เรือไม้ลำเล็กลอยเข้าฝั่งอย่างช้าๆ ชายวัยกลางคนร่างกำยำผิวคล้ำกร้านแดด ยืนบังคับท้ายเรือให้จอดตรงเป้าหมาย หลังถูกระลอกคลื่นจากเรือเร็วที่แล่นออกสู่เวิ้งทะเลกว้างใหญ่ เพื่อส่งนักท่องเที่ยวที่มาดูความสวยงามของทะเลอันดามันตามเกาะแก่งต่างๆ ซัดจนโคลงเคลง ไม่นานเมื่อจอดเรือได้แล้ว ชายเจ้าของเรือถือถังที่เต็มไปด้วยอาหารทะเล เดินหายเข้าบ้านไปอย่างรวดเร็ว
ชีวิตของคนหาปลาปากบาราไม่เคยอดตาย หากยังมีแหล่งทรัพยากรให้พวกเขาได้หากิน
แต่ความมั่นคงทางอาหาร และท้องทะเลที่นิ่งสงบกำลังถูกท้าทาย เมื่อรัฐบาลประกาศสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา เพื่อใช้เป็นประตูการค้าฝั่งอันดามันเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าสู่ทวีปยุโรป ตะวันออก กลาง และแอฟริกา
ภายใต้โครงการก่อสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม จำนวน 3 ล้านล้านบาท หนึ่งในนั้นคือ โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา
โดย พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม ยืนยันว่ารัฐบาลจะสร้างท่าเรือแน่นอน แต่ขอให้เสนอโครงการเข้ามาใหม่ให้รอบคอบขึ้น และจะไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ โดยจะไม่จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แน่นอน
ในส่วนของ นายจุฬา สุขมานพ อธิบดีกรมเจ้าท่า ระบุเช่นกันว่าหากท่าเรือปากบาราก่อสร้างไม่ได้ในรัฐบาลนี้ ก็ควรยกเลิกโครงการ เพราะจะไม่คุ้มค่ากับการลงทุน แต่โอกาสที่จะถอยนั้น มีน้อยกว่าเดินหน้าต่อไป
โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ถูกกำหนดให้ตั้งอยู่บริเวณปากแม่น้ำปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา มีเนื้อที่ประมาณ 4,000 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาภาคใต้ ให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยมีท่าเทียบเรือเป็นก้าวแรก
พร้อม “แลนด์บริดจ์” สะพานแผ่นดินที่เชื่อมสองฝั่งทะเลอันดามัน-อ่าวไทย ผ่านการขนส่งโดยรถไฟ เพื่อให้เรือขนส่งสินค้าไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกา
ปัจจุบันอยู่ในระหว่างเตรียมศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (เอสอีเอ) โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ที่ใช้งบประมาณ 50 ล้านบาท
ในวงพูดคุยเรื่องโครงการท่าเรือน้ำลึกปาก บารา ที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ระหว่างชาวบ้าน และนักวิชาการที่มาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันนั้น
