เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2558 ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ เครือข่ายภาคประชาชนหลายองค์กรและชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกันจัดกิจกรรม “Pakbara Paradiso ปากบารา อันดามัน สวรรค์ทะเลใต้” ระหว่างวันที่ 24-26 เมษายน โดยมีประชาชน นักเรียน นักศึกษา และนักท่องเที่ยวทั่วชาวไทยและชาวต่างชาติร่วมชมนิทรรศการศิลปะภาพถ่ายซึ่งมีทั้งภาพปะการังหายาก และภาพวิถีชีวิตชุมชน รวมถึงการแสดงงานจิตรกรรมและการแสดงดนตรี กันอย่างคึกคักคักตั้งแต่เวลา 10.00 น. และในภาคบ่ายได้มีการเปิดงานโดยนางรัตยา จันทรเทียร ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวเปิดงาน หลังจากนั้นมีเวทีเสวนาเรื่อง “ความจริงที่ปากบารา คุณค่าอันดามัน มรดกโลก”
นายไกรวุฒิ ชูสกุล ตัวแทนผู้ประกอบการห้างหุ้นส่วนจำกัด หลีเป๊ะสปีดโบ๊ท กล่าวว่า เหตุผลที่คนสตูลต่อต้านท่าเรือปากบารา เพราะพื้นที่อันดามันจังหวัดสตูลเป็นดังต้นไม้ใหญ่ที่หล่อเลี้ยงคนจำนวนมากด้วยโอโซนธรรมชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติในประเทศไทยนั้นเหลือน้อยลงทุกที แต่สตูลโดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา-ตะรุเตา นั้น ยังมีทรัพยากรทางธรรมชาติหลายอย่างหลงเหลืออยู่
“ผมยังจำได้ว่าเมื่อยังอยู่ในวัยรุ่นและร่วมทำอาชีพไกด์นำเที่ยว เห็นการเดินเรือของประมงของเรือใหญ่มากมายมาช็อตปลา ขณะนั้นมีความกังวลมากกับการทำลายสัตว์น้ำ รู้สึกหดหู่ทุกครั้ง จึงคิดนโยบายร่วมกับเพื่อนๆ เพื่อสร้างสังคม สร้างระเบียบการท่องเที่ยวใหม่ มีการเฝ้าระวังหลายด้าน เพราะรับไม่ได้กับความสูญเสีย การทำลายล้าง มาถึงวันนี้พวกเราทุกคนร่วมปกป้องต้นไม้สาธารณะต้นนี้ให้เรามีที่หายใจ มีที่หากิน กล่าวตรงๆ เราไม่นึกว่าวันหนึ่งคนที่คิดทำลายล้างคือคนในประเทศเราเองที่พยายามจะเปิดอันดามันเป็นอุตสาหกรรม คนสตูลจึงลุกขึ้นมาปกป้อง และยืนยันจะต่อสู้ถึงที่สุด เพราะความยั่งยืน ความรับผิดชอบต่อทรัพยากรมันสร้างจิตสำนึกกันได้ ซึ่งหาคนไทย คนทั่วโลกได้รู้ในมุมมองนี้มากขึ้น คุณค่าจะเกิดในที่สุดอุตสาหกรรมแบบฉาบฉวยจะแพ้ไป”นายไกรวุฒิ กล่าว
นายธรรมรัตน์ นุตะธีระ อาจารย์ประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา จังหวัดสตูล กล่าวว่า จากการทำวิจัยที่ผ่านมาพบซากดึกดำบรรพ์มาตั้งแต่ก่อนยุคไดโนเสาร์ และยืนยันว่า ขณะนี้มีหลักฐานชัดเจนซึ่งกรมทรัพยากรธรณีรับทราบมาโดยตลอด ว่าซากดึกดำบรรพ์ที่มีอยู่เต็มพื้นที่อำเภอละงู จังหวัดสตูล เมื่อนำไปบวกรวมกับความต้องการของกรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะผลักดันให้จังหวัดสตูลเป็นอุทยานธรณีที่มีความสำคัญระดับโลก ก็ส่งผลให้แหล่งซากดึกดำบรรพ์มีความสำคัญมากขึ้น
นายธรรมรัตน์กล่าวว่า หากซากเหล่านี้ถูกขุดและนำไปใช้ถมทะเล แปลว่าซากเก่าๆ หายไปทันทีเพราะหินที่เกิดจากตะกอนต่างๆในประวัติศาสตร์เป็นหินที่ใช้ได้ครั้งเดียวแล้วหมดไปเลย
“ผมสนใจมาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ตอนปี 2525 เก็บตัวอย่างสัตว์จากบริเวณท่าเรือปัตตานีสมัยนั้น มีพวกอวนรุน ซึ่งเป็นเครื่องมือประมงผิดกฎหมายทำลายล้างแบบถอนรากถอนโคน สัตว์หน้าดินที่ติดมากับอวนกลายเป็นขยะ ไม่มีประโยชน์ ถูกแยกคัดออกจากกุ้ง หอย ปู ปลาที่ชาวประมงหาได้ สัตว์หน้าดินพวกนี้มีโปรตีนต่ำ เป็นแค่ปลาเป็ด หมายถึงเป็นอาหารสัตว์ ผมเห็นแล้วเสียดาย คิดว่าน่าจะเก็บไว้ศึกษา ภายหลังจากการศึกษาก็พบว่า เป็นซากเก่าแก่ ในความมีเสน่ห์จุดนี้เราพยายามผลักดันเป็นงานวิชาการเพื่อใช้ประโยชน์ ซึ่งขณะนี้ยูเนสโก้ระบุชัดแล้วว่าซากต่างๆในจังหวัดสตูลที่ผู้เชี่ยวชาญค้นพบนั้น บางอย่างเป็นหนึ่งเดียวในอาเซียน ไทยมีความได้เปรียบเรื่องธรณีวิทยามากที่สุด มีความโดดเด่นเรื่องความเก่าแก่ของซากดึกดำบรรพ์ ซึ่งเหมาะแก่การเปิดเป็นห้องเรียนธรรมชาติ ดังนั้นจึงไม่ควรสูญเสียพื้นที่นี้ เพราะหากพัฒนาให้มีความโดดเด่นเพิ่มเติมไทยก็จะกลายเป็นอุทยานด้านธรณีที่สำคัญของโลก” นายธรรมรัตน์ กล่าว
———————-