Search

ภาคประชาชนยกพลบุกทำเนียบค้านสัมปทานเหมืองทอง คนพิจิตร-เพชรบูรณ์วอนเปิดโต๊ะร้องขอชีวิตชาวบ้าน เครือข่ายตะวันออกทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯระบุเหตุผล 4 ข้อ แนะชะลอเหมือง-ระงับร่างพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่

received_978528105523808
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 นางสาวธัญนันท์ พงษา ชาวบ้านดงหลง ตำบลท้ายดง อำเภอวังโพรง จังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้(22กันยายน) เครือข่ายผู้ได้รับผลกกระทบจากเหมืองทองคำอัคราฯ จังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ จะเดินทางมาสมทบกับเครือข่ายประชาสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.) เพื่อยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้ยกเลิกการเปิดสัมปทานเหมืองแร่ทองคำรอบใหม่ 300 แปลง และยื่นหนังสือให้เยียวยาชาวบ้านรอบเหมืองทองคำอัคราฯ โดยยืนยันว่า กรณีชาวบ้าน 5 หมู่รอบเหมืองทองคำในอำเภอวังโพรง เพชรบูรณ์ และอำเภอทับคล้อ จังหวัดพิจิตร มีแผนอพยพออกจากพื้นที่นั้น ต้องเป็นไปตามกระบวนการเจรจาผ่านรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งการเจรจาดังกล่าว ชาวบ้านต้องการให้ตัวแทนรัฐบาลออกมาเปิดเวทีประชุมร่วมกันกับชาวบ้านอย่างจริงจัง เรียกได้ว่า เป็นการเปิดโต๊ะร้องขอชีวิตชาวบ้านที่เหลือ

“หลังจากพี่สมคิด ธรรมพเวช ตายไปเพราะอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง คนป่วยในหมู่บ้านเริ่มมีความระแวงมากขึ้น ว่าจะจบชีวิตแบบเดียวกัน เพราะสารโลหะหนักในร่างกายที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เคยตรวจพบจากอดีตจนปัจจุบัน ยังไม่มีใครที่มีระดับสารโลหะหนักลดลง จึงประชุมกันว่าต้องรีบย้ายออก ซึ่งภายหลังพวกเราตัดสินใจจะอพยพนั้น ทางเหมืองก็จะมีการให้ข่าวอีกด้านว่า ชาวบ้านเรียกเก็บค่าเวนคืนพื้นที่จากเหมือง และต้องการจะขายที่ดินในราคาแพง เพื่อเอาเงินไปตั้งตัว แต่ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะที่ผ่านมาเหมืองเคยมาขอซื้อที่ดินตลอด แต่ชาวบ้านปฏิเสธและยืนยันจะไม่ย้ายไปไหน แม้ว่าจะได้ค่าที่ดินหลักแสน หลักล้านก็ตาม แต่ระยะหลังอาการป่วยรุนแรงขึ้น ชาวบ้านทนสภาพนี้ไม่ไหว และพืชผลการเกษตรก็มีแต่เสียหายมากขึ้น” นางสาวธัญนันท์ กล่าว

นางสาวธัญนันท์กล่าวว่า ชาวบ้านบางส่วนทำเรื่องส่งหนังสือร้องเรียนไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอสนับสนับสนุนผักปลอดสารพิษและน้ำสะอาด ซึ่งที่จังหวัดพิจิตรได้รับแล้ว แต่เพชรบูรณ์ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ จึงตกลงกันว่าต้องเตรียมย้ายออกจากพื้นที่เสี่ยง เพื่อปกป้องชีวิตตนเองไว้ก่อน โดยส่วนที่ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือ คือ คืนชีวิตอันสงบสุขและมั่นคง ทั้งสุขภาพกาย ใจ อาชีพและที่อยู่อาศัยให้เราเท่านั้น แต่วิธีการจะเยียวยาของรัฐบาลจะเป็นอย่างไร ชาวบ้านรับได้หรือไม่ อยากให้มีการเริ่มต้นเจรจา ซึ่งเบื้องต้น ชาวบ้านอยากให้กันพื้นที่แบบแยกเหมือง แยกชุมชน ออกจากกันอย่างชัดเจน เพราะไม่มีทางเหมืองจะอยู่กับชุมชนได้” นางสาวธัญนันท์กล่าว

ด้าน ดร.สมนึก จงมีวศิน อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากรและนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในการเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาชนพรุ่งนี้นั้น เครือข่ายชาวบ้านจากหลายจังหวัดจะร่วมณรงค์ต่อต้านการสัมปทานเหมืองแร่ทองคำครั้งใหญ่ และจะเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งเปิดเผยข้อมูลของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)แร่ฉบับแก้ไข ที่ร่างและเสนอโดยกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งประชาชนส่วนมากยังไม่รับรู้รายละเอียดของ พ.ร.บ.ดังกล่าว อีกทั้งยังมีข่าวว่าจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเร็วๆ นี้ด้วย อย่างไรก็ตามมองว่า พ.ร.บ.แร่เป็นเรื่องเกี่ยวกับนโยบายที่ประชาชนไม่ควรละเลย เพราะเนื้อหาบางส่วนในกฎหมายแร่ฉบับใหม่นั้น มีเนื้อหาที่พยายามให้อำนาจเอกชนอยู่เหนือรัฐบาล ข้าราชการ และประชาชน อีกทั้งมีเนื้อหาในทำนองว่าให้อำนาจกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ทำรายงานประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ (อีเอชไอเอ) เองด้วย

“ด้วยความคลุมเครือ ความลึกลับของ พ.ร.บ.นี่แหละเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด ดังนั้นการเกิดขึ้นของ ปปท.จึงไม่ใช่แค่การเรียกร้องให้ยกเลิกสัมปทาน 300 แปลง แต่ต้องเคลื่อนไหวปกป้องทรัพยากรระยะยาวด้วย โดยวันนี้ ประชาชนส่วนมากไม่รู้จักหน้าตา เนื้อหาในกฎหมายแร่เลย ว่าสรุปแล้ว ที่ประชุมจะเอาร่าง พ.ร.บ.ใดเข้าครม. ฉบับที่ร่างโดยกระทรวงอุตสาหกรรม หรือฉบับที่ยกร่างโดยคณะปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ดังนั้นเราต้องทำให้รัฐบาลเปิดเผยข้อมูลมาให้ได้ว่า ร่างที่จะเข้า ครม.เร็วๆ นี้เป็นร่างฉบับใด ซึ่งถ้าเป็นร่างโดยกระทรวงอุตสาหกรรม เราจำเป็นต้องขอเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก พรบ.แล้วทำการยกร่างใหม่ ส่วนกรณีสัมปทานเหมืองรอบใหม่นั้นต้องทำเวทีรับฟังความคิดเห็นใหม่ทั้งประเทศ” ดร.สมนึก กล่าว

ทั้งนี้ ในส่วนของเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกที่จะเดินทางสมทบกับปปท.ในวันพรุ่งนี้นั้น เตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยมีเนื้อหาดังนี้ 1.พื้นที่เป้าหมายสำรวจแร่ทองคำทั้ง 12 จังหวัดเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ และผลิตพืชผลทางการเกษตรและแหล่งต้นน้ำ ซึ่งได้อนุรักษ์กันมาอย่างยาวนาน 2.ปัญหาการทำเหมืองแร่ทองคำก่อนหน้านี้จนถึงปัจจุบันมีลักษณะบ่งชี้ว่ามีสารโลหะหนักและสารพิษปนเปื้อนส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของชุมชนรอบเหมือง รวมถึงผลผลิตในไร่นาและสร้างความเสื่อมโทรมให้สภาพแวดล้อม 3.มีข้อพิจารณาได้ว่าการทำเหมืองแร่ทองคำ แม้จะได้มูลค่าความเติบโตทางเศรษฐกิจในรูปของบัญชีประชาชาติ แต่มวลสินทรัพย์ตกเป็นของเอกชนโดยรัฐได้ค่าภาคหลวงเพียงน้อยนิด แต่ต้องแลกด้วยความขัดแย้งในสังคม 4.กฎหมาย ระเบียบและมาตรการบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายเกี่ยวกับเหมืองแร่ ยังมีจุดอ่อนหรือข้อบกพร่อง และยังมีความย้อนแย้งในทางปฏิบัติมาโดยตลอด

“ทั้งหมดนี้เครือข่ายภาคตะวันออกจึงขอเสนอเรียกร้องให้รัฐบาลได้ปฎิรูปการเหมืองแร่โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนา การจัดการแร่ของคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 และขอให้ทบทวนการให้สัมปทานทำเหมืองแร่ทองคำและสินแร่ต่างๆ ทั้งในส่วนของนโยบาย การปฏิบัติ รวมถึงการอนุญาตหรือไม่ ตลอดจนระงับร่างพ.ร.บ.แร่ฉบับใหม่” ในจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีระบุ

On Key

Related Posts

นักโทษทางการเมืองพม่าเสียชีวิตในคุก หลังถูกเรือนจำปฏิเสธให้เข้ารับการรักษา ชี้รัฐบาลทหารหวังผลทางการเมืองหลังนิรโทษกรรมกว่า 5 พันคน

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2568 สำนักข่าว Irrawaddy รายRead More →