![]() |
“แม่น้ำโขง” เมื่อฤดูแล้งมาเยือน ระดับน้ำจะลดลงจนเห็นเกาะแก่ง และสันดอนทราย โดยในช่วงนี้ชุมชนที่อาศัยอยู่ริมโขงสามารถเพาะปลูกพืชผักบนที่ดินริมโขงได้ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการขึ้นลงของระดับน้ำโขงจะสัมพันธ์กับช่วงฤดูกาล
เมื่อถึงปลายพฤษภาคม ไปต้นเดือนมิถุนายน น้ำจะขึ้น ในช่วงฤดูฝน กระทั่งถึงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นฤดูแล้งน้ำก็จะลดระดับลงเรื่อยๆ โดยในช่วงต่างๆ ของฤดูกาล ชุมชนริมโขง จะปรับเปลี่ยนการหาอยู่หากิน เช่น ปลูกผัก ทำสวน ปลูกข้าว หาปลา หาไก ให้กลมกลืนและเหมาะสมกับระดับการขึ้นลงของน้ำ
ฤดูกาลชีวิตของคนริมโขงหมุนเวียนตามวงรอบเช่นนี้มาหลายช่วงอายุคน
จนเมื่อมีการเกิดขึ้นของเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ในขณะที่ความร้อนแล้งของเดือนมีนาคม ยังแผ่กระจายทั่วทุกหย่อมหญ้าเหมือนใน ทุกปี แต่ลำน้ำโขงกลับเกิดการเปลี่ยนแปลงของระดับการขึ้นลงของน้ำที่ไม่ได้เลื่อนไหลตามวิถีแห่งธรรมชาติ แต่กลับถูกปิดทับด้วยกำแพงขนาดยักษ์จากเมืองจีน
ย้อนกลับไปในปีพ.ศ.2534 แม่น้ำโขงถูกใช้เพื่อตอบสนองแผนพัฒนาที่มุ่งเน้นด้านเศรษฐกิจ ทำให้ส่งผลกระทบ และเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คนริมโขง
กระทั่งในปี 2539 ประเทศจีนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบน ชื่อเขื่อนม่านวาน ทำให้แม่น้ำโขงตอนล่างเกิดปัญหาน้ำแห้ง และระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติ
ปัจจุบัน รัฐบาลจีนมีแผนสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนรวมทั้งหมด 28 เขื่อน ก่อสร้างเสร็จแล้ว 6 เขื่อน ได้แก่ ม่านวาน ต้าเฉาชาน จิ่งหง เสี่ยวหวาน นัวจาตู้ และ กอนเกาเฉียว
ขณะที่แม่น้ำโขงตอนล่าง รัฐบาลไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ก็มีแผนสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำอีก 12 โครงการ
นอกจากเขื่อนแล้ว การระเบิดเกาะแก่งเพื่อเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ ยังส่งผลกระทบทำให้ระบบนิเวศแม่น้ำโขง โดยเฉพาะตอนบนเสื่อมสภาพลงอย่างมาก
![]() |
จากการลงเรือสำรวจแม่น้ำโขง ตลอดระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร จากท่าเรือ อ.เชียงแสน เพื่อไปที่ท่าเรือ อ.เชียงของ จ.เชียงราย พบว่าระดับน้ำจะสูงขึ้นมากกว่าช่วงปกติของฤดูแล้งที่มีเกาะแก่งผุดขึ้นเต็ม ไปหมด และตลอดการเดินทางยังสวนกับเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่หลายลำ
ทั้งยังพบโครงการก่อสร้างขึ้นเต็มไปหมด อาทิ ท่าเรือน้ำลึกปากแม่น้ำกก ที่ถูกสร้างบนพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมทั้งการปลูกกล้วยหอมในฝั่งประเทศลาว ซึ่งคนในพื้นที่ระบุว่ามีการใช้สารเคมีจำนวนมาก นอกจากนี้ แปลงผักริมโขงของชาวบ้านส่วนหนึ่งต้องจมอยู่ใต้น้ำ เนื่องจากน้ำขึ้นผิดปกติ
“ครูตี๋” นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ผู้ก่อตั้งโฮงเฮียนแม่น้ำของ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ เล่าถึงภัยคุกคามแม่น้ำโขงว่า 20 ปีที่ผ่านมาเราเห็นภาพการพัฒนามากมายที่เข้ามาสู่ท้องถิ่น ซึ่งมีผลกระทบกับทรัพยากรและผู้คนมากมาย โดยเฉพาะเรื่องที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง
ในอดีตคนเชียงของมีวิถีชีวิตที่ยึดโยงอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ ของแม่น้ำโขง แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับแม่น้ำ ทั้งเรื่องพันธุ์ปลาที่ลดลงจากเดิมที่มีมากกว่า 150 ชนิด ตั้งแต่มีเขื่อนก็เหลือน้อยกว่า 100 ชนิด เรื่องตลิ่งพังทลาย จากการเดินเรือพาณิชย์ เรื่องการหาอยู่หากินจึงยากลำบากมากขึ้น
ครูตี๋เล่าอีกว่า คนที่นี่เกี่ยวพันกับแม่น้ำโขงหลายระดับ ในวิถีชีวิตที่หลากหลาย ทั้งเก็บผักเก็บไม้ หาปูหาปลา ทำการท่องเที่ยว ขับเรือข้ามโขง การเปลี่ยน แปลงที่เกิดขึ้นจึงกระทบกับคนหาปูหาปลา คนปลูกผักริมโขง พื้นที่ทำการเกษตรมีผลกระทบพังทลายลงไป คนขับเรือก็มีผลกระทบ น้ำขึ้นลงไม่ปกติ มันพังทลาย มีผลกระทบทุกคน
“ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดมีทางเดียวที่จะทำให้เราต่อสู้กับมันได้ คือเราต้องมีความรู้ ความรู้เท่านั้นที่ทำให้ชุมชนเข้มแข็งและต่อต้านกับปัญหาได้ เราจึงก่อตั้งโฮงเฮียนแม่น้ำของขึ้น เพื่อให้ทุกคนเข้ามา เรียนรู้ เข้ามาศึกษาวิจัย แลกเปลี่ยนกันระหว่างเครือข่ายนักอนุรักษ์ เพื่อให้ใช้ความรู้ไปต่อสู้กับการพัฒนาที่เข้ามาคุกคามแม่น้ำโขง ของเรา” ครูตี๋มั่นใจเช่นนั้น
![]() |
ที่สันดอนทรายริมโขง ตะวันค่อยๆ ขึ้นจากแนวป่าฝั่งลาวทอดแสง ส้มเข้มเหนือลำน้ำโขง นายกัมพล บุญมา คนปลูกถั่วงอกริมโขง ยก ขันน้ำไล่รดแปลงถั่วงอกที่ทำจากถังน้ำอย่างแข็งขัน
กัมพลเล่าว่า แต่เดิมการปลูกถั่วงอกนั้นนิยมปลูกบนชายหาด ริมตลิ่งช่วงหน้าแล้ง แต่เมื่อระดับน้ำขึ้นลงเปลี่ยนแปลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ชาวบ้านจึงต้องหันมาปลูกถั่วงอกในถัง เพราะสะดวกในการเคลื่อนย้ายเมื่อน้ำขึ้น
โดยเมื่อก่อนนั้นคนปลูกถั่วงอกกันเยอะ ตามเกาะตามดอนต่างๆ จะเต็มไปด้วยแปลงถั่วงอก แต่ตอนนี้เหลือเพียง 3 เจ้าเท่านั้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำของเขื่อนจีนที่ไม่แน่นอน ที่สำคัญคือไม่มีการแจ้งเตือนว่าจะปล่อยน้ำตอนไหนเพราะน้ำจะขึ้นลงเร็วมากจนตั้งตัวและปรับตัวไม่ทัน
กัมพลเล่าอีกว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้คนปลูกถั่วงอกได้รับผลกระทบจากระดับน้ำ เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐไม่เคยเข้ามาแจ้งเตือนเรื่องระดับน้ำขึ้นน้ำลงในแม่น้ำโขงเลย ทำให้ชาวบ้านต้องเรียนรู้เเละจดจำเองว่าน้ำจะขึ้นหรือลงในช่วงไหน และต้องติดตามการพยากรณ์อากาศทุกวัน เพื่อจะทราบว่าวันนี้ที่ประเทศจีนสภาพอากาศเป็นอย่างไร มีพายุเข้าหรือไม่ ต้องปรับตัวและเตรียมตัวให้พร้อมอยู่ตลอด
“อยากให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือด้านการแจ้งเตือนระดับน้ำในแม่น้ำโขงให้ชาวบ้านที่ทำการเกษตรริมโขง เพราะที่ ผ่านมาได้รับผลกระทบกันหนักมาก อย่างผมเมื่อปีพ.ศ.2557 มีอยู่ วันหนึ่งออกมาดูตอนเที่ยงคืนแล้วระดับยังปกติ แต่พอผ่านไป 2 ชั่วโมงกลับมาดูใหม่ปรากฏว่าน้ำท่วมแปลงถั่วงอกหมดแล้ว เสียหาย ไปหมื่นกว่าบาท” คนปลูกถั่วงอกริมโขงสะท้อนความทุกข์ร้อน
จากระดับน้ำที่ขึ้นลงไม่สมดุล นอกจาก ส่งผลกับระบบนิเวศลุ่มน้ำโขงแล้ว ยังส่งผล กระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของชาวบ้าน เมื่อ “ไก” หรือ สาหร่ายแม่น้ำโขง แหล่งโปรตีนสำคัญของชุมชนในเขตน้ำโขง ตอนบนหายไป
ป้าบัวไหล จันธิมา อายุ 58 ปี คนหาไก บ้านหัวเวียง ร่วมเล่าถึงชะตากรรมของคนลุ่มน้ำโขงว่า หาไกมากว่า 50 ปี การหาไกส่วนมากนั้นจะเป็นผู้หญิงที่เสร็จจากงานบ้านก็จะลงโขงหาไก คนไหนพายเรือไม่เป็นก็เก็บอยู่ริมโขง ส่วนใครพายเรือเป็นก็ไปเก็บตามเกาะแก่งต่างๆ หากหาได้เยอะก็เอาไปขาย หรือไม่ก็เอาไปแปร รูปเป็นไกหมก ไกเจียว หรือทำเป็นสาหร่ายแผ่น หารายได้เข้าครอบครัวอีกทางหนึ่ง
ป้าบัวไหลเล่าอีกว่า เมื่อก่อนมีไกเยอะ โดยจะออกในหน้าแล้งที่น้ำลดลงจนเห็นเกาะแก่ง ตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม-เมษายน ขึ้นอยู่กับระดับน้ำ หากใครขยันหาวันหนึ่ง 2,000-3,000 บาทก็หาได้ แต่เดี๋ยวนี้แทบไม่ได้กินเลย 2 ปีมาแล้วที่ไกไม่ออก โดยเฉพาะปีที่เเล้วหาไกไม่ได้เลย ปีนี้ก็หาได้นิดเดียวเมื่อช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ แต่เมื่อน้ำขึ้นก็หาไม่ได้ ตอนนี้ 200-300 บาทก็หาไม่ได้
“พอเขื่อนจีนปล่อยน้ำออกมาเยอะ ไกก็ถูกน้ำพัดไปหมด เมื่อหาไกไม่ได้ก็กระทบกับรายได้ที่เคยนำมาจุนเจือครอบครัว แต่ไม่รู้จะทำยังไง ในเมื่อไม่สามารถควบคุมสิ่งที่เกิดขึ้นได้ เมื่อเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ก็ต้องปรับตัว หาไกไม่ได้ก็ออกไปรับจ้างไปทำอาชีพอื่น ไปเป็นแม่บ้านตามเกสต์เฮาส์ แต่ยังหวังให้ระดับน้ำของแม่น้ำโขงขึ้นลงตามธรรมชาติ ถ้าเป็นอย่างนั้นเมื่อใดคงได้ลงแม่น้ำโขงกลับไปหาไกอีกครั้ง” ป้าบัวไหลยังมีความหวัง
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขงในวันนี้ นอกจากต้องอาศัยพลังชุมชนที่เข้มแข็งในการต่อต้านการพัฒนา และทวงคืนธรรมชาติให้กับแม่น้ำโขงแล้ว ยังต้องอาศัยความตั้งใจจริงของภาครัฐ ที่ต้องวางแนวทางการพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน
รวมถึงเร่งประสานงานกับทางการจีน ว่าจะบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนอย่างไรให้กระทบกับชาวบ้านริมฝั่งโขงน้อยที่สุด รวมถึงเร่งประสานงานกับทางการจีน ว่าจะบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนอย่างไรให้กระทบกับชาวบ้านริมฝั่งโขงน้อยที่สุด
โดย นพพล สันติฤดี ข่าวสด วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2558
http://goo.gl/GykP9B