เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2558 นายโชคดี ปรโลกานนท์ ประธานมูลนิธิเกษตรเพื่อการพึ่งตนเองและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น กล่าวว่า ขณะนี้มีเครือข่ายนักอนุรักษ์และประชาชนหลายภาคส่วนให้ความสำคัญกับการจัดงานรำลึก 20 ปี เขาแผงม้า โดยช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทางมูลนิธิฯ ได้ยื่นหนังสือส่งตรงถึงพลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เพื่อแสดงข้อห่วงใยต่อการจัดการพื้นที่เขาแผงม้า ในเนื้อที่กว่า 5,000 ไร่ โดยมีเนื้อหาหลัก คือ ภาคประชาชนมองว่าการจัดการพื้นที่เขาแผงม้าในฐานะเขตห้ามล่าสัตว์ป่าที่ผ่านมาก่อให้เกิดการสั่นคลอนในระบบนิเวศในพื้นที่อย่างมาก ความสมดุลในพื้นที่หายไป และไม่สอดคล้องกับแผนแม่บทการจัดการป่าตามโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ชาวบ้านเคยเสนอและร่วมปฏิบัติกันมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เครื่องจักรเปิดพื้นที่ป่านั้นย่อมสร้างผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อมอย่างแน่นอน นอกจากนี้นโยบายการปลูกพืชต่างถิ่นอย่างหญ้ารูซี่ ก็เป็นการละเมิดกฎธรรมชาติในชุมชน ที่เสี่ยงต่อการทำลายความหลากหลายในธรรมชาติ
นายโชคดีกล่าวว่า การพยายามสร้างแหล่งน้ำเพื่อให้สัตว์ได้ใช้บริโภค เป็นการสร้างแบบจำลองทั้งในพื้นที่เขาหลวงและเขาใหญ่ เป็นการสร้างที่ไม่ตรงเจตนารมณ์ของคนในท้องถิ่นและไม่ดึงดูดให้สัตว์ป่าใช้แหล่งน้ำที่สร้างขึ้น อาจทำให้สัตว์ป่าสำคัญอย่างกระทิงที่เคยหากิน ไม่ใช้แหล่งน้ำแล้วเดินออกหากินนอกพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกล่า และทำลายพืชผลการเกษตรของประชาชนรายอื่นที่อยู่โดยรอบ อีกทั้งนโยบายการอนุรักษ์กระทิงที่ทางรัฐบาลจัดการนั้นเป็นการกระทำที่ม่ตรงกับหลักธรมรชาติ เพราะการส่งเสริมให้กระทิงหากินในป่าลึกอย่างเดียวนั้น เป็นการจัดการที่ตัวกระทิงไม่ใช่การจัดการทรัพยากร และสภาพแวดล้อมส่งเสริมการอาศัยของสัตว์ป่าอย่างเช่นกระทิง ดังนั้นย่อมไม่สำเร็จและมักจะทำให้ป่าในพื้นที่เขาแผงม้ากลายเป็นป่าที่ขาดระบบการจัดการ จึงอยากให้เน้นการจัดการที่ยั่งยืนและส่เสริมการปลูกป่าและการจัดการร่วมกันของท้องถิ่นมากกว่าใช้กฎหมายอนุรักษ์สัตว์ป่าแบบที่ภาครัฐทำ แต่ต้องเปิดโอกาสให้ชุมชนซึ่งคุ้นเคยกับป่าเขาแผงม้ามีส่วนร่วม ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ได้รับการตอบรับ ทางเครือข่ายนักอนุรักษ์จึงได้รวมตัวกันเพื่อจัดงานรำลึกถึง 20 ปีเขาแผงม้าขึ้นที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
Comments are closed, but trackbacks and pingbacks are open.