Search

ชาวเลยิ้มออก อุทยานฯทางทะเลผ่อนปรนเข้าไปหากินได้ภายใต้เงื่อนไขกำหนด ลดการเผชิญหน้ายาวนาน เตรียมทำบัตรกันคนนอกมั่ว

received_978028675573751

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2558 นายสนิท องศารา ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5(นครศรีธรรมราช) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดินที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล ที่มีพลเอกสุรินทร์ พิกุลทอง เป็นประธาน ได้มีการนำเสนอประเด็นเรื่องการอนุญาตให้ชาวเล ซึ่งเป็นชาติพันธุ์พื้นเมืองได้มีโอกาสใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้าน จับสัตว์น้ำในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตอนุรักษ์ได้ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรร่วมกัน ซึ่งสำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับไว้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป ก่อนจะสรุปขอบเขตและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)พิจารณา หลังจากหลายปีที่ผ่านมาเกิดปัญหาข้อพิพาทระหว่างชาวเลกับเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีบุกรุกเขตอนุรักษ์เกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งนี้แม้ความเห็นในที่ประชุมจะดูเหมือนว่าเป็นการเบิกทางให้ชาวเลมีสิทธิในการทำกินมากขึ้น แต่การอนุญาตทั้งหมดไม่ได้ขึ้นอยู่กับอำนาจของ สำนักงานอุทยานในพื้นที่หรือกรมอุทยานแห่งชาติฯ โดยเงื่อนไขดังกล่าวจะต้องอาศัยความเห็นชอบจากหน่วยงานอื่นด้วย

นายสนิท กล่าวว่าสำหรับเงื่อนไขเบื้องต้นที่ตัวแทนส่วนอุทยานฯ รับทราบ คือ การอนุญาตให้ชาวเลที่เป็นผู้ทำอาชีพประมงพื้นบ้าน-หาปลานั้น อาจจะกำหนดเงื่อนไขพิเศษ เช่น ให้หาสัตว์ทะเลได้แต่ต้องไม่กระทบพื้นที่อนุรักษ์ ไม่ทำลายแหล่งพันธุ์พืชและสัตว์น้ำที่เป็นการอนุรักษ์เพื่อความสมดุลของธรรมชาติและการท่องเที่ยว ไม่ใช้เครื่องมือที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตสัตว์และพืชอนุรักษ์อื่นๆ

“อย่างกรณีบางอุทยานฯ นั้นมีการอนุรักษ์ปะการัง เพื่อการดำน้ำท่องเที่ยว ส่วนนี้ก็ต้องขอความร่วมมือชาวประมงเล็กน้อยให้หลีกเลี่ยง นอกจากนี้อาจจะจำกัดเวลา หรือฤดูกาลในการหาสัตว์น้ำทะเลเป็นบางช่วง โดยจะต้องร่วมกันวางข้อเสนอที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ผมเชื่อว่าถ้าแก้ได้ ชาวบ้านก็จะอยู่กับรัฐได้ ไม่ขัดแย้งกัน ลดปัญหาเรื่องข้อหาการบุกรุกลงได้บ้าง การแก้ปัญหาชาวเลเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น ไม่ใช่จำกัดแค่อาชีพหาปลาหรือหาสัตว์น้ำอย่างอื่น แต่หน่วยงานรัฐที่เป็นเขตอนุรักษ์ เขตท่องเที่ยว มีส่วนที่จะส่งเสริมให้ชาวเลสามารถทำอาชีพบริการด้านการท่องเที่ยวได้ด้วย ซึ่งส่วนนี้หากท้องถิ่นนั้นๆ ส่งเสริมก็ช่วยให้ชุมชนมีการจัดการตนเองที่ดีขึ้น เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ชาวเลในพื้นที่ก็มีอาชีพที่เกิดจากการท่องเที่ยวเช่นกัน ” นายสนิท กล่าว

ด้านนายบัญชา หาดทรายทอง อายุ 44 ปี ชาวเลอูรักลาโว้ย หาดราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบัน ชาวเลชุมชนราไวย์ มีประมาณ 60-70 ราย บางรายมีเรือเป็นของตนเอง บางรายไม่มีก็ร่วมลงทุนค่าน้ำมันเรือกับเพื่อนในชุมชน เพื่อออกทะเลด้วยกัน โดยส่วนตัวเห็นด้วยหากมีการอนุญาตให้ชาวเลใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้านไปหาสัตว์น้ำในเขตอนุรักษ์ แต่สิ่งที่หน่วยงานต้องพึงระวัง คือ การวางเงื่อนไขเรื่องเวลา อาจไม่ช่วยให้ชาวเลดั้งเดิมมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะข้อเท็จจริงแล้วชาวเลมักจะออกทะเลทุกวัน แม้แต่หน้ามรสุมก็ยังต้องออก แต่ถ้าลมแรงหรือคลื่นสูง อาจจะออกแบบวันเว้นวัน หรือสัปดาห์ละ 3-4ครั้ง ดังนั้นการอนุญาตให้ชาวบ้านเข้าทำประมงได้ ต้องหมายถึงแหล่งทำประมงที่หาสัตว์น้ำได้จริง และหาได้ตามฤดูกาลของสัตว์น้ำทะเลแต่ละประเภท เท่าที่ทราบในการประชุมแก้ปัญหาชาวเลที่ผ่านมาล่าสุดนั้น มีการอนุญาตโดยให้ใช้เครื่องมือ ฉมวก ตาข่าย เบ็ด แต่อวนล้อม กลับใช้ไม่ได้ ซึ่งอวนล้อมนี้หากเป็นเครื่องมือของชาวเลเองจะมีความกว้างไม่เกิน 30เมตร ต่างจากอวนลากของประมงพาณิชย์ โดยส่วนตัวอยากให้ชาวเลได้รับอนุญาตการใช้อวนล้อมด้วย ในกรณีที่ รัฐบาลยอมอนุญาตให้หาปลาในเขตอนุรักษ์จริงๆ

“ เมื่อก่อนมีชาวราไวย์ออกเรือไปสู่อุทยานแห่งชาติ หมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา หาปลาตามรูปแบบดั้งเดิม แต่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมข้อหาบุกรุก แต่เงินจะประกันตัวเพื่อจะสู้คดีก็ไม่มี มันอยู่ยาก ถ้าจะให้โอกาสชาวบ้านจริงๆ ควรจะให้ชุมชนเสนอประเด็นเงื่อนไขการหาสัตว์น้ำในเขตอนุรักษ์ด้วยตนเอง ซึ่งอาจจะแตกต่างกันในแต่ละจังหวัด ส่วนกรณีที่คณะกรรมการอาจจะมีการส่งเสริมอาชีพบริการด้านการท่องเที่ยวนั้น เชื่อว่ามีผลดีต่อชาวเลรุ่นใหม่ แต่ชาวเลรุ่นเก่ายังปรับตัวไม่ได้ เนื่องจากข้อจำกัดภาษา ผมคิดว่าถ้าจะช่วยให้มีประสิทธิภาพ รัฐควรปล่อยให้ชุมชนชาวเลนั้น มีบริการเฉพาะกลุ่มด้วยการบริหารท่องเที่ยวภายในชุมชนเอง ไม่มีการสัมปทานอะไรในระดับทุนใหญ่ เช่น รถ หรือเรือ บางแห่งชาวเลขับแต่รับจ้างเจ้าของโรงแรม เงินที่ได้ก็จะตกเป็นของคนดูแลกิจการซะส่วนใหญ่ ถ้ามีการแก้ปัญหาข้อพิพาทระหว่างชาวเลกับเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีปัญหาที่อยู่อาศัย และที่ทำกินในกรรมสิทธิ์ของรัฐบาล จะต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจนและชุมชนต้องมีส่วนร่วมกำหนดเงื่อนไขแบบจริงจัง” นายบัญชา กล่าว

ทั้งนี้ในที่ประชุมคณะกรรมการแก้ปัญหาที่ดินที่ทำกินและพื้นที่ทางจิตวิญญาณของชุมชนชาวเล ยังได้มีข้อสรุปให้มีการจัดทำบัตรประจำตัวชาวเลเพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงตนว่าเป็นชาวเลอย่างแท้จริง เพราะเกรงว่าจะมีการปลอมแปลงเป็นชาวเลเข้าไปหาปลาในเขตอนุรักษ์ โดยมอบให้วัฒนธรรมจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ตามกรณีการผ่อนปรนให้ชาวเลเข้าไปหากินในเขตอนุรักษ์ได้และการทำบัตรชาวเลถือว่าเป็นประเด็นคืบหน้าครั้งใหญ่ภายหลังจากมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2553 ให้มีการคุ้มครองและฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล
////////////////

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →