Search

รอคอยความเป็นธรรมจากศาลปกครอง ชาวบ้านริมโขง 8 จังหวัดส่งเอกสารฟ้องเพิ่มเติม รอฟังคำตัดสินกรณีเขื่อนไซยะบุรี-โอดสารพัดผลกระทบ

received_948474975195788

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 เวลา 10.30 น. ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง จำนวน 10 คน และนางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า นักกฎหมายศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้เดินทางมาที่ศาลปกครองสูงสุด ถนนแจ้งวัฒนะ กทม.เพื่อยื่นคำร้องขอชี้แจงและส่งเอกสารเพิ่มเติมก่อนวันสิ้นสุดแสวงหาข้อเท็จจริง ในคดีหมายเลขดำที่ ส. 493/2555 และคดีหมายเลขแดงที่ส.59/2556 ที่ตัวแทนประชาชน 8 จังหวัดลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งเป็นผู้อาจได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีกั้นแม่น้ำโขง ทั้งในด้านระบบนิเวศของแม่น้ำโขงและส่งผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนอย่างร้ายแรง ได้ร่วมกันฟ้องศาลเพื่อดำเนินคดีต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีรับซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี สาธารณรัฐประชาธิปไตบประชาชนลาว (สปป.ลาว) โดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายไทย

นางสาวส.รัตนมณี กล่าวว่า วันนี้เป็นการส่งชุดข้อมูลที่ทางทีมกฎหมายได้รวบรวมและทำสำนวนเพิ่มเติมภายหลังการยื่นฟ้องไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ปีที่ผ่านมา ซึ่งศาลกำหนดให้เป็นวันสิ้นสุดแสวงหาข้อเท็จจริง โดยยืนยันว่า ที่ผ่านมาประชาชนที่ได้รับผลกระทบทั้ง 8 จังหวัดนั้นมีการรับรู้ข้อมูลน้อยมาก อีกทั้งการก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรีที่กำลังดำเนินขณะนี้ก็ถือว่าไม่มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจังจากผู้ถูกฟ้อง โดยหลังจากยื่นคำร้องวันนี้แล้วศาลก็จะทำการพิจารณาคำร้องต่อไป และนัดหมายมาฟังคำพิพากษาต่อไปอาจจะใช้เวลาสักระยะ ซึ่งภาคประชาชนยังคาดหวังเช่นเดิมคือให้ศาลมีคำสั่งชั่วคราวเพื่อระงับกระบวนการต่างๆในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า เนื่องจากเขื่อนไซยะบุรีเป็นโครงการที่นานาชาติกังวลว่าจะเกิดผลกระทบข้ามแดน

ทั้งนี้เอกสารที่ยื่นเพิ่มเติมที่ทางนักกฎหมายยื่นคำร้อง มีรายละเอียดสำคัญหลัก ประกอบด้วย คำร้องที่ระบุถึงความไม่โปร่งใสของ กฟผ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเผยแพร่ข้อมูลเอกสาร ได้แก่ รายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ รายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม รายงานผลกระทบทางสังคม อีกทั้งเวทีรับฟังความคิดเห็นก็จัดทำเพียงแค่ 3 ครั้งเท่านั้น ซึ่งถือว่าไม่ได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ของไทยและกฎหมายลำดับรองอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่ผู้ถูกฟ้องได้ทำขึ้นนั้นไม่มีการแจ้งให้ผู้ฟ้องรับทราบข้อมูลข่าวสาร อีกทั้งไม่มีการรายงานแผนการเตรียมการป้องกันเยียวยาใดๆ ให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในลุ่มน้ำโขงซึ่งใช้ประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งขัดกับหลักกฎหมายที่บัญญัติให้คนไทยมีสิทธิรับข้อมูล แสดงความคิดเห็นในโครงการที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ในเอกสารยังระบุด้วยว่า กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนนั้น ตามกฎหมายต้องทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันทั้งจากผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย เอกชน รัฐ และประชาชน เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ดีที่สุด เพื่อให้ได้วิธีการดำเนินการที่เป็นที่ยอมรับและมีความโปร่งใสมากที่สุด และเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งผู้ถูกฟ้องนั้นไม่ได้ปฏิบัติตามหลักการดังกล่าว อีกทั้งหลีกเลี่ยงการตอบคำถามในเวทีแต่ละครั้ง ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้ไม่เกิดประโยชน์ในการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ทั้งนี้หากผู้ถูกฟ้องดำเนินการตามหลักการที่ถูกต้องย่อมสร้างฉันทามติการมีส่วนร่วมของประชาชนได้ และจะทำให้สัญญาซื้อขายนั้นมีคุณภาพมากขึ้นเพราะเกิดจากการตัดสินใจของสาธารณะ แต่เมื่อไม่ทำก็เท่ากับว่าไม่ได้คงไว้ซึ่งคุณธรรมในการปฏิบัติหน้าที่

