เมื่อวันที่ 27 เมษายน มีรายงานข่าวว่า เมื่อวันที่ 23 ที่ผ่านมาคณะกรรมการกลางแห่งสหภาพกะเหรี่ยง (เคเอ็นยู) ได้เชิญภาคประชาสังคมของกะเหรี่ยง 14 องค์กรร่วมเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมชี้แจงประเด็นข้อกังวลของภาคประชาสังคมในกรณีที่เคเอ็นยูได้ร่วมลงนามในร่างข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (The Draft of Nationwide Ceasefire Agreement – NCA) ภายใต้ความเห็นชอบร่วมกันของกลุ่มกองกำลังชาติพันธุ์ 16 กลุ่มในนาม คณะกรรมการหยุดยิงทั่วประเทศ หรือ The Nationwide Ceasefire Coordination Team (NCCT) กับคณะกรรมการทำงานสร้างสันติภาพแห่งสหภาพ หรือ Union Peacemaking Working Committee (UPWC) ซึ่งเป็นคณะทำงานของฝ่ายรัฐบาลพม่า เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา
ทั้งนี้พะโด่ ซอ แกว ทู เลขาธิการแห่งสหภาพกะเหรี่ยงเคเอ็นยู ซึ่งเป็น 1 ในคณะเดินทางที่ไปร่วมในการลงนามได้ชี้แจงว่า การลงนามในร่างข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศครั้งนี้เป็นเพียงการลงนามเห็นชอบในร่างข้อตกลงเท่านั้น ซึ่งยังไม่ใช่การลงนามในข้อตกลงหยุดยิงฉบับจริงหรือฉบับสมบูรณ์ โดยก่อนจะได้ร่างข้อตกลงหยุดยิงฉบับนี้ทางฝ่ายกองกำลังชาติพันธุ์ 16 กลุ่มในนามคณะกรรมการหยุดยิงทั่วประเทศ มีการหารือกันภายใน 17 ครั้ง และได้คุยกับฝ่ายรัฐบาลพม่าอย่างเป็นทางการ 7 ครั้ง และไม่เป็นทางการประมาณ 20 ครั้ง รวมถึงจัดประชุมใหญ่กลุ่มผู้นำชาติพันธุ์ 3 ครั้งในช่วงระยะเวลา 1ปี 5เดือนนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2013 เป็นต้นมา กระทั่งมีการลงนามเห็นชอบในร่างข้อตกลงเมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ผ่านมา
พะโด่ ซอ แกว ทู กล่าวว่าขณะนี้ร่างข้อตกลงหยุดยิ่งทั่วประเทศดังกล่าว ทางคณะกรรมการกลางเคเอ็นยูได้มีการเรียกประชุมเร่งด่วนเพื่อร่วมกันอภิปรายปรับแก้ไขเนื้อหาที่เห็นควรต้องปรับแก้เพิ่มเติมเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งการประชุมเร่งด่วนเพื่ออภิปรายร่างข้อตกลงหยุดยิงนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน แต่กระบวนการอภิปรายยังไม่เสร็จสิ้น ดังนั้นจึงขออนุญาตผู้เข้าประชุมยังไม่เปิดเผยเนื้อหาข้อความในร่างข้อตกลงดังกล่าว อย่างไรก็ตามหลังการอภิปรายจะมีการเปิดเผยหรือไม่นั้นจะมีการแจ้งให้ทราบหลังจากได้ข้อสรุปในการประชุม เพราะกระบวนการหลังจากการอภิปรายภายในของเคเอ็นยูแล้ว ข้อสรุปที่ได้ต้องนำไปพูดคุยร่วมกับคณะกรรมการหยุดยิงทั่วประเทศ (NCCT) อีกครั้งก่อนเสนอกับฝ่ายรัฐบาลพม่ารอบใหม่
ด้านหน่อ มา หร่า ตัวแทนองค์กรกะเหรี่ยงจากสหรัฐอเมริกาเสนอต่อผู้นำเคเอ็นยูว่า การลงนามของเคเอ็นยูที่เห็นชอบในร่างข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศกับคณะกรรมการทำงานสร้างสันติภาพแห่งสหภาพ (UPWC) นั้นสร้างความไม่สบายใจให้กับประชาชนกะเหรี่ยงที่อยู่ในสหรัฐอเมริกาเป็นอย่างมาก เพราะหลังการลงนามทางผู้แทนเคเอ็นยูที่ได้เดินทางไปด้วยไม่มีการแถลงข่าวหรือทำรายงานอะไรออกมาให้ประชาชนได้ทราบรายละเอียด ทางเรากังวลว่าการลงนามจะเป็นข้อผูกมัดที่จำกัดวิธีการดำเนินงานในส่วนอื่นๆ เพราะขณะที่มีการเจรจาสันติภาพ เราก็ทราบข้อมูลมาว่าหลายพื้นที่ในเขตปกครองชองสหภาพกะเหรี่ยงกองทัพรัฐบาลพม่ามีการเพิ่มกำลังเข้ามาด้วย อย่างไรก็ตามเราขอให้ทางเคเอ็นยูเปิดเผยข้อมูลด้วยในการไปดำเนินการครั้งต่อๆไป
