
เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่โรงแรมเซ็นทาราแม่สอดฮิลล์ รีสอร์ท อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) เพื่อพิจารณาข้อร้องเรียนของชาวบ้านตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด ที่ได้รับความเดือดร้อนเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินกว่า 2,000 ไร่เพื่อสร้างเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด โดยมีน.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการฯเป็นประธาน ซึ่งนอกจากชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกว่า 100 คนแล้ว ยังมีผู้แทนส่วนราชการและเอกชนที่เกี่ยวข้อง อาทิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ผู้แทนหอการค้าจังหวัด เข้าร่วมชี้แจงด้วย

น.ส.ชมพูนุช เครือคำวังตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่เคยได้รับข้อมูลใดๆ รู้แต่ว่าแม่สอดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ จนกระทั่งมีคำสั่งของนายกรัฐมนตรี โดยพื้นที่ที่ถูกเวนคืนแบ่งเป็น 2 โซนคือ 1,346 ไร่ และ กว่า 800 ไร่ โดยชาวบ้านรู้ว่ามีถนนตัดผ่านและยอมเซ็นเอกสารรับทราบแนวถนน แต่ไม่เคยมีใครทราบว่าจะถูกเวนคืนที่ดิน ล่าสุดยังสับสนเรื่องแนวเขตที่จะเวนคืน ปัจจุบันพื้นที่เหล่านี้ไม่ใช่พื้นที่รกร้างอย่างที่อ้าง แต่เป็นที่ดินทำกินของชาวบ้าน โดยชาวบ้านวังตะเคียนหมู่ 4 และหมู่ 7 รวม 115 ครัวเรือนได้รับผลกระทบจากการเวนคืนครั้งนี้

“พื้นที่ในแปลงที่ถูกเวนคืน แผนที่เว้าๆแหว่งๆ เพราะที่ดินบางแปลงเป็นของบางคนที่ไม่ถูกเวนคืนซึ่งชาวบ้านข้องใจมาก ว่าทำไมถึงเว้นไว้ ขณะที่พวกเราเป็นเกษตรกรถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกนายทุนหรือรับเงินจากนายทุนมาต่อต้าน ทั้งๆที่เราไม่ใช่นายทุน เราแค่อยากใช้ชีวิตปกติของเรา ชาวบ้านวังตะเคียนไม่ต้องการอุตสาหกรรม การยึดที่ดินของเราไปให้นายทุน ห่วงแต่นายทุน ไม่ห่วงเราบ้างหรือ เรายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีคำตอบใดๆกลับมาเลย จิตใจชาวบ้านย่ำแย่ลงทุกวัน”น.ส.ชมพูนุช กล่าว
น.ส.ชมพูนุชกล่าวว่า ชาวบ้านต้องการที่ดินทำกินเหมือนเดิมและให้ย้ายเขตอุตสาหกรรมไปไว้พื้นที่เหมาะสม ไม่ใช่ย้ายมาอยู่ในชุมชนและควรยกเลิกประกาศเวนคืนที่ดิน นอกจากนี้ควรยุติการคุกคามชาวบ้านเพราะมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานนอกเครื่องแบบเฝ้าที่บ้าน รวมทั้งปล่อยกระแสข่าวว่านายทุนหนุนหลัง การที่มีบุคคลในเครื่องแบบไปเฝ้าอยู่หน้าบ้านเหมือนกับพวกตนเป็นนักโทษถูกกักกัน
นายสำรวม พันธุ์พืช ประธานชมรมผู้สูงอายุองค์การบริหารส่วนตำบลท่าสายลวดกล่าวว่า ผู้เดือดร้อนยังไม่ทราบชะตากรรมของตัวเองเลยว่าจะอยู่อย่างไร พวกเราชาวบ้านยินดีกับความเจริญ แต่ต้องมีความเป็นธรรมด้วย ไม่ใช่รายงานไปที่นายกฯว่าพื้นที่ของเราเป็นที่ป่าไม้เพราะไม่พูดตามข้อเท็จจริง ทั้งๆที่เป็นป่าถาวรและควรได้เอกสารสิทธิ์แล้ว ทำไมเจ้าหน้าที่รัฐถึงไม่ทำประชาคมล่วงหน้าก่อนที่จะไปปล้นที่ดินของเรา การเอาที่ดินของเราไปให้กระทรวงการคลังดูแล ยิ่งทำให้ชาวบ้านช้ำใจ
