Search

เสียงสะอื้นยังระงม น้ำตาไม่เคยเหือดหายของชาวเลหลีเป๊ะ

FB_IMG_1437980690488

“เราคงต้องร้องไห้ เพราะความรู้ไม่เท่าเขา หรือไม่เราก็ต้องย้ายไป อย่างนี้จนกว่าเขาจะพอใจ” ป้า “ละม้าย พระอ๊ะ” พูดอย่างผู้พ่ายแพ้ เมื่อเธอและครอบครัวถูกนายทุนอ้างกรรมสิทธิ์นส.3 ไล่รื้อบ้านซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระทั่งวันนี้ จากที่ดินความกว้างกว่า 20 เมตรหน้าหาด ก็หดเหลือแค่ 7 เมตร โดยที่เธอและครอบครัวไม่รู้ว่าจะวันใดจะถูกไล่รื้ออีก

ครั้งหนึ่งที่ฉันลงเกาะหลีเป๊ะ ป้าละม้าย เป็นผู้สูงอายุในเกาะหลีเป๊ะ พาฉันเดินดูสุสานของสามีที่เพิ่งจากไปได้ไม่นาน พลางทำความสะอาดสุสานไปพร้อมกับเรื่องเล่าในอดีตที่หวานฉ่ำของเธอและพี่น้องชาวอูรักลาโว้ย

“สุสานนี่ ตอนนี้ใครอยากมาฝังก็มาได้นะ ฉันไม่ว่า เพราะคนทะเลที่นี่เขาจนตรอกแล้วจริงๆ เราก็ให้เขาฝังศพได้ ศพไม่ได้เป็นเหล็กเป็นหิน เดี๋ยวก็ย่อยสลายไป ฉันไม่ว่าหรอก” ป้าละม้าย เล่าด้วยร้อยยิ้มในตอนนั้น

ในฐานะที่บ้านของละม้ายเป็นบ้านชาวเลคนเดียวที่ยังมีพื้นที่เชื่อมต่อหน้าหาด ครั้งนั้นฉันจึงพูดหยอกล้อเล่นว่า “เก่งนะเนี่ย ที่เก็บบ้านใกล้หาด ไว้ได้ วิวดีค่ะ แล้วจะอยู่อย่างนี้นานไหม?”

เธอหันมายิ้มก่อนตอบว่า ในความเป็นจริงชาวเลทุกคนต้องการหน้าหาดเสมอเพื่อให้ง่ายต่อการออกเรือ จอดเรือ และดูแลทรัพย์สินของตนเองในเวลากลางคืน แต่ช่วงที่ผ่านมามีต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจที่พักมากมาย บ้านของชาวเลหลายคนก็ถูกผลักดันในนาม “ความเอื้อเฟื้อที่ดินโดยนายทุนเจ้าของที่” และที่ปัจจุบันกว่า 1 ไร่ ของเธอและครอบครัวพระอ๊ะ ก็เช่นกัน เดิมเธอและครอบครัวมีที่ดินมรดกจากพ่อของสามี ชื่อ นายสโน มีที่ดินให้ลูกหลานอยู่ในบริเวณรีสอร์ทอันดาในปัจจุบัน แต่เมื่อที่ดินถูกเปลี่ยนมือ โดยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์จากญาติ จากลูก ทำให้ที่ดินตรงนั้นต้องเสียไปให้กับนายทุน แล้วเขาก็จัดที่ดินให้ทุกคนอยู่ใหม่ ย้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ขึ้นกับอยู่กับว่า ช่วงเวลานั้นทำเลใดเป็นทำเลทอง และมีราคา ดึงดูดนักท่องเที่ยว

1437979007973

“เราไม่อยากมีปัญหากับเขา เราก็ย้ายเท่านั้นแหละลูก ฉันก็คิดถึงวันเก่าๆ นะ วันที่เรามีความสุขกับการเดินทางบนเกาะแบบไปไหนก็ได้ แต่ตอนนี้ไม่ได้นะ เดินผ่าน เอารถ เอาเรือไปใกล้ถนนของเขา เราก็โดนด่า โดนขู่แล้ว แต่ไม่เป็นไรฉันจะรักษาหลุมศพผัวไว้ตลอดแหละ ฉันไม่ไปไหนหรอก” ป้าละม้ายกล่าวอย่างมีหวัง

มาถึงวันนี้ เธอยอมรับว่ารู้สึกกลัวมาก เมื่อราวสัปดาห์ที่แล้วนายทุนเอารถแบคโฮ แล้วเอาเครื่องจักรมารื้อบ้านแล้วสั่งให้ย้ายออกอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ครั้งหนึ่งเคยให้สัญญาไว้แล้วว่าจะอนุโลมให้อยู่

เรื่องนี้ “ฉัตรพร พระอ๊ะ” ลูกสาววัย 30 กว่าปี อธิบายว่า เดิมที่ดินในละแวกนี้ บรรพบุรุษอาศัยทำกินมานานกว่า 60 ปี แต่มีญาติไม่รู้ภาษาบังเอิญไปเซ็นขายที่ดิน ตนและครอบครัวจึงต้องต่อสู้คดีมานานและเมื่อช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาเป็นช่วงไกล่เกลี่ย ซึ่งนายทุนที่อ้างกรรมสิทธิ์บอกว่าให้อยู่ต่อไปได้ แต่มาถึงปีนี้ เข้าใจว่าเป็นยุคทองของการสร้างอาคาร และบ้านพักเพื่อทำกำไรจากการท่องเที่ยว ตนและครอบครัวจึงเผชิญกับการสั่งย้ายออกจากพื้นที่ โดยเผชิญกับมาตรการเดิม คือ ถูกกดดันและมีการเสนอเงินมากกว่า 50,000 บาทเพื่อให้นำเงินส่วนนั้นมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายรื้อถอน แต่เงินจำนวนนี้ หากจะสร้างบ้านใหม่ก็ทำอะไรไม่ได้ มากนัก ชาวเลจึงต้องอาศัยปลูกบ้านแบบสังกะสีโดยทั่วไป

