เมื่อวันที่ 23 นายธนิสร หอยสังข์ ผู้ประสานงานชุมชนบางปิ้ง ตำบลบางเมือง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยระหว่างการนำคณะนักศึกษาสาขาวาสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ลงพื้นที่สำรวจชุมชน ว่าชุมชนบางปิ้งเป็นสลัมที่มีอายุยาวนานกว่า 150 ปี ที่กำลังมีปัญหาเรื่องเจ้าของที่ดินไล่รื้อที่อยู่อาศัย เพื่อขายที่ต่อบริษัทอสังหาริมทรัพย์ โดยเจ้าของที่ดินได้ประกาศให้ชุมชนย้ายออกเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2557 และกำหนดวันย้ายบ้านภายใน 30 วัน แต่ชาวบ้านหลายครอบครัวไม่สามารถทำการย้ายได้ตามกำหนด จึงถูกฟ้องดำเนินคดีข้อหาบุกรุกที่ดินส่วนบุคคลระยะแรก 80 ราย ทั้งหมดอยู่ระหว่างการดำเนินคดีในชั้นศาล โดยมี 7 คนแรกที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ นัดไต่สวนและสืบคดีเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนที่เหลือศาลจะทยอยนัดวันต่อไป โดยตนเป็นหนึ่งในผู้ถูกฟ้องและถูกดำเนินคดีชุดแรก ที่ต้องไปให้ข้อมูลต่อศาลจังหวัด
นายธนิสร กล่าวด้วยว่า ปัญหาการไล่รื้อดังกล่าวส่งผลให้ชาวบ้านหลายคนเครียดและกังวลมาก จึงต้องเดินทางไปร้องเรียนความเดือดร้อนต่อกระทรวงพัฒนาสังคมความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และศูนย์ดำรงธรรมของรัฐบาล แต่ยังไม่ได้คำตอบว่าผลการร้องเรียนเป็นอย่างไร ขณะที่เจ้าของที่ดินเองยังไม่เคยเปิดโอกาสให้ชาวบ้านได้ร่วมหารือ มีเพียงแค่หมายศาลเรียกตัวชาวบ้านที่เช่าที่ดินเพื่อเข้าชี้แจงข้อมูลเป็นรายๆ เท่านั้น ขณะนี้ชาวบ้านมีการตัดสินใจที่แตกต่างกัน โดยแบ่งเป็นกลุ่มยอมรับการรื้อถอนและรับเงินชดเลยหลังละ 3,000 บาท และทยอยย้ายออกจากชุมชน เพราะเกรงว่าจะไม่สามารถสู้คดีได้ ขณะที่บางคนยืนหยัดจะต่อสู้ต่อไป โดยเข้าร่วมเครือข่ายสลัม 4 ภาค เพื่อดำเนินการขอดำเนินการโครงการบ้านมั่นคง มีการจัดการชุมชนทั้งในด้านความมั่นคงของเงินออมทรัพย์ ซึ่งดำเนินการมาแล้วประมาณ 5 เดือน
“เรามีกันอยู่อย่างนี้มานานแล้ว ครอบครัวผมอยู่เป็นครอบครัวใหญ่ และยายเพิ่งเสียไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว เราไม่อยากจะจบชีวิตชุมชนลงแบบนี้ เพราะที่ผ่านมาเราทุกคนจ่ายค่าเช่าในราคาที่แตกต่างกันไปตามขนาดและเนื้อที่ของบ้านแต่ละหลัง แต่ทุกคนผูกพันกับชุมชนมาก มีงานบุญ งานใหญ่ อะไรก็ร่วมมือกันเสมอ อยากให้รัฐและเอกชนเห็นใจ หรืออย่างน้อยก็เปิดใจลงมารับฟังเราบ้าง ไม่ใช่อยู่ๆ มาขอให้รื้อบ้าน ย้ายออกภายใน 1 เดือน ไม่มีเวลาจะหาที่อยู่ใหม่ หรืออะไรทั้งสิ้น แต่ถ้าเขาใจกว้างพอก็อยากให้เปิดเวทีคุยกันตรงๆ ว่าถ้าเรามีความมั่นคงในชุมชน แล้วจะให้อยู่ต่อได้มั้ย เพราะเราเองก็คนหาเช้ากินค่ำ ไม่ได้มีรายได้มากมาย บางคนรับจ้างรายวัน ในตลาด ในบริษัทก่อสร้าง บางคนทำโรงงาน จะให้ย้ายไปก็ไม่รู้จะไปอยู่ไหน คนแก่ก็มาก คนพิการก็เยอะ เราอยู่นี่แบบพึ่งพาระหว่างกัน ทั้งไทยพุทธ ไทยมุสลิม ไม่มีต่างชาติอาศัยอยู่ เรามีเรียนสอนศาสนาที่เข้มแข็ง และมีความสามัคคีกันตั้งแต่ต้น มีศาลพ่อหลวงอยู่ใกล้สะพานข้ามคลองบางปิ้ง เป็นสิ่งยืนยันว่าชุมชนตั้งมานานแล้ว” นายธนิสร กล่าว
ด้านนายวินัย พรมมา อายุ 58 ปี อาชีพพนักงานโรงงานอาหารแช่แข็ง กล่าวว่า ตนรู้สึกใจหาย ที่เจอหมายศาลเรียกคนในหมู่บ้านไปหลายคน และรู้สึกเสียใจกับการถูกไล่รื้อ เพราะที่ผ่านมาตนและครอบครัวรู้สึกผูกพันกับชุมชนมาก โดยช่วงแรกที่ย้ายมาอยู่นั้น ทราบว่าที่ดินตรงนี้เป็นที่ดินของข้าราชการในวัง ชื่อพระยาระพี เสียสละที่ดินให้ชาวบ้านคนจนไม่มีที่อยู่คิดราคาเริ่มต้นที่หลังละ 2 บาทต่อเดือน จากนั้นพอภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนก็ปรับขึ้นราคามาเป็นเดือนละ20 บาทอย่างต่ำ โดยให้สัญญากับคนเช่าว่าจะไม่ย้ายไปไหน แต่พอมาถึงรุ่นลูกหลาน มีโครงการพัฒนาหลายด้าน ลูกหลานเจ้าของที่ดินก็ตัดสินใจจะขายที่ทำให้ชาวบ้านหลายครอบครัวต้องเดือดร้อน เพราะไม่มีเงินทุนในการหาที่ดินเช่าใหม่ และเจ้าของที่ดินเองก็ไม่ได้เตรียมที่รองรับ ขณะที่รัฐบาลไทยก็ไม่ได้ใส่ใจจะแก้ปัญหา
“เราเป็นคนจน ที่ถูกการพัฒนาไล่มาต่อเนื่อง เดิมอยู่บางบ่อทำนา ก็มีนายทุนมากว้านซื้อที่ทำโรงงาน เราไม่ขายนา ข้าวเราก็ตาย พ่อแม่เลยต้องขายที่ แล้วให้เราย้ายมาอยู่ที่นี่ เมื่อปี 2510 เมื่อก่อนถนนของชุมชนยังเป็นลูกรัง มีสวนผลไม้ มีแปลงผัก ชาวบ้านบริจาคเงินและร่วมก่อถนนในหมู่บ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกชุมชน แต่พอกลายเป็นเมืองใหญ่ มีคอนโด มีรถไฟฟ้าเข้ามา มีโรงงานมาก่อสร้าง นักการเมืองท้องถิ่นก็เข้ามาสร้างความใกล้ชิดกับชาวบ้านแล้วบอกว่าให้ช่วยลงเสียงเลือกตั้งให้ แล้วจะเข้ามาช่วยชุมชน กลายเป็นว่าพอได้ตำแหน่งนักการเมือง เขาก็ลอยแพชาวบ้าน เขาคิดนโยบายสร้างถนนคอนกรีตให้ชาวบ้าน เสร็จแล้วพอได้ตำแหน่ง กลับไม่สร้างอะไรให้ แต่ซื้อวัสดุแล้วให้ชาวบ้านร่วมสร้างเอง แต่ชาวบ้านเข้มแข็งกันมาก พัฒนาชุมชนเองมาโดยตลอด สุดท้ายปีที่แล้วเจอไล่รื้อ ทุกคนถึงกับเข่าอ่อน เพราะไม่มีที่ไป” นายวินัย กล่าว
ขณะที่นางอันชนา เจริญสุข อายุ 60 ปี กล่าวว่า ในหมายศาลนั้นผู้ฟ้องในนามบริษัทไทยเคหะการ ระบุว่า แจ้งให้ชาวบ้านยายออกตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะเดือนตุลาคม ปี 2557 ยังมีคนมาเก็บค่าเช่าอยู่ พอถึงเดือนธันวาคม ก็มีใบแจ้งเตือนให้ย้ายภายในหนึ่งเดือน ตนยอมรับว่าใบเตือนเหมือนฟ้าผ่า เพราะชาวบ้านไม่มีเวลาเตรียมตัว ทั้งนี้ในความเห็นส่วนตัวหากสู้ด้วยกระบวนการนโยบายบ้านมั่นคงไม่ได้ ก็ยินดีจะย้ายออก แต่ขอเวลานานกว่านี้อย่างน้อย น่าจะ 3 ปีให้มีเวลาเตรียมตัวย้ายของ ไม่ใช่ย้ายภายในหนึ่งเดือน ชาวบ้านไม่มีเวลาตั้งตัว ยอมรับว่าชาวชุมชนบางปิ้งทุกคนเสียใจหากชุมชนจะล่มสลาย เพราะโครงการใหญ่ แต่ในเมื่อไม่มีสิทธิในที่ดินก็ต้องการสิทธิมนุษยชน บ้างต้องการให้เจ้าของที่ดินใจกว้างและให้ข้อมูลตรงไปตรงมา ใช่ข้อมูลเท็จ
/////////////////////////////////