ในเอกสารยังระบุถึงคำสัมภาษณ์ของผู้ฟ้อง เช่น นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ชาวบ้านจากอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ที่ให้ข้อมูลในบทความแม่น้ำแห่งความเจ็บปวดบางตอนว่า ประเด็นเขื่อนไซยะบุรีเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน ซึ่งภายหลังในการประชุมระหว่างคณะกรรมาธิการและภาคประชาสังคมจากประเทศไทย ก็มีการกล่าวถึงความกังวลต่อผลกระทบจากเขื่อนไซยะบุรีเช่นกัน

ด้านนางสาวจินตนา เกษรสมบัติ ตัวแทนสภาองค์กรชุมชน จังหวัดบึงกาฬ กล่าวว่า การยื่นคำร้องของทีมนักกฎหมายในครั้งนี้เป็นช่วงเวลาที่ประชาชนทุกคนรอคอยมานาน หลังมีการฟ้องศาลมาหลายครั้ง และผ่านการรวบรวมสภาพปัญหา ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง ผ่านมาประชาชนลุ่มน้ำโขงในประเทศไทยเผชิญกับการเอาเปรียบหลายด้าน ในการพัฒนาลุ่มน้ำโขง โดยไม่ให้สิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ อีกทั้งถูกมองข้ามการมีส่วนร่วมในทางราชการและรัฐบาลที่ได้ดำเนินการวางแผนบริหารน้ำนานาชาติ ดังนั้นการพึ่งพาศาลปกครองสูงสุดเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม แต่สำหรับสถานการณ์ของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น ยังคงต้องต่อสู้เรื่องการรับมือกับการขึ้นลงของระดับน้ำโขงที่ไม่เป็นปกติ เพราะเขื่อนหลายแห่งในแม่น้ำโขง โดยปีนี้ภัยแล้งและน้ำท่วมก็ส่งผลให้ภาคการเกษตรยังคงเจอวิกฤติต่อเนื่อง โดยแต่ละที่ก็มีวิธีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันออกไป บางคนก็เว้นช่วงปลูกผัก ทำประมง ไปรับงานอื่นมาทำ และมีพิธีกรรมขอฝน พึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์บ้างตามโอกาสที่เหมาะสม เพราะปีนี้วิกฤติน้ำเป็นภัยที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนในวงกว้างที่สุด แต่สำหรับคนลุ่มน้ำโขงใน 8 จังหวัด ตั้งแต่มีเขื่อนนั้นทุกคนรับรู้ได้ถึงความแตกต่าง เพียงแค่ไม่เคยหยุดที่จะต่อสู้กับปัญหา อย่างไรก็ตามความหวังในการหยุดเขื่อนในแม่น้ำโขงของชาวบ้านยังดำเนินการต่อไป
///////////////

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →

เผยเปิดหน้าดินนับพันไร่ทำเหมืองทองต้นน้ำกก สส.ปชน.ยื่น กมธ.ที่ดินสอบ หวั่นคนปลายน้ำตายผ่อนส่งจี้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาผลกระทบข้ามแดน ผวจ.เชียงรายสั่งตรวจคุณภาพน้ำ 24 มี.ค.

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2568 นายสมดุลย์ อุตเจริญ สส.Read More →