เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2558 พลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล สำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ชาวเลหาดราไวย์ จังหวัดภูเก็ต ถูกนายทุนเข้ารื้อบ้าน 3 หลังว่า ได้ประสานกับคณะกรรมการรายอื่นเพื่อขอให้สำนักนายกฯ ทำหนังสือแจ้งผู้ว่าจังหวัดให้ช่วยดูแลในพื้นที่ ระหว่างที่รอเวลาจัดประชุมหาแนวทางแก้ไข เนื่องจากต้องใช้เวลาประสานงานของระบบเอกสารที่ดินพื้นที่ที่ถูกรื้อถอน เพื่อให้ทราบว่าอยู่ในบริเวณที่คณะกรรมการฯขอเพิกถอนหรือแก้ไขรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 หรือไม่ ซึ่งหากเป็นอย่างนั้น พื้นที่ดังกล่าวสามารถนำไปฟ้องศาลปกครองเพื่อขอคุ้มครองชั่วคราว โดยขณะนี้ทราบจากสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ผู้ว่าราชการเข้าไกล่เกลี่ยแล้ว
พลเอกสุรินทร์ กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีชาวบ้านหาดราไวย์นั้น คนที่ยังไม่ถูกรื้อถอน แน่นอนมีองค์กรท้องถิ่นช่วยดูแลให้ แต่กรณีคนที่ถูกกระทำไปแล้วต้องมีคนเยียวยา รับผิดชอบ ประเด็นนี้สำคัญเพราะชาวบ้านในพื้นที่นั้นไม่ได้มีรายได้มหาศาล กรณีเกิดเหตุการณ์เช่นนี้สร้างความทุกข์แก่ชุมชนเก่าแก่อย่างชาวเลมาก
“ปัญหาที่พบตอนนี้คือ มีทั้งชาวเลราไวย์ที่ภูเก็ต และกรณีชาวเล ทุ่งหว้า จังหวัดพังงา ที่มีปัญหาในพื้นที่กรณีขอฝังศพในสุสานไม่ได้ โดยแต่คณะกรรมการจะเอาประเด็นทั้งหมดมาคุยกันในวันประชุมใหญ่ประมาณ 12 พฤษภาคม โดยรวมข้อมูลของชาวเลทุกจังหวัด สำหรับชาวเลราไวย์นั้นมีปัญหาแบบดังกล่าวโดยตลอด หากฝ่ายปกครองเข้มแข็งและตรวจตรา คิดว่าเรื่องคงไม่เกิดเรื่อง แต่กรณีที่ทุ่งหว้านั้น ผ่านไป 1 ศพ ได้รับอนุญาตให้ฝัง แต่ยังเหลือปัญหาระยะยาวอีก ซึ่งปัญหาทั้งหมดต้องกางแผนที่คุยอีกระลอก ผมขอแค่ความร่วมมือฝ่ายปกครองระงับเหตุขัดแย้ง และชะลอการปลูกสร้าง รื้อถอนก็พอ เรื่องแบบนี้ผู้ว่าฯน่าจะทำได้ไม่ยาก” พลเอกสุรินทร์ กล่าว
ทั้งนี้เหตุการณ์เผชิญหน้าระหว่างชาวเลและคนไทยพุทธทวีความรุนแรงขึ้น เมื่อมีชาวเลบ้านทุ่งหว้า อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา รายหนึ่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 มีนาคม ซึ่งชาวเลได้เตรียมนำศพมาฝังในสุสานบ้านทุ่งหว้า ซึ่งเป็นสุสานเก่าแก่และมีเอกสารใบสำคัญที่หลวงยืนยันเนื้อที่ 15 ไร่ แต่ต่อมาหลักเขตถูกทำลายไป ทำให้กำนันและชาวบ้านไทยพุทธกลุ่มหนึ่งต้องการเอาพื้นที่บางส่วนของสุสานชาวเลมาสร้างที่จอดรถและเมรุเผาศพ ล่าสุดได้มีชาวเลเสียชีวิตอีกรายหนึ่งและเมื่อวันที่ 26 เมษายน ชาวเลได้เตรียมนำศพมาฝังยังสุสาน แต่ทางกำนันและชาวไทยพุทธไม่ยอม เพราะต้องการกันพื้นที่สุสานบางส่วนไปทำประโยชน์ ในที่สุดจึงเกิดการเผชิญหน้ากัน โดยต่างฝ่ายต่างระดมชาวบ้าน ในที่สุดนายอำเภอตะกั่วป่าจึงเข้ามาเป็นคนกลางห้ามก่อนที่จะเกิดการปะทะกัน
