มันจะปกป้องท้องถิ่นของตัวเองได้” ครูตี๋บอก
ครูตี๋ผู้ผลักดันให้เกิด “ประวัติศาสตร์นิเวศวัฒนธรรม” ภายในชุมชน มองว่า ความรู้เป็นสิ่งสากลที่จะสืบชะตาแม่น้ำโขงต่อไปได้ โดยต้องเป็นความรู้ที่ถูกและเหมาะสมกับผู้ใช้ เพราะที่ผ่านมา “ระบบ” ได้สร้างความรู้ แต่เป็นความรู้ที่กลืนวัฒนธรรมที่คนควรจะรู้เสียเอง

“ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นถูกเบียดขับออกตลอด คนไม่รู้เรื่องตัวตน ต้องไปเรียนรู้เรื่องสุโขทัย จุดอ่อนคือความไม่รู้ตัวตน แล้วก็เรื่องระบบนิเวศที่สำคัญในการเอื้อต่อการดำรงชีวิต เรื่องแม่น้ำโขงนี่ก็ไม่เคยเรียนรู้กัน แต่ไปเรียนรู้เรื่องเจ้าพระยา วัฒนธรรมการอยู่การกินก็ถูกเบียดขับ เราก็พยายามดึงตรงนี้กลับมา เราทำผ่านงานวิจัยของชาวบ้าน เชื่อว่าชาวบ้านเขาทำได้” ครูตี๋อธิบายและบอกว่า กระบวนการทำงานต่อไปจะเน้นให้ชาวบ้านศึกษาชุมชนของตัวเองแล้วนำการศึกษานั้นมาเผยแพร่ให้คนอื่นได้รับรู้ต่อ เป็นการสร้างความรู้ให้เกิดทั้งกับคนในและคนนอกพื้นที่ ซึ่งสำหรับเขา สองทศวรรษที่ผ่านมา หลายสถานการณ์ได้การบ่มเพาะคนทำงานที่มีจิตวิญญาณเดียวกันไว้แล้ว นับเป็นสิ่งที่ดี ในอนาคตข้างหน้า คนกลุ่มนี้ก็หวังว่า การสร้างห้องเรียนธรรมชาติในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงจะเป็นบันไดอันแข็งแกร่งเพื่อก้าวขึ้นต่อไปได้

“นี่คือโรงเรียนทางเลือก เราเลือกสิ่งที่ดีที่สุด สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือประวัติศาสตร์นิเวศวัฒนธรรม มันแสดงให้เห็นแล้ว เริ่มเปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ต้องใช้เวลา นั่นคือ สู้และสร้าง จะฟ้องศาลก็ฟ้อง แต่ต้องสร้างด้วย แต่สร้างแล้วไม่สู้ ก็เสียเวลา เราดูที่จังหวะและความพร้อม” ครูตี๋ทิ้งท้าย

โดย ศากุน บางกระ

 กรุงเทพธุรกิจ หน้า 8 กรีนไลฟ์

19 มี.ค. 58

On Key

Related Posts

ชาวบ้านป่าหมากโวยถูกปักเขตป่าอนุรักษ์ทับชุมชน หวั่นเสียที่ทำกินยกหมู่บ้าน หัวหน้าอุทยานฯ กุยบุรีแจงสำรวจถูกต้อง เตรียมกันเขต-ออกหนังสืออนุญาตให้ชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 นายเยบุ จอเด๊ะโก อายุ 6Read More →

SAC ชี้ “พ.อ.ชิตตู”ตัวอันตราย สื่อพม่าอ้างทางการไทยจับมือทางการพม่ารวบรวมข้อมูลผู้นำ BGF “รศ.ดุลยภาค”เผยกลยุทธ์ทัพพม่าเลาะชายแดนไทยโอบล้อมตี KNU แนะรัฐบาลไทยคุมเข้มพื้นที่ชายแดนแม่สอด-อุ้มผาง-พบพระ

วันที่ 25 เมษายน 2567 สื่อออนไลน์พม่า Khit Thit MeRead More →

หญิงโรฮิงญาเหยื่อค้ามนุษย์ริมน้ำเมยแฉ แก๊งมาเฟียสุดเหี้ยม คุมขัง-ทรมาน-ฆ่าเพื่อเรียกค่าไถ่ มีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์คุมเข้ม เผยนานาชาติตกเป็นเหยื่อ-ชาวยูกันดา 23 คนได้รับการช่วยเหลือหลังถูกหลอกเป็นสแกมเมอร์ หนุ่มสาวลาว 14 คนถูกส่งต่อจากคิงส์โรมันส์วอนช่วยด่วน

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 น.ส.ไอชะห์(นามสมมุติ) อRead More →