Search

“กรมเจ้าท่า” เดินหน้าเต็มสูบสร้างท่าเรือน้ำลึกรับเออีซี “หมอนิรันดร์” แนะทบทวนโครงการใหม่ ชี้ระเมิดสิทธิชุมชน เล็งทำหนังสือรายงาน “บิ๊กตู่” ต.ค.นี้

ภาพ-บรรยากาศอันงดงามของปากบาราซึงอยู่ใกล้จุดสร้างท่าเรือน้ำลึกโดยทีมช่างภาพจิตอาสา
ภาพ-บรรยากาศอันงดงามของปากบาราซึงอยู่ใกล้จุดสร้างท่าเรือน้ำลึกโดยทีมช่างภาพจิตอาสา

เมื่อวันที่ 8 กันยายน ที่สำนักคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพ คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชนใน กสม. ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงข้อมูลเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะสรุปรายงานการพิจารณาเรื่องร้องเรียนการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก 3 แห่ง ประกอบด้วย ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 จังหวัดสงขลา และท่าเรือน้ำลึกชุมพร จังหวัดชุมพร ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายในกลางเดือน ตุลาคมนี้

สำหรับประเด็นการร้องเรียนเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้ง 3 พื้นที่ คือชาวบ้านไม่ได้รับข้อมูลโครงการจากภาครัฐ บริษัทที่ปรึกษาไม่ได้จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามหลักการการมีส่วนร่วม และโครงการสร้างผลกระทบร้ายแรงต่อชุมชน ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตถึงความล้มเหลวของโครงการท่าเรือน้ำลึกระนอง และท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ซึ่งปัจจุบันถูกทิ้งร้าง ไม่มีการขนส่งสินค้า โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้เสนอให้กรมเจ้าท่าทำการศึกษาและถอดบทเรียนโครงการเหล่านั้น ก่อนจะดำเนินโครงการใหม่ เพราะอาจก่อให้เกิดความเสียหายด้านงบประมาณและการละเมิดสิทธิชุมชน

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานอนุกรรมการสิทธิชุมชน กล่าวว่า กสม.มีความกังวลว่าทั้ง 3 โครงการ จะละเมิดสิทธิชุมชนของชาวบ้านในพื้นที่ และหากการดำเนินการไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็มีโอกาสถูกฟ้องร้องได้ จึงอยากฝากให้กรมเจ้าท่ากลับไปทบทวนโครงการที่ผ่านมา

ด้านนายสมชาย สุมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ได้ทำตามกระบวนการด้านกฎหมายอย่างถูกต้องในทุกโครงการ ยืนยันว่ากระบวนการต่างๆ ไม่สามารถรอได้ ต้องมีการทำการศึกษาเพื่อให้มีข้อมูลพร้อม ส่วนผลออกมาอย่างไร ฝ่ายนโยบายจะเป็นผู้ตัดสินเอง เมื่อเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) แล้ว สินค้า 90% ต้องขนส่งทางเรือ ดังนั้นการก่อสร้างจึงมีความจำเป็น แต่ก็ไม่ใช่ว่าเมื่อศึกษาเสร็จแล้วโครงการจะเกิดได้ทันที

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักแผนนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้มอบให้ สนข. ทำการศึกษาด้านยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม (เอสอีเอ) ภายใต้งบประมาณ 49.6 ล้านบาท โดยได้จัดจ้างบริษัทเอกชนและเริ่มงานภายในเดือนนี้ คาดว่าจะเสร็จภายในเดือน ก.ย.2559 ทั้งนี้ การจัดทำเอสอีเอ จะครอบคลุม 6 จังหวัด เพื่อให้เห็นศักยภาพในภาคใต้ทั้งหมด ประกอบด้วย แนวชุมพร-ระนอง นครศรีธรรมราช-กระบี่ และสงขลา-สตูล และจะมีการพิจารณาคัดเลือกพื้นที่เหมาะสมแก่การพัฒนาในด้านต่างๆ เช่น ด้านการเกษตร ท่องเที่ยว พลังงาน และความมั่นคงประเทศ โดยการศึกษาไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะโครงการของกรมเจ้าท่า แต่จะครอบคลุมโครงการของหน่วยงานอื่นๆ เช่นกัน

สำหรับวัตถุประสงค์การจัดทำเอสอีเอ 1. ศึกษาเพื่อประเมินสิ่งแวดล้อมในระดับยุทธศาสตร์การพัฒนาแผนภาคใต้ 2.ศึกษาเพื่อทำแผนแม่บทการพัฒนาภาคใต้เป็นกรอบการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่โดยต้องใช้พื้นที่ที่เหมาะสมและสมดุลในทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 3.ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันภายในพื้นที่ โดยให้มีทุกภาคส่วนเข้าร่วมทั้งชุมชน เอกชน และฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะฝ่ายการเมืองท้องถิ่น

นายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายเฝ้าระวังแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กล่าวว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราเป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนาน และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมได้อนุมัติการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment) ไปตั้งแต่ปี 2552 แต่ถูกชาวบ้านต่อต้านมาโดยตลอด ล่าสุด กรมเจ้าท่า มีแผนใช้งบ 50 ล้านบาท ทำการศึกษาด้านยุทธศาสตร์สิ่งแวดล้อม หรือ Strategic Environment Assessment (SEA) ซึ่งชาวบ้านไม่แน่ใจว่าจะนำไปสู่อะไร และยังมีการของบประมาณในปี 2559 เป็นจำนวน 120 ล้านบาทเพื่อทำการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมหรือ Environmental and Health Impact Assessment (EHIA) ซึ่งยังไม่มีการให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ชาวบ้านถึงกระบวนการและความคืบหน้า

นายรุ่งเรือง ระมันหยา ประธานกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านสวนกง จ.สงขลา กล่าวว่า โครงการท่าเรือไม่คำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่ ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้ทำการฟื้นฟูทะเลจนอุดมสมบูรณ์เพื่อชูให้เป็นแหล่งผลิตอาหารของอาเซียน กรมเจ้าท่าได้มีการจัดเวทีประชาพิจารณ์ครั้งที่ 1 ในปี 2557 แม้เวทีล้ม และหลังจากนั้นยังไม่มีความชัดเจนใดๆ

นายมงคล หมวกคำ ตัวแทนชาวอ.ประทิว จ.ชุมพร กล่าวว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกชุมพรก็ยังไม่มีความชัดเจน ปัจจุบันกรมเจ้าท่าได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่บางสน คอกวาง และเขาพระตำหนัก ซึ่งมีการทำ Public scoping รวมกันดีเดียวทั้ง 3 พื้นที่ ทำให้ชาวบ้านสับสน ไม่รู้ขอบเขตที่แน่ชัดของโครงการ และยังเกิดความขัดแย้งระหว่างคนต้านและคนหนุน
///////////////////////

On Key

Related Posts

ผบ.สส.เร่งหน่วยงานตรวจสอบคุณภาพน้ำกกหลังชุมชนผวาสารพิษเจือปนจากการทำเหมืองทองฝั่งพม่า ภาคประชาชนเผยน้ำกกขุ่นเพิ่มจากปีก่อน 8 เท่าหวั่นกระทบน้ำดิบทำประปา

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2568 พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดีRead More →

ผบ.สส.รับมีการทำเหมืองต้นแม่น้ำสายเป็นเหตุให้น้ำขุ่นแต่ปัญหาน้อยกว่าปีก่อน ท้องถิ่นแม่สายเสนอ ผอ.ศอ.ปชด.ผ่อนปรนมาตรการตัดไฟ เผยส่งผลกระทบชาวบ้านและการค้า 2 ฝั่ง

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2568 นายชัยยนต์  ศรีสมุRead More →