ขณะที่ตัวแทนจากภาคประชาสังคมกะเหรี่ยงหลายกลุ่มต่างเห็นด้วยกับข้อเสนอของหน่อ มา หร่า และเกิดคำถามว่าการเจรจาสันติภาพกันรัฐบาลพม่าในครั้งนี้สามารถไว้ใจรัฐบาลพม่าได้มากขนาดไหน มีหลักประกันอะไรที่ทำให้เราสามารถเชื่อมั่นได้ เพราะอดีตที่ผ่านมามากมายกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น กองกำลัง KIA ของคะฉิ่น ที่ทำการหยุดยิงแล้วกลับเกิดความขัดแย้งและปะทะกันใหม่
พะโด่ ซอ แกว ทู เลขาธิการแห่งสหภาพกะเหรี่ยงเคเอ็นยู ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า การเชื่อถือรัฐบาลพม่าได้หรือไม่นั้น ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนาน ในการพยายามพูดคุยแนวทางการหยุดยิง ซึ่งเวลานี้ มีความแตกต่างจากหลายๆครั้งที่เคยมีมามากพอสมควร เพราะตอนนี้เราดำเนินงานภายใต้การจับตามอง และมีการสนับสนุนของนานาชาติ การพูดคุยแต่ละครั้งมีผู้สังเกตการณ์จากภายนอกเข้าร่วมด้วย และผู้สังเกตการเหล่านี้มีตัวแทนของสหประชาชาติ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของเลขาธิการใหญ่สหประชาชาติเข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย ซึ่งเป็นการพูดคุยแต่ละครั้งนั้นเป็นการพูดคุยต่อหน้าองค์กรนานาชาติที่หลากหลาย รวมถึงการเจรจาครั้งนี้มีความแตกต่างอีกอย่างคือ มีกลุ่มชาติหลายๆกลุ่มเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ใช่เพียงเฉพาะกลุ่ม มีประเด็นที่มีการเชื่อมโยงกับการเมืองด้วยนี่คือข้อแตกต่าง
“ผมเชื่อว่าหากรัฐบาลพม่าไม่ทำตามข้อตกลง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็จะมีผลกับประเทศนี้แน่ ถ้าจะบอกว่าเราเชื่อใจรัฐบาลพม่าได้ขนาดไหน เราก็ไม่ได้เชื่อ แต่ทุกอย่างจะเป็นไปตามข้อตกลงที่เราทำร่วมกัน อย่างข้อตกลงในการหยุดยิงทั่วประเทศ ทำได้มากน้อยขนาดไหน เราก็จะพยายามทำ หากไม่มีการทำตามข้อตกลงที่มีร่วมกัน ความขัดแย้งต่างๆก็สามารถเกิดขึ้นใหม่ได้ แต่เราจะพยายามร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิด” พะโด่ ซอ แกว ทู กล่าว
เลขาธิการแห่งสหภาพกะเหรี่ยงกล่าวว่า 1 ในข้อตกลงที่มีการระบุไว้นั้น หากเกิดความขัดแย้งขึ้น ทั้งสองฝ่ายจะพยายามแก้ไขร่วมกันด้วยสันติวิธี เพราะช่วงที่ผ่านมาเราแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆด้วยการทหารและความรุนแรง ทำให้ผู้ที่ต้องประสบกับปัญหาความขัดแย้งต่างๆก็คือชาวบ้าน ถ้าเป็นไปตามนี้ได้ปัญหาต่างๆเราจะพูดคุยกันด้วยแนวทางทางการเมือง เราไม่บอกว่าเราเชื่อใจ แต่เพื่อให้เราไปสู่เป้าหมายนั้น เราต้องพยายามเพื่อให้ได้มาตามโครงสร้างที่เราต้องการ แต่ถ้าเกิดความขัดแย้งขึ้นใหม่ ผู้ที่จะได้รับผลกระทบก็คือประชาชน ดังนั้นเราต้องพยายามเพื่อให้ไปสู่กระบวนการพูดคุยทางการเมืองให้ได้ เมื่อเราสามารถขยับไปสู่การพูดคุยทางการเมืองประชาชนทุกฝ่าย รวมถึงกลุ่มการเมืองอื่นๆที่ไม่มีกองกำลังก็สามารถมาร่วมพูดคุยในเวทีเดียวกันได้
ขณะที่พะโด่ หน่อ ซี โพ หร่า เส็ง รองประธานสหภาพกะเหรี่ยงเคเอ็น ได้ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวกะเหรี่ยง Kwekalu ก่อนหน้านี้ถึงการลงนานในร่างข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ ว่าในร่างข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศฉบับนี้ สิ่งที่เราต้องการนั้นยังไม่มีการเขียนไว้อย่างชัดเจน ประเด็นที่หนึ่งคือ เราเห็นว่ายังไม่มีความชัดเจนเรื่องระเบียบข้อตกลงในการหยุดยิงด้านการทหาร รวมถึงข้อตกลงในแนวทางปฏิบัติในการเคลื่อนย้ายกำลังพลของกองทัพรัฐบาลก็ยังไม่มีการระบุไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือข้อเสนอที่ทางเคเอ็นยูได้เสนอไว้แต่ยังไม่มีการเขียนลงไป
