Search

เสวนาคนกับป่าฯ ดำรง ชี้ชนกลุ่มน้อยตัวการทำลายป่าไม้-ส่งผลแล้งจัด ด้านประยงค์โต้นโยบายรัฐส่งเสริมคนไทยกินป่า – ชูมาตราการภาษีให้คนจนเข้าถึงที่ดิน

received_10153235501281492

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2558 เวลา 14.00 น. ที่ Root Garden ซอยทองหล่อ กรุงเทพฯ มีการจัดกิจกรรม Root Talk at Root Garden เสวนาในหัวข้อ “คนกับป่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร” มี นายดำรงค์ พิเดช หัวหน้าพรรคทวงคืนผืนป่าประเทศไทย และเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ นายประยงค์ ดอกลำไย ที่ปรึกษากลุ่มขบวนประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ซึ่งกำลังผลักดันข้อเสนอการกระจายการถือครองที่ดินและความเท่าเทียมทางสังคม ร่วมกันเสวนา โดยมีนายจักรชัย โฉมทองดี ดำเนินรายการ มีผู้สนใจเข่าร่วมฟังการเสานาประมาณ 50 คน

สำหรับบรรยากาศก่อนที่จะเริ่มงาน ภายในบริเวณงานมีการออกร้านตลาดมีรากอาหารปลอดสารพิษ การแสดงดนตรีแจ๊สกลางสวนจากกลุ่มนักศึกษา

นายดำรงค์ กล่าวว่า ต้นเหตุสำคัญของการทำลายป่าของประเทศไทยเกิดจากการที่ชนกลุ่มน้อยซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อทำไร่ข้าวโพดและพืชเศรษฐกิจอื่นๆ ซึ่งส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าต้นน้ำ เห็นได้จากสภาพต้นน้ำสาขาของแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน จากในอดีตลำธารเคยไหลตลอดทั้งปี เมื่อถูกดึงน้ำไปใช้ในการทำเกษตรมากเกินไป และมีการกั้นฝายจำนวนที่มากเกินไป จนทำให้ไม่มีน้ำไหลลงสู่แม่น้ำ ปัญหาภัยแล้งจึงเกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งที่ประเทศเพื่อนบ้านกลับไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่การที่ป่ารุกคน แต่คนรุกป่า

นายดำรงค์กล่าวต่อว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2518 เป็นต้นมารัฐมีการผ่อนปรนการจับกุมผู้บุกรุกป่ามาโดยตลอด จนกระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรี 30 มิถุนายน พ.ศ.2541 ให้มีกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ว่าชาวบ้านในพื้นที่อยู่มาก่อนหรือหลังการประกาศเขตป่า ซึ่งต้องพิสูจน์ย้อนไปก่อนปี พ.ศ.2484 ซึ่งหากพิสูจน์แล้วว่าชุมชนใดอยู่ในพื้นที่ล่อแหลมว่ามีการทำลายป่าจนเสื่อมโทรม จะต้องย้ายออกมาโดยรัฐจะมีหน้าที่ดูแลจัดสรรที่อยู่และที่ทำกินให้ แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมาทุกรัฐบาลมักจะห่วงฐานเสียงจากชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้ไม่กล้าจัดการเรื่องนี้ ทำให้มีการผ่อนผันมาโดยตลอด จนทำให้ชาวบ้าน 4 แสนครัวเรือน ซึ่งอยู่ก่อนประกาศเขตป่า เพิ่มขึ้นหลังจากประกาศเขตป่าเป็นจำนวน 9 แสนครัวเรือน

“หากชุมชนไหนอยู่ในพื้นที่ล่อแหลมหรือพื้นที่ต้นน้ำที่ถูกทำลาย ก็ต้องย้ายออกมา แต่ถ้าไม่อยู่ในพื้นที่ล่อแหลมก็พอที่จะจัดสรรหรือกันเขตให้อยู่ได้ อย่างเช่นโฉนดชุมชน ตนก็เห็นด้วย แต่ต้องไม่ใช่เขตป่าอนุรักษ์ อาจจะเอาที่ราชพัสดุที่ยึดคืน หรือพื้นที่ของรัฐอื่นๆ มาจัดสรร ซึ่งอาจให้รัฐประกาศทวงคืนผืนป่า ว่าใครครอบครองที่ดินของรัฐมากกว่า 50 ไร่ขึ้นไป ให้รีบนำมาคืนภายใน 90 วัน ไม่เช่นนั้นจะถูกใช้กฏหมายยึดทรัพย์”

นายดำรงค์ กล่าวอีกว่า แนวทางคนอยู่กับป่าที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยคือ โครงการพัฒนาดอยตุง ของสมเด็จย่า ซึ่งในอดีตชนกลุ่มน้อย 25 หมู่บ้าน ที่อยู่บนดอยตุง เคยทำลายป่าเพื่อปลูกฝิ่น เมื่อสมเด็จย่าเข้าไปส่งเสริมให้ปลูกพืชทดแทน เช่น แมคคาเดเมีย กาแฟ ผักต่างๆ จนปัจจุบันพื้นที่เสื่อมโทรมกลายเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ เนื่องจากมีกรรมการกลางวางแนวทางควบคุมดูแลการส่งเสริมการปลูกพืชโดยไม่ต้องโค่นต้นไม้ใหญ่ และช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้สามารถเลี้ยงดูครอบครัว ส่วนพื้นที่ที่มีสภาพป่าเสื่อมโทรมมากที่สุดคือที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ชาวบ้านมีที่ทำกินแต่พื้นที่ถูกโค่นสุดลูกหูลูกตา รวมถึงในภาคอีสานตามแนวชายแดนลาว แถบจังหวัดเลยและจังหวัดหนองคาย

“ปัญหาที่เกิดจากการให้สัมปทานไม้ในอดีตยังไม่รุนแรงเท่ากับการทำกินของชนกลุ่มน้อย เพราะทำไม้สักก็ยังเหลือต้นไม้เล็ก แต่การบุกรุกป่าเพื่อทำกินนั้นจะไม่เหลือต้นไม้เลย และวันนี้เรายังไม่สามารถควบคุมชนกลุ่มน้อยที่อพยพเข้ามาตามแนวชายแดนได้ จึงมีการขยายพื้นที่ทำกิน หรือดูตัวอย่างกรณีไม้สักสาละวิน ที่กองกำลังเคเอ็นยูเพิ่งจับได้ เขาไม่จับไม้ที่เขาตัดเองหรอก มันจึงเป็นไม้จากฝั่งไทยทั้งนั้น แล้วถามว่าใครตัด ไปดูได้ที่ศูนย์อพยพตามแนวชายแดน ยังมีคนกะเหรี่ยงอพยพเข้ามาอยู่ตลอด มันเป็นปัญหาตั้งแต่เมื่อก่อนที่ชาวบ้านทำไม้ไว้ขาย เรียกว่าไม้เรือนเก่าหลังละ 2-3 ล้าน”

ด้านนายประยงค์ กล่าวว่า สาเหตุปัญหาป่าไม้เป็นเรื่องความไม่เป็นธรรมในการครอบครองที่ดิน เมื่อประเทศไทยมีผู้ครอบครองที่ดินในรายเดียวที่มากที่สุดถึง 630,000 ไร่ แต่ชาวบ้านยากจนกลับไม่มีที่ทำกิน มันจึงเป็นแรงกดดันให้คนกว่า 10 ล้านคนต้องเข้าไปอยู่ในที่ดินของรัฐ ซึ่งถูกสนับสนุนให้มีการปลูกพืชเศรษฐกิจโดยเฉพาะข้าวโพดและยางพารา ซึ่งเมล็ดพันธุ์มาจากสองบริษัทใหญ่ของประเทศ และผลผลิตก็ถูกส่งไปผลิตอาหารสัตว์ ป่าจึงหายไปจากการบริโภคของคน หรือเท่ากับทุกคนเป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการทำลายป่าไม้ อย่างที่จังหวัดน่านปัญหาการบุกรุกป่าเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจ ก็เกิดจากคนพื้นราบ แต่ด้วยพื้นที่เขาสูงชัน อาจทำให้เข้าใจว่าปัญหาเกิดจากกลุ่มชาติพันธุ์”

“ในอดีตไม่มีแผ่นดินตรงไหนไม่เคยเป็นผืนป่า ดังนั้นป่าจึงหายไปเพราะคน ซึ่งปัจจุบันการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดต้องตัดต้นไม้ เพื่อนำข้าวโพดที่ปลูกไปทำอาหารสัตว์ ไก่ 1 ตัว ใช้พื้นที่ปลูกข้าวโพด 10 ตารางเมตร เมื่อคนกินไก่หนึ่งตัวก็เท่ากับเป็นผู้ทำลายป่าอย่างน้อยที่สุด 3 ตารางเมตร หรือยางพารา ก็ต้องใช้ทำยางรถยนต์ เราจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเป็นผู้ทำลายป่า”