รศ.ดร.สมบูรณ์ เจริญจิระตระกูล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่เล่าถึงข้อมูลการสร้างท่าเรือน้ำลึกในประเทศไทยว่า ฝั่งทะเลอันดามันเคยมีท่าเรือน้ำลึก จ.ระนอง สามารถใช้เป็นกรณีศึกษาเรื่องท่าเรือน้ำลึกได้เป็นอย่างดี เนื่องจากสร้างมาแล้วแทบไม่ได้ใช้ให้เกิดความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ เหมือนที่ศึกษาในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ
จากการศึกษาพบว่า ท่าเรือระนองมีเรือเข้ามาใช้เฉลี่ย 2 วัน ต่อ 1 ลำ ตัวแบบท่าเรือระนองนั้น เป็นตัวแบบเดียวกับท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่เรือจอดได้ 2 ลำ อีกท่าเรือคือท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการส่งออกสินค้าไปที่เอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา แต่อย่างใด สิ่งที่กำลังทำเหมือนพยายามย้ำรอยเดิมที่ไม่ประสบความสำเร็จ
อาจารย์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ชี้อีกว่าการศึกษาวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ของท่าเรือน้ำลึกปากบารา ในอีไอเอ ปี 2552 ที่ระบุว่าถ้าลงทุนไป 1 บาท จะได้ผลตอบแทนกลับคืนมา 1.58 บาท เป็นเพียงการคิดจากกำไรที่ได้จากผลตอบแทนทางอ้อม ซึ่งไม่ใช่การวิเคราะห์ทางการเงิน เพราะถ้าพูดถึงการวิเคราะห์การเงินอย่างเดียว ผลตอบ แทนคือรายได้จากการใช้บริการท่าเรือ จะมีแค่ 19 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เท่ากับว่าถ้าลงทุน 1 บาท จะได้เงินคืนกลับมาไม่ถึง 50 สตางค์ หากคิดในเชิงการเงิน ถือว่าขาดทุนแน่นอน
“การวิเคราะห์ทางเศรษฐ กิจที่ระบุในอีไอเอนั้น ยังไม่คิดถึงต้นทุนทางอ้อม ซึ่งประกอบด้วยเศรษฐกิจ สังคม และชีววิทยาสัตว์น้ำที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการ เช่น นักท่องเที่ยวจะมาปากบารา หรือเภตรา เหมือนเดิมไหม สัตว์น้ำที่จะได้รับผล กระทบ หรือชาวประมงไม่สามารถออกหาปลาได้ ทั้งหมดนี้เป็นต้นทุนทางอ้อมที่เกิดขึ้นจากโครงการที่ผู้ศึกษาไม่ได้ศึกษาไว้ การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ในโครงการ จึงเป็นการตีค่าผลตอบแทนที่สูงเกินจริง” รศ.ดร.สมบูรณ์ชำแหละ อีไอเอท่าเรือน้ำลึกปากบารา
ส่วน ดร.ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง หัวหน้าหน่วยวิจัยปะการังและสัตว์พื้นทะเล คณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ร่วมเล่าถึงความสมบูรณ์ของทะเลอันดามันว่า จากการศึกษาสำรวจตลอดทั้งชายฝั่งอันดามัน พบว่า จ.สตูล มีจุดเด่นที่สำคัญคือความหลากหลายของระบบนิเวศทางทะเลเขตร้อนครบทุกรูปแบบ โดยเฉพาะความหลากหลายทางทะเลใต้น้ำมากที่สุด
อีกทั้งยังเป็นระบบนิเวศเอสทูรี ที่ประกอบด้วยป่าชายเลน หาดทะเล หญ้าทะเล ปะการังน้ำตื้น และปะการังนอกชายฝั่ง หลากหลายมากที่สุด มีปะการังที่ถูกพบในมหาสมุทรแปซิฟิก มหาสมุทรอินเดีย มีปะการัง 7 สี ถือว่าเยอะและหนาแน่นที่สุด รวมถึงมีปะการังกัลปังหา และมีป่าที่เป็นเกาะที่อุดมสมบูรณ์