นางสำนึก คำอ่อง ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบกล่าวว่า พื้นที่นี้ไม่ควรเอาพื้นที่นี้ไปทำอุตสาหกรรม ในพื้นที่แม่สอดไม่ควรมีอุตสาหกรรมด้วย เพราะเป็นพื้นที่เกษตรและเป็นภูเขามีร่องน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ซึ่งควรอยู่คู่เกษตรกร อุตสาหกรรมควรไปอยู่พื้นที่ราบ เพราะต้องไปขุดกลบอีกไม่รู้เท่าไหร่ อยากให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐควรลงไปดูพื้นที่ อย่าเอานโยบายของรัฐมาทำให้ประชาชนเดือดร้อน
นางปราณี ม่วงเผือก กล่าวว่า อยากถามทุกหน่วยงานว่าถ้าเอาที่ดินประชาชนไปแล้ว จะให้พวกตนถอยไปอยู่ที่ไหน หรือจะให้ข้ามไปอยู่ฝั่งพม่า ที่ผ่านมาเรายกสะพานและถนนให้แล้ว แต่กลับไม่เคยลงพื้นที่ไปคุยกับชาวบ้านเลย
ขณะที่ผู้แทนสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวว่าเรื่องนี้เป็นนโยบายของรัฐบาล โดยพิจารณาจากความต้องการของจังหวัด ส่วนการกำหนดพื้นที่นั้นดูจากศักยภาพ ซึ่งคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้ออกประกาศโดยในส่วนของแม่สอดประกาศเฉพาะพื้นที่ที่ติดชายแดน รวมกว่า 8 แสนไร่ แต่ 2 พันไร่จะเป็นพื้นที่ดำเนินการพัฒนาจริงๆ โดยแม่สอดมีมูลค่าการค้าชายแดนพม่าสูงเป็นอันดับสอง รองจากด่านสังขละบุรี จังหงวัดกาญจนบุรี และยมูลค่าการค้าเติบโตถึงร้อยละ 19 โดย ซึ่งไทยเป็นผู้ได้เปรียบทางการค้า ทั้งนี้แม่สอดสามารถเชื่อมโยงได้ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก นอกจากนี้ยังมีแรงงานพม่าจำนวนมากที่รองรับการพัฒนาได้ ตอนนี้จึงดำเนินการตามกรอบกฎหมายที่มีอยู่
รองประธานสภาหอการค้าตากกล่าวว่า มักอ้างว่าเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษเริ่มต้นโดยหอการค้าฯซึ่งความจริงแล้ว มองแค่เรื่องความเจริญในท้องถิ่น แต่รัฐบาลกลับเอาไปแปลงรูปเปลี่ยนร่าง เราเป็นผู้บุกเบิกไม่ใช่ผู้บุกรุก ไม่อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่หอการค้าดำเนินการมา โดยเคยเสนอว่าแทนที่ราชพัสดุจะเอาที่ดินไปให้กลุ่มทุนภายนอก ให้คนท้องถิ่นได้สิทธิในการเช่าและมีรายได้ด้วยได้มั้ย ส่วนคนที่ถูกบังคับเอาที่ดินไป ควรให้เขาได้รับสิทธิ์จากการค้าขายในเขตเศรษฐกิจพิเศษและลูกหลานที่มีความรู้ควรได้รับพิจารณาพิเศษก่อน นอกจากนี้ควรแบ่งโซนทำบ้านพักเพื่อช่วยเยียวยาชาวบ้าน ไม่ใช่แค่จ่ายเงินก้อนหนึ่งแล้วหมดไปกับย้ายบ้าน เราไม่อยากให้เหมือนชายแดนใต้เพราะคนในพื้นที่ถูกรังแก
