เมื่อวันที่ 22 กันยายน เวลาประมาณ 7.30 น. เครือข่ายประชาชนที่คัดค้านเหมืองแร่ทองคำในนาม เครือข่ายประชาคมสังคมปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.) จำนวนกว่า 700 คน เดินทางมายังทำเนียบรัฐบาลฝั่งอาคารสำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) เพื่อเปิดโต๊ะลงทะเบียนคัดค้านเหมืองแร่ทองคำเพิ่มเติม พร้อมทั้งเตรียมยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ยุตินโยบายสำรวจและสัมปทานเหมืองแร่ทองคำและระงับการทำเหมืองแร่ทองคำทุกแห่ง รวมทั้งทบทวนร่างพระราชบัญญัติแร่ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
ทั้งนี้บรรยากาศช่วงเช้านอกจากการถือป้ายคัดค้านเหมืองแล้ว ยังมีการแสดงศิลปะ และชาวบ้านในหลายพื้นที่ได้ผลัดกันปราศรัยคัดค้านเหมืองทอง และนำรายชื่อทั่วประเทศมาส่งเพิ่มให้ตัวแทน ปปท.ด้วย ขณะเดียวกันยังคงมีประชาชนบางส่วนทยอยลงชื่อคัดค้านต่อเนื่อง
นางอารมณ์ คำจริง ตัวแทนชาวบ้านจากจังหวัดพิษณุโลกกล่าวว่า วันนี้ในช่วงเช้าทางเครือข่ายประชาชนฯ จะใช้เวลาในการเปิดเวทีปราศรัยจากชาวบ้านในทุกพื้นที่ จนกว่าจะมีสัญญาณจากฝ่ายรัฐบาลออกมารับหนังสือข้อเรียกร้องของประชาชน โดยเจ้าหน้าที่จากทำเนียบระบุว่า อาจจะมีการเชิญตัวแทน 12 จังหวัดเข้าไปเจรจา เพื่อหาข้อตกลงที่เป็นธรรม แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นว่า กระบวนการสัมปทานเหมืองควรเริ่มใหม่ทั้งหมด และนายกรัฐมนตรีควรรับฟังปัญหาและเปิดโต๊ะเจรจา แต่กรณีชาวบ้านต้องการอพยพ ควรที่จะมีการดูแลเสียก่อน อย่างไรก็ตามขณะนี้เท่าที่ทราบจำนวนผู้คัดค้านนั้นมีเกิน 20,000 รายชื่อแล้ว
นางสาวมณี อุ่ยประเสริฐ ตัวแทนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งที่จะถูกสัมปทานเหมืองทองคำ กล่าวว่าติดตามเหมืองแร่มาโดยตลอด โดยลงชื่อคัดค้านเหมืองตั้งแต่ยังเป็นเหมืองอัคราไมนิ่ง ปกติทำอาชีพออแกนิกอยู่แล้ว อย่างไรก็ไม่เอาสารเคมี และไม่ยอมรับการทำอุตสาหกรรมที่หนัก ทำลายเกษตรอินทรีย์
ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของเครือข่ายประชาสังคมเพื่อการปฏิรูปทรัพยากรและทองคำ (ปปท.) ขอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการดังนี้ 1. ขอให้ยุตินโยบายสำรวจและสัมปทานเหมืองแร่ทองคำและระงับการทำเหมืองแร่ทองคำทุกแห่ง ยกเลิกการประทานบัตร อาชญาบัตร และอาชญาบัตรพิเศษ และคำขออาชญาบัตรสำรวจแร่ทองคำ โดยทันที
2. ขอให้ทำการตรวจและรักษาสุขภาพของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบทุกด้านอย่างละเอียดในทันที และชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วกับประชาชนและสิ่งแวดล้อมทั้งหมด โดยหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือและเป็นกลาง และให้พิจารณาต้นทุนที่ผลักภาระให้กับสังคมทั้งหมดจากการทำเหมืองแร่ทองคำ โดยให้เป็นภาระต้นทุน ค่าใช้จ่ายและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการในการทำเหมืองแร่ทองคำทั้งหมด โดยปราศจากมลพิษและต้องให้มีส่วนร่วมของประชาชนทุกขั้นตอน
3. ขอให้ยกเลิกกระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)แร่ พศ.2510 และยกเลิกร่าง พ.ร.บ. แร่ที่อยู่ระหว่างหรือผ่านความเห็นชอบของสำนักงานกฤษฎีกาหรือผ่านความเห็นชอบของจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)ทุกฉบับ เพราะมีช่องโหว่ของกฎหมายมากมาย ก่อให้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวง และไม่สร้างประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ประเทศชาติ อีกทั้งมามาซึ่งความเสี่ยงของการทำลายทรัพยากรน้ำ ดิน ป่า และสุขภาวะชุมชนด้วย จึงต้องการให้มีการยกร่างใหม่ที่ปลอดภัยและมีความยั่งยืนต่อผลผลิตการเกษตรของประเทศไทย ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน
4. ในระหว่างที่กำลังจะมีการปิดเหมืองทองคำ หรือปิดเหมืองทองคำแล้ว หากมีประชาชนได้รับผลกระทบต่อสุขภาพและต้องวิถีชีวิตจะต้องได้รับการเยียวยาโดยทันที และกรณีที่ประชาชนได้รับผลกระทบจนต้องมีการอพยพ เพื่อให้มีหลักประกันว่าประชาชนไม่ถูกหลอกจากกลุ่มทุนเหมืองทองคำ และปกป้องผู้ฉกฉวยโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวบนความเดือดร้อนของประชาชน ขอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการเป็นนโยบายให้ดำเนินการบริหารจัดการและจัดงบประมาณให้มีการอพยพในเงื่อนไขที่ประชาชนต้องการ อย่างเป็นธรรม โดยออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนพื้นที่ที่ประชาชนย้ายออกไปนั้นต้องสงวนสิทธิ์ให้เป็นของประชาชนเช่นเดิม ห้ามรัฐบาล เหมือง หรือกลุ่มทุนอื่นครอบครองพื้นที่ดังกล่าว
5. ขอให้กำหนดแผนฟื้นฟูทรัพยากรดิน น้ำ ป่า รอบๆเหมืองทองคำ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชน
//////////////////////////////////