พะโด่ หน่อ ซี โพ หร่า เส็ง กล่าวว่าประเด็นที่สองคือ หลังจากการหยุดยิงเพื่อนำไปสู่การพูดคุยทางการเมือง แต่หลังการหยุดยิงต้องมีช่วงเวลาที่จะให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆได้ปกครองตนเองก่อนที่จะมีการพูดคุยทางการเมือง ข้อเสนอข้อนี้ก็ยังไม่มีการเขียนไว้ในร่างข้อตกลงฉบับนี้ ดังนั้นเห็นได้ว่านี่คือช่องโหว่ของร่างข้อตกลงฉบับดังกล่าว
“การลงนามในร่างข้อตกลงหยุดยิง ถ้าข้อเสนอของเราไม่มีการเขียนลงไปอย่างชัดเจน การลงนามก็ไม่มีประโยชน์อะไร แต่การลงนามนี้จะมีประโยชน์กับเพียงรัฐบาลฝ่ายเดียว เพราะว่ารัฐบาลสามารถทำให้เห็นว่าเกิดการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศแล้ว ทำให้นานาชาติแสดงความยินดีกับการลงนามในครั้งนี้ และเข้าใจว่าได้มีการลงนามหยุดยิงแล้ว ข้อกังวลของเราคือ ทางฝ่ายรัฐบาลพม่าต้องการเพียงแค่ให้เกิดการลงนาม ส่วนเนื้อหาในข้อตกลงจะมีการปฏิบัติตามมากน้อยเพียงใดนั้น ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เขามองเพียงว่าถ้าเกิดการลงนามก็เสร็จแล้ว ขณะเดียวกันการลงนามก็ได้สร้างความเข้าใจผิดและความกังวลให้กับประชาชนของเรา ว่ามีการลงนามหยุดยิงทั่วประเทศไปแล้ว แต่การลงนามครั้งที่ผ่านมานั้นยังไม่ใช่การลงนามในข้อตกลงหยุดยิง เป็นเพียงร่างข้อตกลงที่ได้ทำเสร็จเท่านั้น” พะโด่ หน่อ ซี โพ หร่า เส็ง กล่าว
รองประธานสหภาพกะเหรี่ยงเคเอ็น กล่าวว่ามีหลายๆครั้งที่รัฐบาลไม่ยอมรับในข้อเสนอของกลุ่มชาติพันธุ์ และมีหลายครั้งเช่นกันที่รัฐบาลได้ยื่นข้อเสนอที่ไม่ตรงตามความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์เช่นกัน ตอนนี้ยังอยู่ในช่วงพูดคุยที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ และครั้งนี้ที่เราเห็นว่ามีการลงนามไวมากเพราะทางฝ่ายรัฐบาลได้มีการเตรียมการไว้แล้ว เป้าหมายของรัฐบาลคือ ต้องการให้มีการลงนามก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง หมายความว่าพวกเขามีการกดดันที่จะให้เกิดการลงนามไวๆ เพื่อให้พวกเขาได้จัดการเลือกตั้งอย่างราบรื่น ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่ได้คิดว่าความต้องการของกลุ่มชาติพันธุ์มีความสำคัญเท่าไหร่ แต่เมื่อมีการลงนามสิ่งที่เขาต้องการคือ ได้รับการสนับสนุน และชื่อเสียงเกียรติยศ ในฐานะผู้สร้างสันติภาพ และหวังที่จะมีผู้เข้ามาลงทุนหลังจากนี้ รวมถึงเงินทุนสนับสนุนในกระบวนการสันติภาพ และสร้างความชอบธรรมให้ตนเองว่าได้ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมายอย่างถูกต้อง ตนเชื่อว่ามีแรงกดดันบางส่วนจากรัฐบาล ขณะเดียวกันก็มีคนบางกลุ่มที่สนับสนุนแผนการนี้ของรัฐบาล และช่วยกดดันเพื่อให้เกิดการลงนามนี้ขึ้น
รองประธานสหภาพกะเหรี่ยงเคเอ็น กล่าวว่าการเตรียมตัวของกลุ่มชาติพันธุ์นั้น ขึ้นอยู่กับเนื้อหาในตกลงหยุดยิงทั่วประเทศฉบับนี้ คือถ้ามีหลักประกันและความมั่นใจในข้อตกลงฉบับนี้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆจึงจะมีการลงนามในข้อตกลงหยุดยิง จากร่างที่มีการลงนามไปนั้น ขณะนี้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ รวมถึงกลุ่มผู้นำของเราต้องกลับไปดูและทบทวนกันว่ามีใจความสำคัญครบถ้วนหรือไม่ ถ้ายังไม่ครบสมบูรณ์ก็ต้องมีการพูดคุยกันต่อ ยังไม่สามารถที่จะลงนามได้