 

received_450892671738299

สำหรับครอบครัวของพระอ๊ะนั้น สัคญญาณการส่งใบเตือนให้รื้อถอนที่อยู่อาศัยมีมานานแล้ว แต่ก็อยู่ระหว่างไกล่เกลี่ยเพื่อขออยู่อาศัยต่อไป กระทั่งล่าสุด เมื่อฉัตรพร ซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ ต้องการสร้างโบสถ์เล็กๆ เพื่อให้ชาวคริสต์บนเกาะได้ใช้ประโยชน์ประกอบกิจการทางศาสนา นายทุนก็ส่งคนมารื้อถอน เธอจึงเข้าแจ้งความในสถานีตำรวจเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งต่อมานายทุนยอมให้สร้างโบสถ์ได้ แต่อนุญาตให้สร้างได้ในบริเวณที่กำหนดเท่านั้น ซึ่งหมายถึงพื้นที่หน้าหาดที่แคบๆ เพียง 7 เมตร ทั้งๆ ที่ฉัตรพรขอไว้ 12เมตร

เมื่อเรื่องนี้ทราบถึงคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน และพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล ซึ่งมีพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน ทางคณะกรรมการฯ เห็นว่าควรจะนำเรื่องนี้แจ้งให้ฝ่ายปกครองทราบ เพราะที่มาที่ไปของการครองที่ดินนั้น ยังไม่มีความชัดเจนและอยู่ในช่วงพิสูจน์ข้อเท็จจริง

“เราคือครอบครัวสุดท้ายแล้วที่มีที่ติดหาด นอกนั้นเขาไม่มีแล้ว โดนย้ายไปอยู่หลังชุมชนหมด แหล่งน้ำก็หายากต้องออกไปขนน้ำไกล เปลืองค่าน้ำมันเรือ บางคนต้องซื้อกิน ส่วนข้าวไม่ต้องพูดถึงทุกคนต้องซื้อกินทุกครอบครัว แต่เราก็โดนไล่มาหลายครั้ง ทั้งๆ ที่ปู่ของเราเป็นคนบุกเบิกที่ดิน และตอนแกตายแกไม่ได้ทำเอกสารหรือข้อมูลอะไรแจกที่ดินเป็นรูปธรรม มีเพียงญาติบางคนไม่รู้ก็ไปรับเงินค่ารื้อถอนมา แต่เราให้เอาไปคืน เพราะเรายังมีหวังว่าจะสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินของบรรพบุรุษได้และจะรักษาต่อไปให้ลูกหลาน

แม้ว่าความหวังของ “ฉัตรพร” ดูเลือนราง ทว่าวันนี้ เธอและชาวเกาะหลีเป๊ะยังยืนหยัดจะเดินหน้าต่อสู้อีกครั้ง โดยทยอยเดินทางยื่นเรื่องร้องเรียนยังหน่วยงานต่างที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ศูนย์ดำรงธรรม (หน่วยงานอำเภอเมืองสตูล) ศาลากลางจังหวัด

“เราไม่รู้ว่าใครจะเป็นรายต่อไป แต่เราต่างรู้ดีว่า วันนี้ ชะตากรรมของคนอูรักลาโว้ยเกาะหลีเป๊ะ เผชิญวิกฤตการคุกคามจากนายทุนไม่ต่างกัน” ฉัตรพร กล่าว

ด้านนายรัชฐพนธ์ ณ อุบล นายอำเภอเมืองสตูล กล่าวว่า ที่ผ่านมาทราบดีว่า มีปัญหาเรื่องการสั่งให้ชาวบ้านย้ายออก แต่เรื่องนั้นทางสถานีตำรวจเกาะหลีเป๊ะไกล่เกลี่ยแล้ว ส่วนกระบวนการยุติธรรมพิสูจน์สิทธินั้นจะต้องรอขั้นตอนของกฎหมายต่อไป โดยส่วนตัวอยากให้ทั้งสองฝ่ายค่อยๆ เจรจากันแล้วยอมรับกรบวนการพิสูจน์ ซึ่งตนเชื่อว่าหลังจากนี้น่าจะไม่มีการรื้อถอน หรือคุกคามชาวบ้านอีกแล้ว

/////////////
โดย จารยา บุญมาก

On Key

Related Posts

ผู้นำแรงงานแฉอีกพิรุธงบ สปส.โครงการจัดอบรมแรงงานกว่า 30 ล้าน เผยกลายเป็นงบล่ำซำให้บางสภาแรงงานที่เข้าถึง ใช้วิธีเซ็นชื่อลงทะเบียนล่วงหน้า-เก็บค่าหัวคิว ชี้เป้าสอบงบทำปฏิทิน 54 ล้าน-ใครผูกขาดผลิต

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2568 นายชาลี ลอยสูง ที่ปรึกษRead More →

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →