Search

ครัวโลกญวน

3

เวียดนามไม่เพียงมีทรัพยากรมนุษย์เป็นจุดแข็งเท่านั้น จุดแข็งอีกด้านหนึ่งคือ “แหล่งผลิตอาหารขนาดใหญ่” บริเวณดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง (แม่โขงเดลต้า) จากการลงพื้นที่ดังกล่าวเพื่อเก็บข้อมูลอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และติดตามผลกระทบจากเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบน เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้เห็นจุดแข็งดังกล่าวแล้วต้องยอมรับว่า มีศักยภาพโดดเด่นไม่แพ้เดลต้าใดๆ

ทุกๆ ปี ปริมาณน้ำจากแม่น้ำโขงไหลลงสู่ทะเลจีนใต้เฉลี่ย 475,000 ล้านลูกบาศก์เมตร พัดพาตะกอนจากที่ต่างๆมาสะสมประมาณ 790,000-810,000 ตารางกิโลเมตรต่อปี บริเวณนี้ยังเป็นแหล่งรวมสิ่งมีชีวิตกว่า 10,000 สายพันธุ์

แม่โขงเดลต้ามีอัตราส่วนผลิตข้าวและอาหารพืชมากกว่า 53% ของประเทศ กว่า 80% ของการผลิตปลา และ 75% ของผลไม้เพื่อบริโภคภายในและส่งออก

ย้อนกลับไปปี 2538 พื้นที่นี้ผลิตข้าวได้เพียง 12 ล้านตัน แต่หลังจากพัฒนาการเกษตรอย่างเข้มข้น พวกเขาปลูกเพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆทุกปี จนกระทั่งปี 2554 ผลิตได้ 23.2 ล้านตัน สูงกว่าไทยอีก

ทั้งหมดมาจากการทำงานเป็นเนื้อเดียวกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน เอ็นจีโอ และชุมชน โดยรัฐบาลทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ และวางแผนด้านพัฒนาการเกษตรในภาพรวม ส่วนนักวิชาการ และเอ็นจีโอทำงานร่วมกับชาวบ้าน เพื่อเพิ่มศักยภาพชาวบ้านให้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ให้มากที่สุด บริหารจัดการน้ำอย่างมีคุณภาพ และปรับตัวให้ได้กับสภาวะแวดล้อมที่แย่ลง

รัฐบาลทยอยสร้างเขื่อนดิน (พนังกั้นน้ำ)ปิดล้อมชุมชนหลายแห่งในพื้นที่ชุ่มน้ำมาตั้งแต่ราวปี 2546 ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเป็นจุดๆทั้งบนเขื่อน และในเขื่อน ทางการและชุมชนร่วมกันจัดระบบควบคุมน้ำถาวร ช่วยปรับแผนการทำเกษตรกรรมให้สอดคล้องกับระดับน้ำตลอดทั้งปี บางพื้นที่ปลูกข้าวได้ถึงปีละ 4 ครั้ง แต่ส่วนใหญ่ปลูก 3 ครั้ง/ปี ช่วงหน้าแล้ง หรือช่วงน้ำหลาก จะปลูกพืชผลระยะสั้น เช่น เผือก มัน และพืชผักสวนครัว

แต่ละชุมชนมีระบบสหกรณ์บริหารโดยกรรมการประชาชนตำบล ดูแลจัดการระบบน้ำ บัญชีค่าสูบน้ำ ให้กู้เงินลงทุน มีปันผลกำไร ผลจากการสร้างระบบจัดการน้ำให้สัมพันธ์กับการผลิต ทำให้ชุมชนต่างๆมีรายได้เพิ่มขึ้น 1-2 เท่า ใครทำมากได้มาก ใครทำน้อยได้น้อย

ดร.โว แลม (Vo Lam) อาจารย์ภาควิชาสัตววิทยา มหาวิทยาลัยอันยาง เมืองอันยาง เล่าให้คณะจากเมืองไทยฟังว่า รัฐบาลเน้นให้เวียดนามตอนใต้ โดยเฉพาะเมืองอันยาง และเมืองเกิ่นเทอเป็นพื้นที่เกษตรกรรม ยังไม่มุ่งเน้นด้านอุตสาหกรรม จนกว่ามีโครงสร้างพื้นฐานที่สมบูรณ์รองรับ

นับตั้งแต่รวมชาติเป็นเอกราชในปี 2518 เวียดนามใช้เวลาไม่ถึง 32 ปี พัฒนาแม่โขงเดลต้าให้กลายเป็น “ครัวโลก”ขนาดมหึมา จนสามารถปลูกข้าวได้มากกว่าไทย

“เมื่อ 20 ปีก่อน คนของเราหิวโหย อดอยาก แต่วันนี้ เราส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากไทย”วู ง๊อก ลอง (Vu Ngoc Long) กรรมการบริหารเครือข่ายแม่น้ำเวียดนาม พูดถึงอดีต ก่อนจะสรุปอย่างมั่นใจว่า สักวันหนึ่ง เวียดนามจะชนะไทยให้ได้

อย่าว่าแต่ส่งออกข้าวเลย พืชผักผลไม้ก็เช่นกัน ที่นั่นมีเยอะแยะและราคาถูก สังเกตจากทุกมื้อ ร้านจะจัดผักใส่จานมาให้กินฟรีไม่อั้น ผิดกับในเมืองไทย ใครสั่งแม่ค้าใส่ผักเยอะๆแล้วไม่โดนค้อนขวับ ถือว่าโชคดี

—————————–
ภาคภูมิ ป้องภัย
มติชน 14 เม.ย. 58

On Key

Related Posts

หวั่นท่องเที่ยวพินาศหลังน้ำกกกลายเป็นสีขุ่นข้นจากเหมืองทองตอนบนในพม่า นายกฯอบต.ท่าตอนเตรียมทำหนังสือจี้รัฐบาลเร่งแก้ไข-ชาวเชียงรายเริ่มไม่กล้าเล่นน้ำ เผยปลาหายไป 70% ทสจ.ส่งทีมตรวจสอบคุณภาพน้ำ

———เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2568 พ.Read More →

ผบ.สส.เร่งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำกกหลังชุมชนผวาสารพิษเจือปนจากการทำเหมืองทองฝั่งพม่า ภาคประชาชนเผยน้ำกกขุ่นเพิ่มจากปีก่อน 8 เท่าหวั่นกระทบน้ำดิบทำประปา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดีRead More →