Search

ทวงคืนป่าฯ โค่นแหลก ชาวบ้านโอดไม่รอพิสูจน์สิทธิ์

IMG_0757-1024x768

 

แผนทวงคืนผืนป่า คสช.โค่นต้นไม้เกลี้ยง ชาวบ้านโอดไม่เคยได้รับการพิสูจน์สิทธิอย่างเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมลงพื้นที่อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เพื่อติดตามปัญหาและสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64 และ 66 / 2557 รวมถึงแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน หรือ “แผนแม่บทป่าไม้และที่ดิน”

โดยพื้นที่ของเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กที่เป็นประเด็นพิพาทระหว่างรัฐกับชาวบ้านนั้น เชื่อมโยง 8 อำเภอ 3 จังหวัด คือ จ.สกลนคร ได้แก่ อ.ส่องดาว อ.วาริชภูมิ  อ.นิคมน้ำอูน อ.กุดบาก, จ.กาฬสินธุ์ ได้แก่ อ.คำม่วง อ.สมเด็จจังหวัด และ อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี ทางทีมข่าวจึงได้ทำการสำรวจพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าภูวง อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร และเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าบะยาว, หนองหญ้าไซ อ.วังสามหมอ จ.อุดรธานี

สวาท อุปฮาด ผู้ประสานงานเครือข่ายไทบ้านคนไร้สิทธิสกลนคร เปิดเผยว่า หลังจากมีการประกาศใช้คำสั่งของ คสช. เรื่องการทวงคืนผืนป่าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็เริ่มมีตั้งแต่ปลายปี 2557 ถึงกลางปี 2558  โดย จ.สกลนคร เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ถูกรัฐใช้นโยบายทวงคืนผืนป่ามากที่สุด ซึ่งต้นเหตุของปัญหาการละเมิดสิทธิทำกินและที่อยู่อาศัยนั้น มีมาตั้งแต่ยุคเริ่มประกาศเขตอุทยานแห่งชาติและเขตป่าสงวน ช่วงปี 2548 เรื่อยมาจนถึงยุคทวงคืนผืนป่า

ซึ่งแรกเริ่มเดิมที พื้นที่ อ.วาริชภูมิ นั้นเป็นพื้นที่สีแดงที่มีคอมมิวนิสต์อาศัยอยู่ จากนั้นชาวบ้านจึงได้เริ่มบุกเบิกพื้นที่ทำกินและสร้างที่อยู่อาศัยในเวลาต่อมา โดยส่วนหนึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ต้องการรุกคืบพื้นที่ของคอมมิวนิสต์เหล่านั้น แต่ทว่าการอยู่อาศัยของชาวบ้านที่นี่ไม่เคยมีเอกสารสิทธิในการครอบครองแต่อย่างใด อาศัยเพียงการสืบทอดตามสายเลือด กลายเป็นที่ดินมรกดต่อเนื่อง บางคนปลูกพืชไรหลายชนิด ทั้งกล้วย, มันสำปะหลัง, พริก, มะเขือ, มะขาม, ลำไย, เงาะ ฯลฯ โดยมีการสืบทอดมรดกที่ดินต่อกันถึง 3 รุ่น

กระทั่งเดือนมิถุนายน ปี 2541 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ชาวบ้านได้เข้าแจ้งพิสูจน์สิทธิการครอบครองพื้นที่ โดยแจ้งความจำนงกับเขตป่าอนุรักษ์ทั้งอุทยานแห่งชาติและเขตป่าสงวน แต่ปรากฏว่าผลการพิสูจน์นั้นไม่เป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน จึงได้ทำการยื่นเรื่องให้รัฐยกเลิกการพิสูจน์สิทธิ์ตามมติดังกล่าว

“ยุคนั้นผลการพิสูจน์ออกมา พบว่าบางคนมีที่ดิน 18 ไร่ แต่กลับผ่านการพิสูจน์เหลือเพียง 2 ไร่ ซ้ำร้ายบางรายเหลือเพียง 3 ตารางวา ชาวบ้านก็ไม่เอา เพราะที่ดินเหลือน้อยมากไม่รู้จะไปทำอะไร จึงเสนอทางจังหวัดให้มีการพิสูจน์สิทธิ์ใหม่ที่เป็นธรรมและเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้แสดงความคิดเห็นมากกว่าเดิม แต่ปรากฏว่ากระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ยังไม่ทันยุติ ก็มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กใน ปี 2552 ซึ่งชาวบ้านก็คัดค้านแต่ไม่สำเร็จ ซึ่งก็มีชาวบ้านบางส่วนที่ยังคงยึดพื้นที่ดินทำกินเช่นเดิม โดยส่วนมากที่ดินที่สร้างบ้านจะมีเอกสารสิทธิ์ แต่ที่ดินทำกินนั้นไม่มีเอกสารสิทธิ์แสดงการครอบครอง”

“กระทั่งเมื่อถึงยุค คสช. ที่มาพร้อมการประกาศใช้แผนแม่บททวงคืนผืนป่า สร้างความเดือดร้อนแก่ชาวบ้านในพื้นที่อย่างมาก หลายคนถูกทำลายพืชผลทางการเกษตร ขณะที่บางคนถูกฟ้องดำเนินคดีข้อหาบุกรุก และถูกห้ามเข้าเขตอุทยานหรือเขตป่าสงวนนั้น ทั้งที่คณะกรรมการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากแผนแม่บทฯ โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ มีมติชัดเจนว่าให้แต่ละจังหวัดชะลอการประกาศใช้แผนดังกล่าวก่อน จนกว่าจะร่วมกำหนดแนวทางแก้ไขด้วยกัน แต่ปรากฏว่าภาคพื้นที่กลับไม่เคยปฏิบัติตาม” นายสวาท กล่าว

ด้านนางจันทรา บังหอม อายุ 82 ปี ชาวบ้านหนองแวง หมู่ 19 ต.วาริชภูมิ อ.วาริชภูมิ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2558 ตนอาศัยอยู่ในบ้านและได้ให้ลูกชายไปกรีดยางที่ไร่ ปรากฏว่าช่วงสายของวันนั้น มีชาวบ้านวิ่งมาแจ้งข่าวว่าไร่ยางถูกโค่นเกลี้ยงทั้ง 18 ไร่ โดยเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่อุทยานฯ และเจ้าหน้าที่ป่าไม้กว่าร้อยคน อาศัยจังหวะตั้งแต่ช่วงตี 5 ยกกำลังเข้าพื้นที่เพื่อโค่นต้นยางพร้อมพิธีบวชป่าในพื้นที่อุทยานฯ โดยชาวบ้านไม่เคยทราบมาก่อนว่าจะมีกิจกรรมในชุมชน

ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้สร้างความเศร้าโศกเสียใจแก่ตนเป็นอย่างมาก เนื่องจากสวนของตนได้ทำการปลูกต้นยางไปแล้วถึง 9 ปี และเพิ่งโตพอจนสามารถเก็บเกี่ยวยางขายได้เพียง 2 ปีเท่านั้น ยังไม่มีโอกาสได้ใช้หนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ก็กลับถูกทำลายจนหมดสิ้น ขณะนี้ตนและลูกชายจึงต้องแบกรับหนี้สินกว่า 2.5 แสนบาท จากการกระทำของรัฐที่ไม่เคยมีการแจ้งเตือนใดๆก่อน ซึ่งภายหลังที่ไร่ของตนถูกโค่นประกอบกับป้ายประกาศทวงคืนฯ และประกาศแนวเขตรอบเขตอุทยานฯ ชาวบ้านในพื้นที่ก็ไม่มีใครกล้าเข้าไปในไร่อีกเลย ซึ่งชาวบ้านทั้งที่ จ.สกลนคร, กาฬสินธุ์ และอุดรธานี ก็กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเดียวกัน

“ใครๆเขาก็หาว่าเราเป็นทุนใหญ่ แต่เรามีที่ดินแค่นี้ เดิมมีย่ามอบที่ดินให้พ่อแล้วเราก็รับมาจากพ่อตั้งแต่ปี 2525 เมื่อก่อนปลูกแค่พริก มะเขือ กล้วย แต่พอรัฐมาส่งเสริมก็หันมาปลูกยางโดยหวังจะหาเงินใช้หนี้ ซึ่งที่ดินยายเองก็มีหลักฐานว่าเป็นของครอบครัวยาย เพราะมีต้นมะม่วงหิมพานต์ที่ปลูกไว้ตั้งแต่ปี 2528 พอมาวันนี้เราโดนรัฐเขามาตัดไปหมด เราไม่รู้จะหันหน้าพึ่งใคร อีกไม่นานลูกชายจะไปต่างจังหวัดเพื่อรับจ้างทำงานในไร่แล้ว เพราะเราไม่มีเงินซื้อข้าวกิน” นางจันทรา กล่าว

อนึ่งข้อมูลจากเครือข่ายไทบ้านคนไร้สิทธิสกลนคร ระบุว่าขณะนี้ในภาคอีสาน มีเกษตรกรได้รับผลกระทบทั้งไล่รื้อที่อยู่อาศัย และทำลายพืชผลรวมแล้วกว่า 354 ราย

…วีรทัศน์ อิงคภัทรางกูร สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม รายงาน

สำนักข่าว Greennews

http://www.greennewstv.com/%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%AF-%E0%B9%82%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%81-%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%9A/

On Key

Related Posts

ผู้นำแรงงานแฉอีกพิรุธงบ สปส.โครงการจัดอบรมแรงงานกว่า 30 ล้าน เผยกลายเป็นงบล่ำซำให้บางสภาแรงงานที่เข้าถึง ใช้วิธีเซ็นชื่อลงทะเบียนล่วงหน้า-เก็บค่าหัวคิว ชี้เป้าสอบงบทำปฏิทิน 54 ล้าน-ใครผูกขาดผลิต

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษRead More →

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →