สำนักข่าวชายขอบ
Transborder News

ภาคประชาชนเชื่อท่าเรือน้ำลึกปากบาราไม่เกิดแน่ เหตุทุนจีนเปลี่ยนทิศลงทุนขุดคลองเชื่อมทะเลแทน นักสิทธิฯ หวังรัฐคำนึงสิทธิชุมชน-สกัดทุนกุมอำนาจรัฐ

received_1199535956756354

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559 ที่ห้องประชุม FMS อาคารวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการจัดการ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีการจัดเวทีเสวนาท้องถิ่นใต้ : วิทยาลัยวันศุกร์ครั้งที่ 10 สิทธิชุมชนสองฝั่งทะเล(แลนด์บริดจ์ สงขลาสตูล) การพัฒนา ความขัดแย้ง และทางออก โดยมีชาวบ้านจากจังหวัดสงขลาและจังหวัดสตูล นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และนักศึกษาเข้าร่วมรับฟังอย่างคึกคัก

ในช่วงแรกเป็นเวทีนำเสนอมุมมองและความเห็นต่อโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย จากตัวแทนที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันร่วมนำเสนอ โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

นายนาวี พรหมทรัพย์ กลุ่มรู้ทันท่าเรือน้ำลึกปากบารา กล่าวว่า โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราถือเป็นเมกกะโปรเจคของรัฐบาลมาหลายตั้งแต่อดีต ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ตนเองในฐานะที่เป็นคนสตูลก็ต้องการเห็นการพัฒนาจังหวัดสตูลในแบบที่คนสตูลต้องการอย่างแท้จริง หากชาวบ้านมองว่าโครงการนี้จะทำให้เกิดผลกระทบ ก็เป็นสิ่งจำเป็นต้องไปต่อรองกับรัฐบาล เพื่อให้มีการปรับปรุงให้เป็นโครงการที่มีประโยชน์มากกว่าผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมาผมก็พยายามต่อรองกับหน่วยงานต่างๆ มาโดยตลอด ยืนยันว่าการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น ต้องเป็นไปตามความต้องการของประชาชน เช่น ท่าเรือน้ำลึกต้องเป็นท่าเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์เท่านั้น จะต้องไม่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมี หรือถ้าจะตัดถนนจากอำเภอรัตภูมิถึงอำเภอละงู แล้วต้องกระทบต่อที่ดินของมัสยิด กุโบร์ และวัด ตนก็ไม่เอาด้วย หน่วยงานต้องลงไปสำรวจในชุมชน คุยกับชาวบ้านเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ หรือรัฐบาลต้องกันเงินรายได้จากท่าเรือน้ำลึกให้เป็นกองทุนช่วยเหลือไม่น้อยกว่าปีละ 300 ล้านบาทเป็นต้น นอกจากนี้

ด้านนายสมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล กล่าวว่า แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูลเป็นโครงการที่ต้องการเชื่อมสองฝั่งทะเลตามแผนพัฒนาภาคใต้ ซึ่งประชาชนไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่า นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ท่าเรือน้ำลึก และโครงการต่อเนื่องที่จะตามมาอีกมามาย จะไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และสังคม ซึ่งจะเป็นการสูญเสียอย่างมโหฬารของคนภาคใต้ จากการถมทะเล 292 ไร่ ที่ต้องใช้ดินและทรายจากภูเขาจำนวนมหาศาล และยังทำให้เกิดความสับสนของชาวบ้านต่อทิศทางการพัฒนาว่าสตูลจะพัฒนาการท่องเที่ยวหรือจะกลายเป็นเมืองอุตสาหกรรม

นายสมบูรณ์ กล่าวอีกว่า วันนี้รัฐมีการสนับสนุบงบประมาณ 120 ล้านบาท โดยบริษัทเอกชนเป็นผู้เคลื่อนไหวให้เกิดกระแสสนับสนุนโครงการ แต่เชื่อว่าเมื่อเงินหมดการสนับสนุนก็จบไปด้วย และรัฐบาลจะไม่เดินหน้าโครงการนี้ด้วย เพราะโครงการขนาดใหญ่มูลค่านับแสนล้าน จำเป็นต้องมีนายทุนให้ความสนใจ ซึ่งก่อนหน้านี้ประเทศจีนเคยให้ความสนใจก็ไม่ได้สนใจในโครงการนี้แล้ว เพราะจีนกำลังศึกษาและเตรียมลงทุนเส้นทางสายไหมทางทะเล หรือการขุดคลองเชื่อมทะเลฝั่งจังหวัดตรังไปทะลุจังหวัดนครศรีธรรมราชแทนแล้ว

จากนั้นเป็นเวทีเสวนา สิทธิชุมชนสองฝั่งทะเล(แลนด์บริดจ์ สงขลาสตูล) การพัฒนา ความขัดแย้ง และทางออก

นายหุดดีน อุสมา คณะทำงานขับเคลื่อนปากน้ำน่าอยู่ กล่าวว่า สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างมาก คือคนสตูลแบ่งออกเป็นสองฝั่ง และเกิดความขัดแย้งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รัฐไม่ได้ให้ข้อมูลประชาชนอย่างรอบด้าน เพราะหากวิถีชีวิตของชาวบ้านต้องเปลี่ยนแปลงไป ก็ต้องบอกคนสตูล แต่เวทีแสดงความคิดเห็นทุกครั้งชาวบ้านถูกตำรวจ ทหาร 300-400 นาย กีดกันไม่ให้แสดงความคิดเห็น อีกทั้งสถานการณ์วันนี้ชาวบ้านกำลังสับสนในยุทธศาสตร์การพัฒนาของรัฐ ว่าจะทำท่าเรือน้ำลึก แลนด์บริดจ์ หรือท่าเรือสำราญ ซึ่งทำให้กรมเจ้าท่าขาดความน่าเชื่อถือ

ด้านนายวิรัช องค์ประเสริฐ วิศวกรบริษัทที่ปรึกษา บริษัทเอทีที คอนซัลแตนท์ จำกัด ตัวแทนรองอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า ในแง่วิศวกรรมเราพยายามลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด หรือมีมาตรการเสริม เช่น การใช้หิน ทราย กว่า 1 ล้านลูกบาศก์เมตรไปถมทะเล 292 ไร่ ก็จะไปซื้อกับผู้ที่ได้รับสัมปทานเหมืองหิน ส่วนทราย จะใช้จากกรมเจ้าท่ามีการขุดลอกร่องน้ำประจำปี ที่มีทรายเหลือทิ้งมหาศาล ส่วนหากมองในแง่ยุทธศาสตร์ โครงการนี้จะทำให้ไทยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งผ่านท่าเรือประเทศเพื่อนบ้าน และยังสามารถขนถ่านสินค้าจากภูมิภาคต่างๆ ของประเทศผ่านท่าเรือน้ำลึกปากบารา ไปยังประเทศอินเดีย ทวีปแอฟริกา และทวีปยุโรป

นายวิรัช กล่าวอีกว่า ตนขอเอาหัวตัวเองเป็นประกันว่าท่าเรือน้ำลึกปากบารา จะเป็นเพียงท่าเรือเพื่อการขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์เท่านั้น จะไม่มีนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน โดยในอนาคตอาจมีการเชื่อมต่อการขนถ่ายสินค้าผ่านทางรถไฟ ที่จะตัดเส้นทางจากอำเภอควนเนียงจังหวัดสงขลามาที่ท่าเรือ

ดร.อาภา หวังเกียรติ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในแผนพัฒนาภาคใต้ ภายในปี 2565 พื้นที่สงขลาและสตูลถูกกำหนดให้เป็นศูนย์กลางปิโตรเคมีและพลังงาน อีกทั้งหน่วยงานรัฐยังมีการนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ต่อประเทศต่างๆ ดังนั้นโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะเป็นด่านแรกตามแผนพัฒนาของรัฐบาล หากมองกลับไปยังบทเรียนของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จะเห็นความเดือดร้องของชาวบ้านจำนวนมาก ที่ร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน เช่น ชาวบ้านไม่มีน้ำประปาใช้ ในขณะที่มีการส่งน้ำประปาให้นิคมอุตสาหกรรมฯ ไม่เคยขาด ชาวบ้านต้องใช้บ่อน้ำตื้น ซึ่งมีการเข้าไปเก็บตัวอย่างน้ำพบว่าปนเปื้อนสารโลหะหนัก จนเกิดการฟ้องร้อง และเพิ่งต่อน้ำประปาให้ชาวบ้านหลังมีนิคมอุตสาหกรรมมาแล้ว 33 ปี หรือการขนถ่านสารเคมีอันตรายที่เคยมีการรั่วไหลหลายครั้ง ส่งผลกระทบไกลกว่า 5 กิโลเมตร
ดร.อาภา กล่าวอีกว่า

นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ยอมบอกว่าโครงการต่างๆ เป็นแผนพัฒนาภาคใต้ จึงเกิดการแยกส่วนการศึกษาผลกระทบและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการได้สำเร็จ จึงอยากถามว่าถ้าอนุมัติโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา แต่ไม่โครงการอนุมัติรถไฟรางคู่ได้หรือไม่ จังหวัดสงขลาเองมีโรงไฟ้ฟ้าจะนะ มีท่าเรือน้ำลึกสงขลา แต่ถ้าไม่มีท่าเรือน้ำลึกปากบาราก็จะไม่ใช่ฝันของนักอุตสาหกรรม

นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ประการแรกต้องการย้ำให้รัฐเห็นว่า จำเป็นต้องใช้กระบวนการสิทธิชุมชน เพราะปัจจุบันผู้ที่กุมอำนาจรัฐคือทุนข้ามชาติ เป็นระบบทุนเสรีนิยมใหม่ ที่กำลังสร้างปัญหาต่อประเทศไทย ทำให้เกิดอคติในครอบครัว ชุมชน และสังคม เช่น การเวนคืนที่ดินไม่เป็นธรรม การเก็งกำไรที่ดิน ก็เป็นกระบวนการแย่งชิงที่อยู่อาศัยจากชาวบ้าน สอง มายาคติการพัฒนาที่ผ่านมา 50 ปี เป็นการพัฒนาแบบสุดโต่งของระบบทุน ที่ทั่วโลกรู้ทันหมดแล้ว คนที่ได้คือคนรวยกระจุกเดียว เกิดความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รัฐบาลต้องมีนโยบายไปสกัดกั้นไม่ให้เกิดการตักตวงผลประโยชน์มากเกินไป การทำงานโดยยึดหลักสิทธิมนุษยชนจึงมีความสำคัญ กฏหมายที่นำมาใช้ต้องยึดหลักความเป็นธรรม
———-

On Key

Related Posts

ชาวบ้านป่าหมากโวยถูกปักเขตป่าอนุรักษ์ทับชุมชน หวั่นเสียที่ทำกินยกหมู่บ้าน หัวหน้าอุทยานฯ กุยบุรีแจงสำรวจถูกต้อง เตรียมกันเขต-ออกหนังสืออนุญาตให้ชาวบ้าน

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 นายเยบุ จอเด๊ะโก อายุ 6Read More →

SAC ชี้ “พ.อ.ชิตตู”ตัวอันตราย สื่อพม่าอ้างทางการไทยจับมือทางการพม่ารวบรวมข้อมูลผู้นำ BGF “รศ.ดุลยภาค”เผยกลยุทธ์ทัพพม่าเลาะชายแดนไทยโอบล้อมตี KNU แนะรัฐบาลไทยคุมเข้มพื้นที่ชายแดนแม่สอด-อุ้มผาง-พบพระ

วันที่ 25 เมษายน 2567 สื่อออนไลน์พม่า Khit Thit MeRead More →

หญิงโรฮิงญาเหยื่อค้ามนุษย์ริมน้ำเมยแฉ แก๊งมาเฟียสุดเหี้ยม คุมขัง-ทรมาน-ฆ่าเพื่อเรียกค่าไถ่ มีกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์คุมเข้ม เผยนานาชาติตกเป็นเหยื่อ-ชาวยูกันดา 23 คนได้รับการช่วยเหลือหลังถูกหลอกเป็นสแกมเมอร์ หนุ่มสาวลาว 14 คนถูกส่งต่อจากคิงส์โรมันส์วอนช่วยด่วน

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2567 น.ส.ไอชะห์(นามสมมุติ) อRead More →