นายวิทวัส เทพสง ชาวเลจังหวัดพังงา กล่าวว่า เปลวหรือสุสานชาวเล มีเนื้อที่15 ไร่ ซึ่งหลังเหตุการณ์สึนามิถล่ม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีคำสั่งให้กันแนวเขตตั้งแต่ปี 2555 โดยบริเวณดังกล่าวมีสำนักสงฆ์ทุ่งกระทิงและต่อมาได้ยกระดับเป็นวัดขึ้นมาโดยมีกำนันและชาวบ้านกลุ่มหนึ่งพยายามเอาพื้นที่เปลวไปสร้างลานจอดรถ บางครั้งผู้ที่มาจอดรถก็ไปยืนฉี่ในบริเวณดังกล่าวกันบ่อยๆ เมื่อชาวเลเห็นก็ไม่สบายใจเพราะบริเวณดังกล่าวคือสุสานของบรรพบุรุษและญาติพี่น้องชาวเลที่เสียชีวิต
“เมื่อชาวเลจะเอาศพชาวบ้านไปฝัง โดยพ่อหมอได้ชี้พื้นที่ฝัง แต่กำนันและชาวบ้านกลุ่มหนึ่งไม่ยอม แถมมีการระดมมวลชนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเขาไม่รู้ว่าจริงๆแล้ว มีความต้องการเอาพื้นที่บริเวณนี้ 5 ไร่ไปะทำลานจอดรถ ไม่ใช่ทำเมรุ ทำให้เกิดการเผชิญหน้า แม้นายอำเภอมา แต่ไม่ได้พูดตามนโยบายที่สำนักนายกฯบอก คนไทยพุทธบางส่วนก็บอกว่าต่อไปจะไม่ช่วยเหลือชาวมอแกนแล้ว ส่วนชาวมอแกนก็บอกว่าไม่ลงคะแนนให้กำนันผู้ใหญ่บ้านเหมือนกัน เพราะย่านนี้มีเสียงชาวมอแกนอยู่มาก”นายวิทวัส กล่าว
นายวิทวัสกล่าวว่า ทางออกในเรื่องนี้คือทุกคนควรมาหารือและหาข้อตกลงร่วมกัน ว่าที่ดินวัดมีเท่าไหร่กันแน่ และการสร้างเมรุนั้น ใช้ที่จริงๆเท่าไหร่ และที่ดินของวัดพอสร้างหรือไม่ แต่ไม่ใช่มาขอพื้นที่เปลว 5 ไร่เลย ถ้ามีที่วัดก็สร้างในบริเวณวัดก่อน ต้องตรวจสอบกันก่อน แต่ไม่ใช่เอาที่ดินเปลวไปสร้างลานจอดรถเพราะชาวมอแกนไม่ยอม ที่สำคัญคือควรมีคนกลางกลางเข้ามาไกล่เกลี่ยให้ทุกฝ่ายมานั่งคุยกัน อย่าให้เกิดพลังมวลชนปะทะกัน
“จริงๆแล้วกรณีสุสานชาวเล เคยมีการเสนอเรื่องให้สำนักนายกฯพิจารณา โดยมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาประชุมและพยายามคุยคุยเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา ที่ผ่านมาแม้สำนักนายกฯเคยมีคำสั่งให้กันแนวเขตสุสานชาวเล แต่ทางจังหวัดก็ยังไม่ทำอะไรเลย จนกระทั่งมาเกิดเรื่องครั้งนี้ขึ้น”นายวิทวัส กล่าว
/////////////////////////
ขอบคุณภาพจากเฟสบุคMaitree Jongkraijug และคุณวิทวัส เทพสง