“ถ้ามีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เข้ามาในพื้นที่ จะส่งผลกระทบกับพื้นที่อย่างมาก ที่บอกว่าจะให้ชาวบ้านได้ทำงานนั้น ถามว่าคนที่นี่จะมีงานทำได้กี่คน เราจะไปทำงานอะไร เป็นยามไหม เปิดร้านอาหารขาย เหมือนที่มาบตาพุด จ.ระยอง ทั้งที่จริงรัฐควรพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยว บนฐานทรัพยากรที่มีอยู่” ดร.ศักดิ์อนันต์เสนอแนวทางการพัฒนา
ขณะที่ชาวบ้านปากบารา ที่ส่วนหนึ่งทำอาชีพประมงพื้นบ้าน ยังคงออกเก็บหอยริมหาด และออกทะเลหาปลาตามปกติ ส่วนนักท่องเที่ยวยังหลั่งไหลมาเที่ยวชมความสวยงามของทะเลอันดามันอย่างต่อเนื่อง
บังบ่าว นายกัมพล ถิ่นทะเล อายุ 49 ปี ยึดอาชีพประมงพื้นบ้านมากว่า 40 ปี เล่าว่าตอนนี้ประมงพื้นบ้านที่หากินอยู่แถวชายฝั่ง มีประมาณพันกว่าคนกังวลกับโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราอย่างมาก เพราะพื้นที่ที่ใช้สร้างท่าเรือนั้น เป็นพื้นที่ที่พวกชาวประมงชายฝั่งออกหาอาหารทะเล ทั้ง ปลา กุ้ง ปู หอย หากมีท่าเรือก็เหมือนมีคนมาทุบหม้อข้าวของพวกเรา
บังบ่าวเล่าต่อว่าถ้าพื้นที่หากินของพวกเราถูกทำลาย ยังคิดไม่ออกเลยว่าจะไปทำมาหากินที่ไหน จะไปทำงานอะไร คนเลอย่างเราทำอะไรก็ไม่เป็น จะไปเป็นลูกจ้างช่วยเขาสร้างท่าเรือ เขาก็คงไม่เอา เพราะอายุเยอะแล้ว คงทำอะไรไม่ไหว แต่ถ้ายังหาปลา ไปเช้าเย็นกลับบ้าน ลงทุนไม่มาก ช่วงไหนกุ้งเยอะก็หากุ้ง ปูเยอะก็จับปู ปลาเยอะก็วางเบ็ด วางอวนจับปลาตามฤดูกาลของมัน ยังไงก็ได้อาหารกลับมาทุกวัน ถ้าได้มากก็ขาย ถ้าได้น้อยก็เก็บไว้กินเอง ชีวิตเราเป็นอย่างนี้ไม่ต้องเดือดร้อน แต่ถ้ามีท่าเรือพวกเราเดือดร้อนแน่
ด้าน ครูแสงโสม หาญทะเล ครูสอนวิชาอัตลักษณ์ชาวเล ร.ร.บ้านเกาะอาดัง บนเกาะหลีเป๊ะ แสดงความวิตกว่าถ้ามีท่าเรือ ชาวเลอย่างเราตายแน่นอน นอกจากหาอาหารไม่ได้แล้ว รายได้จากการท่องเที่ยวที่พอจุนเจือพวกเราก็จะหายไป ทุกวันนี้แค่เรือประมงพาณิชย์ยังทำลายและรบกวนการหาปลาของพวกเรา ถ้ามีท่าเรือน้ำลึกที่มีเรือใหญ่วิ่งไปมา จะทิ้งคราบน้ำมัน และสิ่งปฏิกูลลงทะเล จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมขนาดไหน
“ถ้ามีการสร้างท่าเรือชาวเลจะออกไปต่อต้านแน่นอน ทุกวันนี้ต้องอยู่อย่างยากลำบาก เนื่องจากต้องต่อสู้เรื่องที่อยู่อาศัยกับผู้มีอิทธิพลบนเกาะแล้ว ยังต้องมากังวลกับแนวทางการพัฒนาของรัฐที่กำลังจะเกิดขึ้น” ครูแสงโสมครวญถึงชะตากรรมชาวเล
ขณะที่ทางเลือกในการพัฒนาอุตสาหกรรมของรัฐมีอยู่หลายทาง แต่ทางรอดของชาวบ้านกลับเหลือเพียงทางเดียว คือการที่รัฐล้มเลิกโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา
โดย นพพล สันติฤดี ข่าวสด 9 กค 58
http://daily.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROamIyd3dNVEE1TURjMU9BPT0=§ionid=TURNd013PT0=&day=TWpBeE5TMHdOeTB3T1E9PQ==