ด้านรองผู้ว่าราชการจังหวัดตากกล่าวว่า ทางจังหวัดได้เเสนอพื้นที่จัดทำเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดไป 3 จุด เพื่อให้สภาพัฒน์พิจารณาโดยทั้ง 3 จุดส่วนใหญ่เป็นป่าชุมชน เราพยายามตัดเรื่องที่ดินที่เป็นนส.3และโฉนดออกไป เน้นไม่ให้กระทบชาวบ้าน และข้างบนเป็นผู้เลือก ซึ่งเมื่อดูแล้วพื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตป่าไม้ถาวรจำแนก ป่าสงวน เป็นหลัก และที่ดินของชาวบ้าน เลยต้องตัดบางส่วนออกไปอีก บริเวณนี้จะให้ผู้ประกอบการจากภายนอกมาลงทุน และคสช.ก็ได้สั่งการตามมาตรา 44 ให้ใช้ที่ดินบริเวณนี้
ทั้งนี้ในที่ประชุมอนุกรรมการฯและชาวบ้านพยายามซักถามถึงความช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกเวนคืน แต่ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนโดยรองผู้ว่าฯได้ชี้แจงโดยภาพรวมๆว่าจะให้กรมธนารักษ์ไปดูเพิ่มเติม รวมทั้งให้สำนักงานปฎิรูปที่ดินไปร่วมแก้ไข และการเยียวยานั้นต้องยึดระเบียบกฎหมายโดยช่วยเหลือประชาชนให้ดีที่สุด
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายเวนคืนที่ดินในพื้นที่เขตเศรษฐกิจแม่สอด ได้พาคณะอนุกรรมการฯลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อเท็จจริงที่ดินแปลงต่างๆที่ถูกเวนคืน โดยชาวบ้านเชื่อว่าเป็นการเวนคืนที่ไม่ยุติธรรม เพราะมีที่ดินของนักการเมืองท้องถิ่นและเจ้าของกิจการต่างๆถูกกันออกจากแผนที่ ซึ่งที่ดินบางแปลงแม้อยู่ติดกัน แต่ก็ได้รับการปฎิบัติที่แตกต่างกัน นอกจากนี้คณะอนุกรรมการฯยัง่เดินทางไปจุดซึ่งกำลังสร้างสะพานแห่งข้ามแม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยขณะนี้กำลังเร่งมือเพื่อให้พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานในการวางศิลาฤกษ์
หลังจากนั้นชาวบ้าน นายพนม แสงแปลง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ท่าสายลวดและคณะอนุกรรมการฯได้มีการหารือกัน โดยนายสำรวม พันธุ์พืช ประธานชมรมผู้สูงอายุอบต.ท่าสายลวด กล่าวว่าชาวบ้านรู้สึกน้อยใจที่ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ให้เกียรติ์กัน เพราะไม่เคยลงพื้นที่หรือทำความเข้าใจกับชาวบ้านเลย แต่ทุกคนต้องรู้สึกช็อคเมื่อจู่ๆนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามมาตรา 44 เวนคืนที่ดินจากชาวบ้าน โดยชาวบ้านพยายามร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ทำหนังสือไปถึงนายกรัฐมนตรีถึง 7 ครั้ง และร้องเรียนไปยังรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 3-4 ครั้ง
“พวกเรารู้สึกทุกข์ใจมาก พอจะประชุมกันหรือจะแถลงข่าวก็ถูกเจ้าหน้าที่กีดกัน ขนาดเราจะไปร้องเรียนที่กสม.เรายังต้องหลบๆซ่อนๆและปิดลับอย่างรุนแรง ตอนที่นายกฯไปประชุมครม.ที่เชียงใหม่ ก็มีเจ้าหน้าที่ตามประกบพวกเรา เราอยู่กันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย แต่กลับถูกไล่”
นายพนม กล่าวว่ ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือมาที่อบต.ซึ่งอบต.ได้ยื่นต่อไปที่อำเภอ และได้มีการชี้แจงในที่ประชุมที่อำเภอ แต่กรมที่ดินและกรมธนารักษ์ยังไม่สามารถตอบข้อข้องใจของชาวบ้านได้ ทำให้ขณะนี้ชาวบ้านยังคงเดือดร้อนเพราะที่ดินที่ทำกินถูกเวนคืน
//////////////////