นายประยงค์ กล่าวต่อว่า รัฐเองเป็นส่วนสำคัญกระตุ้นให้เกิดการทำลายพื้นที่ป่า จากการที่อดีตมีนโยบายส่งเสริมการปลูกยางพาราและปลูกข้าวโพด มีการประกันราคาผลผลิต ซี่งเป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ทำให้ชาวบ้านเร่งขยายพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ นำไปสู่การบุกรุกป่าชุมชน และป่าของรัฐเพื่อเร่งนำผลิตไปจำนำเพื่อให้ได้ส่วนต่างราคาที่มากกว่าจากโครงการจำนำของรัฐ อีกทั้งหากย้อนดูข้อมูลพบว่า ยุคที่พื้นที่ป่าลดลงมากที่สุดคือช่วง พ.ศ.2515 – 2525 ที่มีการให้สัมปทานป่าไม้เป็นจำนวนมาก จนทำให้พื้นที่ป่าลดลงอย่างรวดเร็วกว่า 20 ล้านไร่ ก่อนที่จะมีเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่คีรีวงศ์ จนนำไปสู่การประกาศปิดป่าและเร่งขยายพื้นที่ป่าไม้เพิ่มจากร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 25 ที่ทำให้มีการประกาศเขตป่าทั่วประเทศ และเกิดปัญหาพื้นที่ป่าทับที่ชุมชนตามมา

นายประยงค์ กล่าวอีกว่า ทางออกของปัญหาเพื่อให้คนสามารถอยู่กับป่าได้ คือรัฐต้องกระจายการถือครองที่ดิน โดยการใช้มาตรการกำหนดจัดเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า ซึ่งจะกระทบผู้ที่ถือที่ดินรายใหญ่เพียง 8,000 รายเท่านั้น โดยนำภาษีที่ได้มาตั้งธนาคารที่ดินเพื่อเปิดโอกาสให้คนจนสามารถเข้าถึงที่ดินหรือที่ทำกิน ซึ่งจะเป็นการสร้างความเป็นธรรมโดยอาศัยมาตรการทางภาษี และอาศัยแนวทางการจัดการที่ยั่งยืน คือการจัดตั้งป่าชุมชน ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการดูและและจัดการป่าไม้ ซึ่งหากรัฐต้องการเพิ่มพื้นที่ป่าก็สามารถให้ชาวบ้านร่วมกันออกแบบได้ว่าพื้นที่ตรงไหนควรเป็นป่าอนุรักษ์ พื้นที่ไหนควรเป็นพื้นที่ทำกิน ซึ่งอาจนำแนวทางตามพระราชดำรัสของในหลวง ป่า 3 ส่วน ประโยชน์ 4 ส่วนมาประยุกษ์ในการทำป่าชุมชนเพื่อสร้างความยั่งยืนได้

“ไม่ใช่ทุกชุมชนจะเป็นผู้ทำลายป่าหรือรักษาป่า แต่ควรหามาตรการจูงใจให้คนอยู่ได้และดูแลป่า ยกตัวอย่างที่บ้านหินลาดใน ที่เวียงปาเป้า ชาวบ้านสามารถต่อสู้กับสัปทานป่าไม้จนนำพื้นที่ป่ามาจัดทำป่าชุมชนได้ว่า 2 หมื่นไร่ โดยไม่มีการถางป่าเพิ่ม ถือเป็นความยั่งยืนที่เกิดจากชุมชนร่วมกันจัดการป่ามากว่า 50 ปี และยังมีอีกหลายชุมชนที่กำลังพยายามตามแนวทางป่าชุมชน

On Key

Related Posts

รมว.กระทรวงน้ำของจีนเยือนไทย-ลงพื้นที่แม่น้ำโขง สทนช.ของบทำโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยน้ำสาย-น้ำรวก นักอนุรักษ์แม่น้ำจี้รัฐบอกความจริง-ผลกระทบของคนท้ายน้ำจากเขื่อนจีน

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 เพจของสำนักงานทรัพยากรนRead More →

ผู้เชี่ยวชาญเตือนฤดูฝนหน้าลุ่มน้ำกก-ลุ่มน้ำสายเสี่ยงสึนามิโคลนอีก เหตุทำเหมืองต้นน้ำ แนะเร่งทำจุดตรวจวัดชายแดน เผยยังไม่มีหน่วยราชการตรวจสอบระบบนิเวศ ชาวบ้านท่าตอนยังกังวลน้ำกกขุ่น

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2568 ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่Read More →

ชุมชนในป่าเครียดหนักเหตุรัฐแก้ปัญหาเหมารวม-ห้ามเผาแบบไม่แยกแยะ ไฟป่า-ไฟเกษตร หวั่นวิกฤตอาหารบนดอย สส.ปชน.ชี้รัฐผูกขาดจัดการทรัพยากรนำสังคมสู่วิกฤต

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2568 ที่ห้องประชุมคณะสังคมศาRead More →